พลัง “ผู้นำไทย” ฝ่าวิกฤต ชูเทคโนโลยีสู้โควิดธุรกิจอยู่รอด

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนต้องปรับกลยุทธ์การทำงานใหม่ ซึ่งแต่ละองค์กรมีเทคนิคที่ต่างกันออกไป ทั้งนี้ บริหารจากหลากหลายองค์กรชั้นนำ ได้มาร่วมเสวนาแบบถ่ายทอดสดออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก ในโครงการ “รวมพลัง ผู้นำเข้มแข็ง” ที่จัดโดยบริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จํากัด โดยมีวิธีการทำงานและการบริหารจัดการพนักงาน เป็นแนวทางให้บริษัทอื่น ๆ ในไทยก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ได้อย่างน่าสนใจ

“เทคโนโลยี” ฮีโร่ทุกธุรกิจ

“อโณทัย เวทยากร” รองประธานบริหาร ตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชีย และธุรกิจคอนซูเมอร์ภูมิภาคเอเชียใต้ เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า ธุรกิจเดลล์ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทั้งในด้านการทำงานและการผลิต เพราะฐานการผลิตบางส่วนอยู่ในประเทศจีน และเดลล์มีสำนักงานอยู่ใน 30 ประเทศ ทำให้การรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ของเราวุ่นวายพอสมควร แต่เราใช้แนวทางและนโยบายเดียวกันทั่วโลก และเตรียมแผนรับมือวิกฤตเป็นลำดับตั้งแต่วิกฤตระดับเบาไปจนถึงหนัก เป็นแผน A, B และ C ซึ่งช่วยให้เราดำเนินการได้อย่างราบรื่น

“อโณทัย เวทยากร”

บริษัทมองเหตุการณ์ไว้ล่วงหน้า เมื่อเริ่มมีสัญญาณอันตรายเราไม่รอให้เกิดวิกฤตร้ายแรง เราเริ่มสนับสนุนให้พนักงานทำงานที่บ้านทันที เพราะความปลอดภัยของพนักงานมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนพนักงานบางกลุ่มที่จำเป็นต้องไปซัพพอร์ตลูกค้าตามพื้นที่ต่าง ๆ จะอยู่ในการดูแลของบริษัทอย่างใกล้ชิด

สำหรับบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รัฐบาลต่างคุมเข้มหนักมาก เช่น ประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการผลิต (hub) และเป็นศูนย์กลางของ call center ใหญ่ขององค์กรอีกด้วย เมื่อโควิด-19 ระบาด พนักงานไม่สามารถออกจากบ้านได้ ยกเว้นเพียงแต่ไปซื้ออาหารและยาเท่านั้น ทุกอย่างหยุดเกือบหมด องค์กรจึงต้องจัดเตรียมอุปกรณ์การทำงานให้พนักงานได้ทำงานที่บ้านได้อย่างสะดวก เช่น การติดตั้งระบบปฏิบัติการ soft phone ไว้ที่บ้านพนักงานทุกคน พบว่าสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างราบรื่น และมี productivity เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนโรงงานผลิตที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ได้ขออนุญาตรัฐบาลเปิดทำการ แต่ไม่เต็มกำลัง เพราะต้องเว้นระยะห่างของพนักงาน ทั้งนี้ การตัดสินใจในการดำเนินการใด ๆ เราใช้พนักงานเป็นตัวตั้ง รับฟังเสียงของพนักงาน และความสมัครใจเสมอ เพราะธุรกิจเราดำเนินการด้วยคน และถึงแม้เราไม่สามารถรันระบบการผลิตได้เต็มกำลัง เราก็ไม่มีการลดจำนวนคน

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้องค์กรได้นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดยสิ่งที่จำเป็นคือ 1.โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี หลายองค์กรยังใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิม แต่ตอนพื้นฐานควรมี multicloud หรือการใช้บริการจากผู้ให้บริการศูนย์กลางข้อมูล (cloud) ที่มีความหลากหลาย การผูกติดกับคลาวด์เพียงที่ใดที่หนึ่งถือว่าค่อนข้างเสี่ยง ความหลากหลายของศูนย์ข้อมูลจะทำให้เมื่อเกิดวิกฤตใดก็ตาม พนักงานยังคงทำงานได้ตามปกติ 2.นำ modern apps มาใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการมัดใจ

