ตอบแทนคุณแผ่นดิน “พึ่งตน เพื่อชาติ” ในบริบท “อยู่วิทยา”

พรรณราย พหลโยธิน

จากแนวคิดของ “เฉลียว อยู่วิทยา” ผู้ก่อตั้งบริษัทกระทิงแดง ที่บอกว่า…เงินทุกบาททุกสตางค์นั้นได้มาจากกำลังซื้อของพี่น้องคนไทย ดังนั้น จึงควรนำเงินกำไรที่ได้รับกลับไปตอบแทนคุณแผ่นดิน

จึงทำให้กลุ่มธุรกิจกระทิงแดงริเริ่มทำโครงการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการอีสานเขียว ที่เกิดขึ้นเพื่อยกระดับรายได้ของประชาชน จนก่อให้เกิดการจ้างงาน และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น กระทั่งส่งต่อมายังโครงการกระดานดำกับกระทิงแดง, กระทิงแดงสปิริต, เรารักษ์น้ำ, โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน, โครงการยุวเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน และโครงการกระทิงแดง ยูโปรเจ็ค

จนปัจจุบัน หลังจากกลุ่มธุรกิจกระทิงแดงผนึกกำลังจนกลายเป็นแบรนด์ “กลุ่มธุรกิจ TCP” ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน บน 3 เสาหลัก ประกอบด้วย

หนึ่ง integrity พันธมิตรธุรกิจยั่งยืน องค์กรธรรมาภิบาล

สอง quality คุณภาพสินค้าและบริการ คุณภาพชีวิตบุคลากร

สาม harmony รักษ์สิ่งแวดล้อม ชุมชนยั่งยืน

“โดยทั้ง 3 เสาหลักถูกถอดแบบออกมาจนกลายเป็น โครงการโอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ตามชุมชนลุ่มน้ำต่าง ๆ ซึ่งกล่าวกันว่าทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของครอบครัวอยู่วิทยา”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “พรรณราย พหลโยธิน” ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวอยู่วิทยา ซึ่งเป็นบุตรของ “สายพิณ (อยู่วิทยา) พหลโยธิน” ลูกสาวคนแรกของเจ้าพ่อกระทิงแดง จึงยึดมั่นตามแนวทางของ “คุณตาเฉลียว” มาโดยตลอด แม้ปัจจุบันเธอจะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี. ฟาร์มา-เคม จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และยารักษาโรค และเจ้าของกิจการร้านอาหาร The Mew Khao Yai อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา แต่เธอก็ให้ความสนใจในเรื่องของชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

โดยเฉพาะเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 เพราะเธอเชื่อว่าปรัชญานี้จะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนต่อธุรกิจ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และคน โดยอีกหนึ่งงานหลักของเธอ คือ การสร้างศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา ขึ้นที่เขาใหญ่ เพื่อใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติสอนนักเรียน นิสิต นักศึกษา เกี่ยวกับศาสตร์พระราชา

กล่าวกันว่า จากความสนใจในศาสตร์ทางด้านนี้ จึงส่งผลให้ “พรรณราย” ได้รับมอบหมายจากครอบครัวอยู่วิทยา ให้เป็น “ทัพหน้า” กับพันธกิจในการขับเคลื่อนโครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” ของตระกูลอยู่วิทยา ด้วยการนำแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่มาร่วมช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนก่อให้เกิดปัญหาสังคม และเศรษฐกิจมากมาย ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตทั้งสิ้น

ทั้งนั้นเพราะ “ตระกูลอยู่วิทยา” มองว่า ชีวิตหลังโควิด-19 คนไทยจะต้องเผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอน การดำเนินชีวิตจะมีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงไป วิธีคิด และวิถีชีวิตใหม่ ที่ต่างไปจากเดิมจะปรากฏชัดเจนขึ้น

เบื้องต้น “พรรณราย” เล่าถึงโครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” ให้ฟังว่า โครงการเกิดขึ้นภายหลังจาก “คุณน้าเฉลิม อยู่วิทยา” ได้รับจดหมายจากนายกรัฐมนตรีว่า อยากให้ช่วยเสนอโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากนั้นจึงมาปรึกษากันภายในครอบครัวเพื่อระดมแนวคิด โดยตนเองเลือกนำเสนอเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ความสนใจมาตลอด และเชื่อว่าจะนำพาให้เราก้าวพ้นทุกวิกฤต

“ทั้งนั้น เพราะจากตัวอย่างหลาย ๆ โครงการที่เกิดผลสำเร็จในประเทศไทย และเมื่อทุกคนเห็นด้วย จึงเกิดเป็นโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ ขึ้นมาเพื่อสานต่อหลักคิด ด้วยการน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้ในการสร้างต้นทุนของทุกชีวิต หรือเป็นการสร้างโมเดลใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก บนฐานชุมชนให้หลากหลายมากขึ้น โดยผ่านกระบวนการฝึกปฏิบัติจากพันธมิตรของเรา คือ เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ที่มี อ.ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นผู้ให้คำปรึกษา และสถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันที่ทำงานกับชุมชน มาร่วมลงพื้นที่แต่ละแห่งในการพัฒนากิจกรรมโครงการที่เหมาะสมของแต่ละชุมชน”

