The Forestias สร้างป่า-สร้างชีวิต 1 พันครอบครัว

ต้องยอมรับว่าในวิกฤตที่เกิดจากโควิด-19 ขณะนี้ ทำให้หลายองค์กรนำศักยภาพที่ตนเองมีออกมาช่วยเหลือสังคมอย่างมากมาย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (DTGO) ที่มีจุดประสงค์ร่วมกับบริษัทในเครือ และพันธมิตร จึงดำเนินโครงการความช่วยเหลือต่าง ๆ ผ่านมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิพุทธรักษา และสมาคมพี่น้องพุทธรักษา ด้วยการแบ่งความช่วยเหลือออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มแรก-บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่เป็นแนวหน้า ซึ่งเป็นกำลังหลักในการต่อสู้กับการระบาด และรักษาคนเจ็บป่วย ส่วนกลุ่มที่สอง-ครอบครัวของผู้มีรายได้น้อย และได้รับผลกระทบจากมาตรการหยุดยั้งการระบาดโรค เช่น ลูกจ้างรายวันที่ถูกพักงาน, พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ฯลฯ

โดยในส่วนของ “โครงการเดอะฟอเรสเทียส์ (The Forestias)” ภายใต้การดำเนินของ MQDC ซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์จึงเข้ามาช่วยเหลือสังคมในกลุ่มที่สอง ด้วยเล็งเห็นความเดือดร้อนของคนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิดขณะนี้ อีกทั้งหลักในการสร้างโครงการมีแนวคิด “สร้างเมืองคู่ป่า” จึงเปิดโครงการเพาะกล้าไม้ “Forest for Life สร้างป่า สร้างชีวิต” ขึ้นมา โดยร่วมกับมูลนิธิพุทธรักษา เครือข่ายผู้ให้ The Givers Network และกรมป่าไม้

สร้างป่า สร้างชีวิตพันครอบครัว


เบื้องต้น “คีรินทร์ ชูธรรมสถิตย์” ประธานผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และบริการ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า MQDC เป็นผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ พัฒนาโครงการต่าง ๆ ทั้งที่อยู่อาศัย, อาคารพาณิชย์, ศูนย์การค้า และสำนักงาน โดยเรามีเป้าหมาย หรือปรัชญาหลักในการพัฒนาโครงการควบคู่กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับตั้งแต่โควิดเกิดขึ้น เราเข้าไปช่วยเหลือสังคมหลายด้าน โดยจัดสรรงบประมาณรวม 50 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เราแบ่ง 25 ล้านบาทแรกไปช่วยเหลือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขไปก่อนแล้ว ส่วน 25 ล้านบาทต่อมาเรานำงบประมาณมาดำเนินโครงการสร้างป่า โดยเดอะฟอเรสเทียส์ ภายใต้ปรัชญาให้ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีจุดประสงค์อยู่ 2 เรื่อง คือ

หนึ่ง จ้างงานผู้เดือดร้อน ด้วยการนำกล้าไม้ไปให้ครอบครัวที่สมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายของโครงการ ตามที่กำหนดจากชุมชน ไปดูแลอนุบาลให้เติบโตขึ้น เป็นระยะเวลา 90 วันโดยประมาณ และจะมีเงินช่วยเหลือให้ครอบครัวละ 15,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน

สอง เพิ่มพื้นที่สีเขียว กล้าไม้ที่ชุมชนดูแลจะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับหน่วยงานราชการ เช่น กรมป่าไม้, กองสาธารณะ กรุงเทพมหานคร สำหรับสร้างเสริมพื้นที่สีเขียว หรือนำไปร่วมโครงการแจกกล้าไม้คนเมืองให้แก่ประชาชนทั่วไป หรือหากชุมชนที่รับต้นกล้าไปดูแลต้องการพื้นที่สีเขียวก็จะมอบให้ และบางส่วนจะนำมาปลูกกับโครงการเดอะฟอเรสเทียส์

ทั้งนั้น โครงการตั้งเป้าหมายช่วยผู้เดือดร้อนประมาณ 1,000 ครัวเรือน กับจำนวนกล้าไม้ที่เตรียมไว้ 1.2 ล้านต้น โดยแบ่งเป็น 2 เฟส ซึ่งเฟสแรก 500 ครัวเรือน ดูแลกล้าไม้ 6 แสนต้น และเฟสสองอีก 500 ครัวเรือน กับกล้าไม้ 6 แสนต้น

นำร่องชุมชนวัดทุ่งเหียง จ.ชลบุรี


“ดร.วิทย์ สุนทรนันท์” รองประธานมูลนิธิพุทธรักษา กล่าวเสริมว่า โครงการเปิดรับสมัครชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากข้อจำกัดด้านการขนส่งกล้าไม้ ดังนั้น แต่ละชุมชนจะต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจริง และต้องมีพื้นที่เพื่อวางกล้าไม้อย่างน้อย 20 ตารางเมตร หรือมีพื้นที่สาธารณะชุมชน เช่น บ้าน, โรงเรียน สำหรับดูแล ขณะนี้เริ่มนำร่องที่ชุมชนวัดทุ่งเหียง ต.หมอนนาง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จำนวน 26 ครัวเรือนก่อน