ลูกค้า และการบริหารความพึงพอใจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับองค์กร 3.cyber security การเพิ่มความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนต้องให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอาชญากรรมทางไซเบอร์ และ 4.workforce แต่ละองค์กรต้องมีความพร้อมให้คนทำงานจากที่ไหนก็ได้

ครู-เด็กได้เรียนรู้โอกาสในวิกฤต

“ทีนามารี ผลาดิกานนท์” ผู้อำนวยการโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย กล่าวว่า เตรียมรับมือตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยจัดให้มีการอบรมครูในการใช้ Microsoft Team สำหรับการสอน ซึ่งวิกฤตนี้เป็นตัวบังคับให้ครูเปิดโลกทัศน์และเร่งพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีมากขึ้นทั้งครูไทยและครูต่างชาติ นอกจากนั้น เราหยุดกิจกรรมทุกอย่างที่ต้องจัดที่โรงเรียนทั้งหมด แล้วหันมาใช้ระบบออนไลน์ โดยก่อนถึงเวลาที่จะมีการเปิดโรงเรียนจริงในวันที่ 1 ก.ค. 2563 เราเห็นว่านักเรียนมีเวลาว่าง จึงเตรียมทีมครูให้พัฒนาหลักสูตรของตัวเองเพื่อสอนออนไลน์วิชาละ 15-30 นาที สิ่งที่ครูต้องทำอย่างจริงจัง คือ การคัดกรองเนื้อหาที่จะสอน ต้องแยกแยะให้ได้ว่า อะไรที่นักเรียนสืบค้นเองได้ และอะไรที่ควรนำมาสอนออนไลน์ จะทำให้การสอนออนไลน์มีประโยชน์สูงสุด โดยเราจัดให้มีการสอนออนไลน์ตั้งแต่ 18 พ.ค. 2563 โดยตั้งใจให้บรรยากาศการเรียนออนไลน์มีความสุข และไม่เป็นภาระของผู้ปกครอง

“ทีนามารี ผลาดิกานนท์”

วิกฤตครั้งนี้เป็นการผลักดันให้เด็กไทยมีความจำเป็นที่ต้องใช้ทักษะค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาเด็กไทยเคยชินกับการป้อนข้อมูล แต่ตอนนี้เรามองเห็นว่าเกิดขึ้นจริงได้แล้ว และครูมีบทบาทเป็น facilitator จริง ๆ ซึ่งหวังว่าจะเป็น new normal ของประเทศไทยต่อไป

ครูของเราทำงานจากบ้าน และทำการประชุมกันทุกวัน เห็นได้ว่าครูตั้งใจพัฒนาการสอนออนไลน์อย่างเข้มข้น เพราะมีความท้าทายจากการสังเกตการณ์ของครูแต่ละกลุ่มสาระที่มาช่วยกันดูและคอมเมนต์ ทำให้ครูผู้สอนออนไลน์อยากทำให้ดีที่สุด ซึ่งหลังจากนี้เราจะตั้งทีม observation อย่างจริงจัง จากเมื่อก่อนที่มีการเข้าสังเกตการณ์การสอนเพียง 1-2 คน แต่หลังจากนี้จะเข้ากันเป็นทีมหลายคน เพื่อเพิ่มการออกความเห็นที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาหลักสูตร

สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า

“อัมพร โชติรัชสกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้สาหัสที่สุด ธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรง เพราะมีการยกเลิกการท่องเที่ยว ในองค์กรของเรามีการทำงานที่บ้าน ยกเว้นบางตำแหน่งที่ต้องเข้าดูแลพื้นที่

“อัมพร โชติรัชสกุล”

ส่วนทีมผู้บริหารแต่ละทีมมีการพูดคุยกันตลอดว่าเราจะจัดการปัญหาต่าง ๆ อย่างไร จนได้มาเป็นแผนระยะสั้น และระยะยาว โดยแผนระยะสั้น คือ การประคับประคองผู้เช่าพื้นที่ ให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ รวมทั้งใช้แพลตฟอร์ม e-Commerce อย่างเต็มที่ โดยเรามี ONESIAM Chat and Shop และมีการจัดแผนดีลิเวอรี่ชื่อว่า สยามพารากอน EAT AT HOME อำนวยความสะดวกถึงที่ และมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย

