แบ่งปันความอิ่ม เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน ร.9

ไม่นานผ่านมา “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย “วรรณเทพ หรูวิจิตร” Founder & Chief Executive Officer บริษัท ไอคอน เฟรมเวิร์ค จำกัด, อ.นพ.อัครินทร์ นิมมานนิตย์ ประธานคณะกรรมการดำเนินการหน่วยพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ประภาวดี ธานีรณานนท์ รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน), อริสา โพธิ์ชัยสาร หน่วยพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ริเริ่มโครงการแบ่งปันความอิ่ม Pay it forward Thailand ร่วมล้อมวงเล่าแบ่งปันความอิ่ม ส่งต่อความช่วยเหลือสู่ชุมชนทั่วประเทศ สืบสานพระราชปณิธานการทำความดีของในหลวงรัชกาลที่ 9

ทั้งนั้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกเป็นจำนวนมาก หลายคนนับว่ายังโชคดีที่มีงาน มีเงินซื้ออาหาร เพื่อเลี้ยงชีวิต และครอบครัวต่อไป แต่ยังมีอีกหลายคนที่เหมือนจะมองไม่เห็นหนทางการใช้ชีวิตต่อได้ ไม่มีแม้กระทั่งเงินซื้ออาหารสักมื้อ เสียงของความเดือดร้อนเหล่านี้จึงก่อให้เกิด “โครงการแบ่งปันความอิ่ม Pay it forward Thailand” ภายใต้แนวคิด “มีน้อย กินฟรี…พอมี ร่วมแบ่งปัน”

โดย Pay it forward เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าเราทุกคนสามารถสร้างโลกให้น่าอยู่ได้ ทั้งยังเป็นการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันความรัก และความปรารถนาดีให้ผู้อื่นก่อนแล้วส่งต่อไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด ด้วยการส่งต่อความดี ช่วยเหลือคนรอบข้างที่เดือดร้อน ขณะผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือก็มีหน้าที่ตอบแทนโดยการส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ผู้อื่นต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อมีโอกาส เพียงเท่านี้การทำความดีจะเพิ่มขึ้นทวีคูณไม่สิ้นสุด

เบื้องต้น “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” บอกว่าวันนี้พวกเราทุกคนกำลังสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึงแม้ว่าเราอาจจะมี physical distancing แต่เราไม่มีระยะห่างในแง่ของจิตใจ เรื่องแรกท่านเป็นองค์ที่สนพระทัยเรื่องความอดอยากของพสกนิกรของพระองค์ท่านมาก ทรงทำทุกวิถีทาง สิ่งที่พระองค์ท่านทำไม่ใช่เพียงแค่ทำอย่างไรให้หายหิว แต่ทรงคิดว่าจะทรงทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างไรเพื่อให้หายหิว เรื่องที่สองคือการสร้างการมีส่วนร่วมของพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่สามารถทำให้เขาได้เป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับ เรื่องที่สามคือทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการทำความดี และการสร้างให้คนเหล่านั้นเข้าใจความหมายของคำว่าให้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสว่าประเทศไทยจะไม่ล่มสลาย ถ้าคนไทยยังมีความสุขกับการให้

“เรื่องที่สี่การรู้รักษาสามัคคีอันเกิดจากการให้ และทุกคนมีความสุขกับการให้ เรื่องที่ห้าคือการเข้าใจในสมดุลระหว่างการจัดสรรแบ่งปันการทำความดีให้กับคนอื่น ซึ่งเป็นการให้ที่งดงาม เรื่องสุดท้ายคือความไว้เนื้อเชื่อใจ โครงการแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าคนไทยไม่ไว้ใจกัน สังคมที่งดงามคือสังคมที่ไว้ใจกัน เรื่องดี ๆ เหล่านี้จะหล่อหลอมสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับตัวคุณ และขยายวงต่อไปเรื่อย ๆ”

