“เอสโซ่” ชวนขายของในปั๊ม หนุนสตรีตฟู้ดช่วยคนตกงาน

บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดพื้นที่ให้ทดลองขายสินค้าทั้งอุปโภค-บริโภคในสถานีบริการน้ำมันฟรี 1 เดือน ส่งเสริมกลุ่ม street food กลับมาเปิดกิจการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้ตกงานจากการระบาดโควิด-19 แม้ยอดขายน้ำมันจะวูบ 15% ส่วนแผนขยายสถานีบริการชะลอตัวลงจากแผนที่วางไว้

“กนกพร จารุกุลวนิช” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพียวพลังงานไทย จำกัด ในฐานะผู้ค้าน้ำมัน (ดีลเลอร์) ให้กับเอสโซ่บอกว่า ได้เปิดพื้นที่ภายในสถานีบริการน้ำมันที่มีอยู่ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามา “ทดลองขายฟรี” กว่า 65 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ต้องตกงาน เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และจากการสื่อสารโครงการดังกล่าวออกไป ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า และผู้สนใจอยากมาขายของภายในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่

“โดยร้านแรกจะเริ่มในสัปดาห์หน้า และจะทยอยเข้ามาอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และต้องใช้เวลาพลิกฟื้นเศรษฐกิจอีกระยะ อาจจะทำให้มีกลุ่มผู้ตกงานเพิ่มมากขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ตกงานดังกล่าว ทั้งนี้ จะให้ทดลองขายสินค้าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น หากผู้ค้าสามารถสร้างรายได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะต้องเก็บค่าเช่าใช้พื้นที่ ในอัตราที่น้อยมาก เพราะไม่ต้องการให้กระทบต่อคู่ค้ามากนัก”

นอกจากนี้ “กนกพร” ยังระบุเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากโครงการให้ทดลองขายสินค้าฟรีในพื้นที่สถานีบริการน้ำมันแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะปรับปรุง “street food” ทั้งในส่วนของสินค้าที่มีแบรนด์ และไม่มีแบรนด์ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องหยุดค้าขายตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในการเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน แต่ทั้งนั้นต้องอยู่บนเงื่อนไขของเอสโซ่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทั้งหมด

“เพราะทั้ง 2 โครงการถือเป็นการทำธุรกิจเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่จะใช้รูปแบบการให้เงินบริจาค และให้ทุนการศึกษาเป็นหลัก รวมถึงในช่วงภัยพิบัติต่าง ๆ ก็จะสนับสนุนน้ำมันเพื่อใช้การทำงานของภาครัฐในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องต่าง ๆ”

“แต่สำหรับการให้ผู้ประกอบการสามารถทดลองขายฟรีก่อนนั้น เหตุผลคือภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีการระบาด กอปรกับเศรษฐกิจที่ไม่ดี และในสภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่รู้ว่าจะขายของได้หรือไม่ เราจึงเปิดให้ทดลองก่อน และยังไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมายอีกด้วย อยากให้มองว่าเป็นโอกาสในการเริ่มธุรกิจใหม่ และเอสโซ่ต้องการช่วยเหลือสังคมเพื่อให้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปให้ได้ก่อน”

ทั้งนี้ จากจำนวนสถานีบริการน้ำมันภายใต้เครื่องหมายทางการค้าเอสโซ่นั้น “กนกพร” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เอสโซ่ต้องการช่วยเหลือสังคมให้มีความหลากหลาย และตรงกับความต้องการของผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นปัญหาของคนทั่วโลกแล้ว ครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินการเพื่อตอบแทนสังคม และทุกฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้อง โดยนำศักยภาพทางธุรกิจที่มีคือสถานีบริการน้ำมันที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศมาสร้างประโยชน์ในรูปแบบกิจการที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลไกการบริหารการจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาบวกรวมกับความรู้ และนวัตกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน และจากรายได้หลักที่มาจากสินค้าและการบริการ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาค หรือ SE (social enterprise)

สำหรับแผนขยายสถานีบริการน้ำมันภายใต้บริษัท เพียวพลังงานไทย ที่วางไว้ในปี 2563 ว่า จะต้องขยายสถานีบริการน้ำมันรวมทั้งสิ้น 100 แห่ง แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้น่าจะขยายสถานีบริการน้ำมันได้แค่ 70 แห่งเท่านั้น ในขณะที่ยอดจำหน่ายน้ำมันก็ลดลงประมาณ 15% โดยการขยายสถานีบริการน้ำมันใหม่นั้นได้มองไปยังพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่ที่โรงงานอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก

เนื่องจากภายหลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขการระบาดของโควิด-19 นั้น สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศได้รับการยกเว้นให้จำหน่ายน้ำมันได้ตามปกติ จึงทำให้เห็นว่ามีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องส่งของให้กับลูกค้า ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินลดลงต่อเนื่อง เพราะมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ส่งผลให้ประชาชนหยุดการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เอสโซ่ยังอยู่ในระหว่างสำรวจสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ปิดกิจการว่าสามารถนำมาพัฒนาใหม่เป็นสถานบริการน้ำมันได้หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สามารถทำยอดจำหน่ายน้ำมันได้ในระดับที่ดี

ตามการรายงานของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า สำหรับส่วนแบ่งการตลาด (market share) ในช่วง ม.ค.-มี.ค. 63 นั้น บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อยู่ที่อันดับ 3 ของตลาด คิดเป็น 11.57% หรือปริมาณ 63 ล้านลิตร ในขณะที่อันดับ 1 คือ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR อยู่ที่ 48.70% มีปริมาณการขายอยู่ที่ 267 ล้านลิตร ตามมาด้วยอันดับ 2 คือ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ที่ 14.28% หรือปริมาณ 79 ล้านลิตร