“โดยเราจะร่วมกับเครือข่ายด้วยการเป็นพี่เลี้ยงสร้างโมเดลการพึ่งพาตนเอง เบื้องต้นจะเปิดรับผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,000 คน ทั้งกลุ่มคนเมือง และต่างจังหวัดที่ต้องการจะเปลี่ยนแนวทางการดำรงชีวิตใหม่ และมีความเป็นผู้นำ ทุกคนจะได้เข้าโปรแกรมการบ่มเพาะ ประกอบด้วยการปรับหลักคิดสู่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการทำตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อสร้างความพอมี พอกิน อย่างยั่งยืน”

“พร้อมกับเป็นทัพหน้าในการขยายผลแนวคิดสู่ชุมชน ปฏิบัติการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยเราตั้งเป้าช่วยคนพึ่งพาตนเองให้ได้ 1 ล้านคน เพื่อให้พวกเขารอดพ้นจากความอดอยาก ในช่วง 3 ปีแรกจะให้การสนับสนุนเงินทุนเบื้องต้นจำนวน 300 ล้านบาท นำไปใช้จ่ายในเรื่องการอบรม ลงพื้นที่ และการทำแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นแหล่งเก็บข้อมูลโครงการ และเตรียมเดินหน้าโครงการในเดือนมิถุนายนนี้”

“พรรณราย” กล่าวต่อว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นโครงการ อาจจะยังบอกไม่ได้ว่าจะทำสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน เราต้องค่อย ๆ สร้าง ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป เหมือนที่ อ.ยักษ์กล่าวว่า ให้เราเดินไปทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง และทำทุกอย่างด้วยหลักการ เล็ก แคบ ชัด หมายถึงเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ ๆ ตัว แล้วค่อย ๆ ขยาย เช่น จะปลูกพืชก็ต้องค่อย ๆ ปลูก ค่อย ๆ เรียนรู้ ไม่ใช่กระโดดข้ามขั้นไปขายเลย มิเช่นนั้นจะกลับไปสู่วัฏจักรเดิม ที่ทุกคนมุ่งมั่นว่าทำแล้วต้องได้เงิน การทำธุรกิจต้องคิดแบบนี้เช่นกัน

“สิ่งที่สำคัญอีกประการที่นับว่าเป็นหัวใจหลักของโครงการ คือ การพึ่งตนให้ได้ตามปรัชญาของเศรษฐพอเพียง เมื่อคุณพอเพียงแล้ว ทำตามเกษตรทฤษฎีใหม่ มีกิน มีใช้ ได้อย่างสบาย เหลือเฟือมั่งคั่ง ก็จะเกิดการแบ่งปันแก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นเสน่ห์ของคนไทยที่ปลูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอของเราทุกคน”

“สุดท้ายแล้ว ผลของโครงการอาจไม่ได้ส่งผลต่อรายรับธุรกิจโดยตรง ซึ่งเราไม่อยากให้ความสำคัญกับตัวเลขมากเกินไป ตัวชี้วัดหลักมีอยู่ 2 อย่าง คือ หนึ่ง การแบ่งปัน คนต้องพร้อมที่จะลุกออกมาแบ่งปันได้ ไม่ว่าจะแบ่งปันด้วยอาหาร หรือความรู้ ภูมิปัญญาที่เขามี เพราะฉะนั้น ถ้าใครแบ่งปันนั่นคือความสำเร็จ สอง ความเข้าใจของคน เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วเข้าใจการทำงานมากแค่ไหน นั่นคือปัจจัยความสำเร็จ และความยั่งยืน”

“ในส่วนของเป้าหมายที่วางไว้ ธุรกิจเราอาจไม่ใช่ธุรกิจเกษตรกรรมโดยตรง แต่ว่าถ้าผู้เข้าร่วมสามารถทำตามเกษตรทฤษฎีใหม่ แล้วพึ่งตนเองได้ มีผลผลิตใช้ เหลือ แบ่งปัน ก็จะนำมาแปรรูป ถ้าทำสำเร็จ ทางเราปรึกษากันว่าอาจจะสนับสนุนต่อไป เพราะเรามีเครือข่ายต่างประเทศ มีคู่ค้า เราจึงอยากจะพัฒนาสินค้าของไทยให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ทั้งเรื่องรสชาติ ความปลอดภัย และคุณภาพอื่น ๆ ที่จะไปสู้ตลาด เราเชื่อมั่นว่าเราทำได้ เพียงแต่ให้เริ่มต้นในฐานที่มั่นคงก่อน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ตั้งใจไว้”

อย่างไรก็ตาม “พรรณราย” มีความเชื่ออีกว่า เนื่องจากโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ เป็นความร่วมมือระหว่างคนทุกรุ่นภายในครอบครัวอยู่วิทยา โดยทายาทรุ่น 3 จะเป็นทัพหน้า ส่วนรุ่นสองจะเป็นทัพหลังที่คอยให้คำปรึกษา เพราะมีประสบการณ์ทำโครงการเพื่อสังคมมาก่อนมากมาย ทุกคนจึงตระหนักว่า การทำธุรกิจจะยั่งยืนได้ ต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งรอบตัว ทั้งคน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดการดำเนินธุรกิจของ “เฉลียว อยู่วิทยา”