“โครงการแบ่งปันความอิ่มถูกเริ่มขึ้นโดยบุคลากรศิริราชกลุ่มเล็ก ๆ บุคลากรเหล่านี้เป็นผู้ที่ทำงานเบื้องหลัง ทำงานด้านงานวิจัย แม้จะไม่ได้มีโอกาสไปช่วยสังคมในการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยตรง แต่มีแรงขับเคลื่อนภายในที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่นด้วยใจ ด้วยพลังเล็ก ๆของแต่ละคนมารวมตัวกันเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ไม่ด้อยไปกว่าแพทย์, พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยที่ด้านหน้าเลย ผมรู้สึกนี่คือคนศิริราชตัวจริง เขาเหล่านี้ได้แสดงออกถึงวัฒนธรรมศิริราชคือ altruism อย่างชัดเจน”

“อริสา” ผู้ริเริ่มโครงการ “แบ่งปันความอิ่ม Pay it forward Thailand” บอกว่าจากการมองเห็นคนเดือดร้อนมากมายในวิกฤตโควิด-19 บางคนตกงาน ไม่มีรายได้ หลายคนตัดสินใจจบชีวิตเพื่อหนีปัญหา เราในฐานะคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ แต่เราควรจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังเดือดร้อนเหล่านั้น จากความคิดสู่การลงมือทำโครงการแบ่งปันความอิ่มจึงได้เกิดขึ้น “เพราะความหิวมันทรมาน”

“ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการช่วยเหลือคนหิว โครงการแบ่งปันความอิ่มจึงได้รับการตอบรับจากผู้ปันอิ่มทั่วไทย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะวิธีการที่ง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้ ทุกคนสามารถช่วยให้คนที่กำลังเดือดร้อนได้อิ่มท้องกันแบบฟรี ๆ ผ่านคูปองที่ผู้ปันอิ่มได้ชำระเงินไว้ก่อนแล้วกับทางร้านปันอิ่มที่ร่วมโครงการ โดยกำหนดราคาไว้อิ่มละ 20-40 บาท เพียงเท่านี้ ผู้รออิ่มที่กำลังเดือดร้อนก็สามารถหยิบคูปองได้จากหน้าร้าน เพื่อนำไปแลกเป็นอาหารหนึ่งมื้อกับทางร้านค้าได้ฟรี และร้านค้าจะบอกกับผู้รออิ่มว่าในวันหน้าเมื่อสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว ก็สามารถกลับมาแบ่งปันให้คนอื่นได้”

“ด้วยการกลับมาซื้อคูปองเพื่อส่งต่อความอิ่มให้กับคนเดือดร้อนคนอื่น ๆ ต่อไป ตรงนี้จึงเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ 2 ฝ่ายพร้อม ๆ กันคือผู้รออิ่ม และร้านปันอิ่ม และที่สำคัญยังเป็นการสร้างรูปแบบการทำบุญแบบใหม่ ที่เราไม่จำเป็นต้องมีเงินมาก เพียง 20 บาท และมีใจ ก็เป็นผู้ให้ได้แล้ว”

“อ.นพ.อัครินทร์” กล่าวเสริมว่าเมื่อแนวคิดของโครงการได้รับการเผยแพร่ไปในวงกว้างมากขึ้นก็มีผู้ปันอิ่มจำนวนมากต้องการให้การสนับสนุนโครงการ ทีมทำงานซาบซึ้งในน้ำใจคนไทยเป็นอย่างมาก และพยายามตกผลึกหาระบบบริหารจัดการ เพื่อให้การสนับสนุนจากผู้ปันอิ่มสามารถกระจายเข้าถึงผู้ที่เดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง พวกเราระดมความคิดจนได้ข้อสรุป 2 ประการ คือหนึ่งเพื่อกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึง เราต้องสอนให้คนที่อยากช่วยสามารถเริ่มทำได้ในชุมชนของตนเอง โดยหลีกเลี่ยงการรับการสนับสนุนแบบรวมศูนย์ และสองคือเราต้องมุ่งเน้นกระบวนการกระตุ้นให้คนที่พอมี ร่วมแบ่งปันต่อจากผู้ที่เริ่มต้นไว้ในชุมชน เพื่อให้การแบ่งปันต่อเนื่องกันไปเป็นวัฏจักรด้วย