“ข้อมูลที่เราพบจากชุมชนวัดทุ่งเหียงคือบางครอบครัวประสบปัญหาขาดรายได้ทั้งครอบครัว เพราะสมาชิกในบ้านจำนวน 4-5 คน ต้องตกงานทุกคน ทำให้ไม่มีเงินเลี้ยงชีพ ดังนั้น การเข้ามาร่วมโครงการนี้จึงช่วยทำให้ชุมชนมีรายได้พอเลี้ยงชีพในช่วงเวลา 3 เดือน นอกจากชุมชนวัดทุ่งเหียงที่จะร่วมโครงการช่วงแรกประมาณ 26 ครัวเรือน ยังมีชุมชนที่แจ้งความจำนงมาคือชุมชนบ้านอำเภอ ต.หมอนนาง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมอีกจำนวน 120 ครัวเรือน”

“นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายพื้นที่ไปยังชุมชนอื่น ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการประสานกับทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ดำเนินการจัดหาชุมชน และกลุ่มคนไร้บ้านเพื่อเข้าร่วมโครงการอีกด้วย”

“ดร.วิทย์” กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือครั้งนี้ไม่ใช่การช่วยเหลือระยะสั้น เพราะเราซื้อกล้าไม้มาจากชุมชนที่เป็นเครือข่ายเพาะกล้าของทางกรมป่าไม้ ซึ่งทำการเพาะกล้าเพื่อจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้ ทำให้ชุมชนเพาะกล้าเหล่านั้นได้รับเม็ดเงินค่ากล้าไม้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และเรานำมาให้ครอบครัวเป้าหมายโครงการนี้ช่วยดูแลต่ออีก 3 เดือน

“สำหรับกล้าไม้พันธุ์ต่าง ๆ แต่ละครัวเรือนจะได้รับไปดูแล 1,200 ต้น โดยที่ 1,000 ต้น จะเป็นกล้าไม้ กลุ่มป่าไม้ และไม้พุ่มรวมถึงไม้มีค่าต่าง ๆ เช่น ไม้สัก, มะค่าโมง, ประดู่ป่า, ตะเคียนทอง, มะฮอกกานี, ชิงชัน, แคนา, พะยูง และอีก 200 ต้น จะเป็นพืชสวนครัว ที่สามารถเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และหากมีเหลือพอ ชุมชนยังนำไปจำหน่ายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย”

The Forestias ป่าใจกลางเมือง

สำหรับต้นไม้ที่ได้รับการดูแลจากชุมชนจำนวน 5 แสนต้น จะถูกนำมาปลูกที่โครงการเดอะฟอเรสเทียส์ (The Forestias) ซึ่งเป็นเมกะโปรเจ็กต์ 1.25 แสนล้าน บนถนนบางนา-ตราด กม.7 ด้วยพื้นที่กว่า 398 ไร่ โดยเดอะฟอเรสเทียส์ดำเนินโครงการที่เน้นความยั่งยืนทุกมิติ โดยใช้โจทย์ปัญหาใหญ่ที่พบในสังคมมาพัฒนาโครงการคือปัจจุบันคนมีความสุขน้อยลงจากการเป็นโรคซึมเศร้าในสังคม อีกปัญหาคือการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนที่นับวันพื้นที่สีเขียวค่อย ๆ หายไป และพลังงานโลกเริ่มหมดไป ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้นำมาสู่โจทย์ในการสร้างโครงการที่นำเสนอแนวคิดในรูปแบบ enchanted community district in the forest ภายใต้สโลแกน Imagine Happiness

“กิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์” ผู้อำนวยการอาวุโส โครงการ The Forestias by MQDC กล่าวว่า โครงการเดอะฟอเรสเทียส์ ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์โครงการแรกของโลกที่คนเราสามารถอาศัยอยู่รวมกันภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ และเอื้อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต รวมทั้งให้ทุกคนสามารถอยู่ และร่วมกันทำกิจกรรมอย่างมีความสุขแบบยั่งยืน จุดเด่นของโครงการที่สำคัญคือการมอบพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ประมาณ 30 ไร่ เป็นผืนป่าใจกลางโครงการ โดยจะเป็นป่าที่แท้จริง เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้คืนกลับมาใหม่

“เราอยากสร้างเมืองให้ความสุขแก่ผู้อยู่อาศัย โดยเน้นเรื่องหลักคือความสุขของผู้อยู่อาศัย และอยู่กับธรรมชาติ เรามีการประมาณว่าต้นไม้น้อยใหญ่ที่ปลูกในโครงการนี้มากกว่า 5 แสนต้น เพราะฉะนั้น การสร้างป่าของเราจึงไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่จะทำให้ระบบนิเวศยั่งยืนขึ้น เราอยากให้สิ่งมีชีวิตที่เคยมีที่อยู่อาศัย เช่น นก แต่อพยพออกไปเพราะถูกลุกลามจากการพัฒนาเมืองกลับเข้ามา เราจึงทำให้เป็นบ้านที่มีความสุข ให้สัตว์ สิ่งมีชีวิต มีที่อยู่อย่างเหมาะสม”

อย่างไรก็ดี การสร้างป่าครั้งนี้ นับเป็นการขยายพื้นที่สีเขียวในวงกว้างมากขึ้น และอยากให้ทุกคนในชุมชนร่วมกันส่งต่อขยายผลโครงการให้งอกเงย และออกไปในวงกว้างมากที่สุด เพราะหากชุมชนมองเห็นโอกาสจากการสร้างป่า สร้างชีวิตแล้ว แน่นอนว่าผลดีย่อมตกกับชุมชน เพราะหากชุมชนช่วยเหลือตนเองได้ มีรายได้เพียงพอ ไม่เดือดร้อน สังคมจะมีความสุข

จึงนับเป็นโครงการช่วยเหลือสังคมที่ครอบคลุมทั้ง 2 ด้าน ทั้งในส่วนที่ช่วยคนเดือดร้อน ไปพร้อม ๆ กับการสร้างป่า อันเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ MQDC