“ตอนนี้เราเตรียมความพร้อมการเปิดศูนย์การค้าเพื่อให้ลูกค้า และผู้เช่ามั่นใจว่าเมื่อกลับเข้าพื้นที่ จะได้พบพื้นที่ที่สะอาดปลอดภัย และทำแผนการตลาดกระตุ้นยอดขายรองรับอย่างเต็มที่”

ส่วนแผนระยะยาว เราจะมีโมเดลธุรกิจใหม่ที่เน้นเรื่องสุขภาพของลูกค้ามากขึ้น และจะทำการทรานส์ฟอร์มองค์กรให้ลีน และมีความเป็นอไจล์ (agile) ช่วยให้ทำงานรวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงาน

เพิ่มรูปแบบธุรกิจ-สื่อสารองค์กร

“อรุษ นวราษ” กรรมการผู้จัดการ สวนสามพราน กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารปิดให้บริการมาสักระยะหนึ่งแล้ว สำหรับที่สวนสามพรานเรามีการปรับเปลี่ยนธุรกิจเป็นการขายอาหารแบบดีลิเวอรี่ ทั้งยังเปิดตลาดให้เกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่ายเพื่อหารายได้ โดยจำกัดจำนวนคนให้เข้าตลาดได้เพียง 50 คน และจัดเตรียมพื้นที่ให้ลูกค้านั่งรอโดยมีการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม เราเน้นการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนกันกับเกษตรกร เช่น รับซื้อผลิตภัณฑ์และให้ความรู้ที่จำเป็น รวมทั้งส่งเสริมให้พวกเขาเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ผ่านแพลตฟอร์ม Thai Organic ซึ่งไม่จำเป็นต้องผูกขาดอยู่กับพ่อค้าคนกลาง สำหรับการทำงานในองค์กร บริษัทอนุญาตให้พนักงานเกษียณอายุก่อนกำหนดได้ โดยให้เงินชดเชยตามกฎหมาย ส่วนพนักงานที่ยังต้องการทำงานอยู่ บริหารให้สลับกันมาทำงาน แต่เรามีความจำเป็นต้องลดเงินเดือนลง 25% เพราะรายได้บริษัทหายไปกว่า 90%

“อรุษ นวราษ”

“การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมากในสถานการณ์เช่นนี้ ต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้พนักงานรับรู้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในองค์กร และให้พนักงานมีความเข้าใจว่า มีความจำเป็นที่บางคนต้องโยกย้ายไปทำงานที่ไม่คุ้นชิน เช่น พนักงานเสิร์ฟมาเป็นแม่ครัว พนักงานต้อนรับลูกค้ามาช่วยดูแลและบำรุงรักษาพื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มทักษะและความรู้ความสามารถของพนักงานให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยประคับประคององค์กรต่อไป เพื่อเราจะได้รอดด้วยกันทุกคน”

หลังจากวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว การท่องเที่ยวอาจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก เราวางแผนจะปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ หันมาทำเรื่องอาหารแปรรูป และธุรกิจออนไลน์มากขึ้น ในขณะเดียวกันเรามีธุรกิจการอบรมสัมมนาที่เป็นอีกแหล่งรายได้หลักของบริษัท ที่ต้องปรับวิธีการทำตลาด โดยเน้นกิจกรรมที่ช่วยสร้างให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ กับลูกค้า และเชื่อว่าการเรียนรู้แบบออฟไลน์ยังจะได้รับความนิยมอยู่ ถึงแม้คนจะคุ้นชินกับการสื่อสารออนไลน์มากขึ้น

ที่สวนสามพรานไม่ได้ดูแลพนักงานแค่เรื่องความปลอดภัย และรายได้เท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ด้วย โดยเรามีสต๊อกข้าวอยู่ เมื่อโรงแรมและร้านอาหารเปิดไม่ได้เราแบ่งข้าวให้พนักงานคนละ 5 กิโลกรัม เพื่อนำไปบริโภคในครอบครัว


วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราเรียนรู้ว่าไม่มีอะไรแน่นอน ควรดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท เมื่อผ่านวิกฤตไป เราจะกลับมายืนได้อย่างแข็งแรง