“จากการเปิดเฟซบุ๊กเพจเพื่อสื่อสารแนวคิด และวิธีการของโครงการนี้ เพื่อร่วมรวบรวมข้อมูลร้านปันอิ่มตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ปันอิ่มที่ต้องการร่วมสนับสนุนการแบ่งปัน ต่อมาเพื่อให้ครอบคลุมร้านปันอิ่มจำนวนมากขึ้น จึงได้การสนับสนุนจากบริษัท ไอคอน เฟรมเวิร์ค จำกัด สร้าง application @payitforward (แบ่งปันความอิ่ม) ที่จะมีระบบหลังบ้านในการตรวจสอบ ติดตาม รวมทั้งวิเคราะห์ภาพรวมของโครงการ”

“ล่าสุดโครงการมีการพัฒนารูปแบบการเข้าถึงความช่วยเหลือ ผ่าน application ชื่อ LINE@payitforward (แบ่งปันความอิ่ม) เพื่อให้ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือเข้าถึงร้านค้า และชุมชนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยผู้ที่อยากช่วยเหลือสามารถร่วมแบ่งปันได้ทันทีในเมนูร่วมแบ่งปัน หากเป็นร้านค้าก็สามารถร่วมโครงการได้โดยลงทะเบียนเป็นร้านปันอิ่ม”

ถึงตรงนี้ “วรรณเทพ” กล่าวเสริมว่าการทำให้คนคนหนึ่งหายหิว และมีแรงสู้ต่อก็เยี่ยมยอดแล้ว แต่โครงการนี้สามารถเข้าถึงคนที่ลำบากในช่วงโควิด-19 ได้จริง ๆ เพราะอย่างน้อยยังมีอาหารกิน 3 มื้อ จึงคิดว่าโครงการนี้แก้ปัญหาปากท้องได้ถูกจุด เลยสนใจเข้ามาร่วมงาน และเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลก็พบว่าน่าจะมาช่วยแก้ไขข้อจำกัด และช่วยต่อยอดโครงการได้ จึงเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการโดยมีหลายฝ่ายให้ความช่วยเหลือ จนทำให้พวกเราอิ่มใจไปด้วย ทั้งยังทำให้พวกเราเห็นถึงความหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน

ขณะที่ “ประภาวดี” กล่าวเสริมในช่วงสุดท้ายว่าด้วยเจตนารมณ์ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทในเครือ มีความพร้อมในการสนับสนุนและร่วมมือกับโครงการการกุศลเสมอมา สำหรับโครงการแบ่งปันความอิ่ม ทางบริษัทเล็งเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี สามารถช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิดได้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยศิลปิน, นักร้อง, นักแสดง และ ดีเจ.สามารถร่วมแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ของโครงการนี้

“ทั้งรูปแบบของการเป็นอาสาสานอิ่ม ด้วยการลงพื้นที่ไปเชื่อมโยงกับร้านค้าในชุมชนต่าง ๆ ตลอดจนการเป็นกระบอกเสียงส่งต่อเรื่องราวของโครงการนี้ไปถึงกลุ่มแฟนคลับทั่วประเทศ นอกจากนี้ บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด (ช่องวัน 31) ได้นำเงินบริจาคจากโครงการวันสร้างสุข : สู้ภัยโควิด-19 จากคนไทยทั้งประเทศมาสมทบช่วยเหลือโครงการด้วย รวมทั้งการร่วมเผยแพร่โครงการให้แพร่หลายขึ้น เราจึงหวังว่าการช่วยเหลือเหล่านี้จะทำให้เกิดการแบ่งปันอย่างกว้างขวาง และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ทั้งนั้นเพื่อให้โครงการนี้ยั่งยืนตลอดไป”

สำหรับผู้ปันอิ่ม และร้านปันอิ่มที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนผ่าน application LINE@payitforward และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ของโครงการได้ทาง www.facebook.com/แบ่งปันความอิ่ม-Pay-it-forward-Thailand-105166591170355/?epa=SEARCH_BOX