ส่งพลาสติกกลับบ้าน

คอลัมน์ CSR Talk

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สนับสนุนเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network-TRBN) ภาครัฐ และภาคประชาชน ริเริ่มโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เพื่อร่วมรณรงค์ให้ผู้บริโภคแยกขยะพลาสติกที่ใช้แล้วนำไปรีไซเคิล หรือนำไปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

“วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยเฉพาะการปนเปื้อนจากพลาสติกอนุภาคขนาดเล็ก (microplastic) ในทะเล ซึ่งบริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าว จึงเริ่มต้นจากการลดการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง และประกาศนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยังยืน ที่มุ่งมั่นพัฒนา และบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ให้เกิดความยั่งยืน

“โดยพิจารณาตลอดห่วงโซ่คุณค่าอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อให้ใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างคุ้มค่า และลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีส่วนร่วมในการบรรเทาผลกระทบเชิงลบ และก่อให้เกิดการสร้างผลเชิงบวกต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับความปลอดภัยทางอาหารเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค”

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมของภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน ในการรณรงค์และให้ความรู้กับผู้บริโภคในการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และนำมารวบรวมที่จุดรับพลาสติก (drop point) 10 แห่ง ที่ตั้งไว้ในบริเวณที่แต่ละบริษัทกำหนด โดยรับพลาสติก 7 ชนิด ได้แก่ ถุง, กล่องใส่อาหาร, ถ้วย, แก้วน้ำ, ขวด, ฝาขวด, ฟิล์ม และต้องทำให้พลาสติกสะอาดและแห้ง ซึ่งเริ่มนำร่องบนถนนสุขุมวิท เพื่อเป็นต้นแบบการเรียกคืนพลาสติกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรวบรวมและส่งต่อให้กับบริษัทผู้รับรีไซเคิล (recycle) หรือนำไปผลิตสินค้าใหม่ (upcyclable) ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในรูปแบบที่เหมาะสม โดยซีพีเอฟได้จัดจุดรับพลาสติกที่หน้าร้านซีพี เฟรชมาร์ท เริ่มต้นที่สาขาเพชรบุรี 38/1 (ซอยสุขุมวิท 39)

“การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจะเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับซาเล้ง และพนักงานเก็บขยะ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกสู่บ่อฝังกลบ และเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งเป็นการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริง ขณะเดียวกันยังเป็นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจรและยั่งยืน”

“วุฒิชัย” กล่าวต่อว่า สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะในประเทศไทย ตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดพบว่าขยะที่เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน จากการใช้บริการรับส่งอาหารที่มากขึ้นถึง 3 เท่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน และเป็นช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียน

“ที่ผ่านมามีการนำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ หรือรีไซเคิลเพียง 25% ส่วนอีก 75% ไม่ถูกรีไซเคิล ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากขาดการคัดแยกที่ต้นทาง ถือเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน นอกจากจะมีเป้าหมายในการเปลี่ยนพฤติกรรม และเกิดวินัยการแยกพลาสติกสะอาดก่อนทิ้งแล้ว ยังต้องการเพิ่มปริมาณพลาสติกที่เรียกคืนมาได้ เพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิล ใช้พลาสติกใหม่น้อยลง อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการดึงทรัพยากรมาใช้”


สำหรับภาคเครือข่ายที่ร่วมริเริ่มโครงการนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภาคเอกชนชั้นนำผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลและนำไปผลิตสินค้าใหม่ เช่น บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน), บริษัท แก้วกรุงไทย จำกัด ส่วนผู้สนับสนุนจุดรับพลาสติก ประกอบด้วย เทสโก้ โลตัส, บริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป, สิงห์ คอมเพล็กซ์, บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย จำกัด, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และเดอะคอมมอน เป็นต้น