ทักษะแห่งอนาคต 2 ผู้นำสร้าง “คน” ฉบับ New Normal

เมื่อพูดถึงโลกหลังโควิด-19 (COVID-19) คงยังหาคำตอบได้ไม่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในความปกติใหม่ (new normal) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น

คำถามจึงเกิดขึ้นว่าคนทำงานจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยในสภาวะที่โลกชะงักงันเช่นนี้

ภายในงานเสวนา The Standard Economic Forum แบบ virtual conference จึงมีหัวข้อ “Skills For The Future” หรือ “การเรียนรู้และทักษะแห่งอนาคต” ที่มี “รศ.เกศินี วิฑูรชาติ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ“อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP Thailand มาร่วมถอดบทเรียนถึงทักษะที่คนทำงานต้องมีในปัจจุบันและอนาคต รวมไปถึงปัญหาการศึกษา และประเด็นของนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่ตอบโจทย์องค์กรธุรกิจในยุคปัจจุบัน

อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ

เบื้องต้น “รศ.เกศินี” ฉายภาพปัญหาการศึกษาไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่า คนไทยถูกปลูกฝังให้เรียนรู้แบบวิธีท่องจำ และเด็กไทยมักเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ชอบ เพราะทำตามความต้องการของผู้ปกครอง โดย 2 สิ่งนี้ส่งผลต่อการทำงานในอนาคตของเด็ก เพราะเด็กจะขาดทักษะที่ไม่ได้ใช้จริง และการเรียนในสิ่งที่ไม่ได้ชอบ จึงทำให้พวกเขาไม่มี passion ในการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปรับตัวเรื่องนี้มานานแล้วในเรื่องของการเรียนการสอนที่ลงมือปฏิบัติจริง โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การนำองค์ความรู้จากสถานประกอบการมาปรับใช้ในเนื้อหาการเรียนการสอน ด้วยการทำเวิร์กช็อป และส่งเสริมนักศึกษาไปทำงานจริงตามสถานประกอบการต่าง ๆ ในระหว่างที่เป็นนักศึกษา นอกจากนั้นยังมีการปรับโครงสร้างหลักสูตรให้มีทางเลือกมากขึ้น ทั้งแบบ 2+2 (double degree) คือ เรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ปี และเรียนที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ รวมถึงฝึกงานอีก 2 ปี และแบบ 4+1 คือ หลักสูตร 2 วิชาเอกในระดับปริญญาตรี (double major) และหลักสูตรปริญญาตรีควบโท ซึ่งใช้เวลาเรียนเพียง 5 ปี เพื่อรับวุฒิปริญญาโท”

“ทั้งนี้ ทุกหลักสูตรมีรายวิชาที่เสริมสร้างการเป็นบัณฑิตยุคสมัยใหม่ ในด้านกระบวนการทางความคิด และทักษะการเรียนรู้ที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ และความสำนึกในหน้าที่ รวมถึงมีวิชาให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติจริง เพื่อเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ และเตรียมพร้อมสำหรับการประกอบอาชีพ นอกจากนั้น ธรรมศาสตร์ยังสร้าง living lab ซึ่งเป็นแล็บที่ไม่ได้อยู่ในห้อง แต่เป็นแล็บที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นการใช้สถานการณ์จริงบนโลกปัจจุบันมาเป็นแล็บให้นักศึกษาทดลอง เรียนรู้ และแก้ไขปัญหา”

“เพราะโลกทุกวันนี้ขับเคลื่อนเร็วมาก ฉะนั้น ผู้สอนต้องเรียนรู้ให้มากในสิ่งที่สอนเด็ก ทั้งยังต้องให้สิ่งที่สอนนำไปปฏิบัติได้จริง และทันกับโลกปัจจุบัน โดยเรามีโครงการแชร์ผู้สอนด้วยการดึงอาจารย์จากทั่วโลกที่มีความสามารถสูงมาร่วมกันสอนกับอาจารย์ของเรา ทำให้คณาจารย์ได้เรียนรู้การสอนแบบใหม่ ๆ ไปพร้อม ๆ กันด้วย รวมทั้งยังมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการผังเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตนาร่วมกับ Graduate School of Design ของ Harvard University เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ และจัด option studio สำหรับนักศึกษานานาชาติระดับปริญญาโทจากสาขาสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และการออกแบบเมืองด้วย”

“รศ.เกศินี” กล่าวต่อว่า เพื่อให้แน่ใจว่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มี Skills For The Future ทางมหา”ลัยจึงมียุทธศาสตร์การวัดผลบัณฑิตตามคุณลักษณะ GREATS มาตั้งแต่ปี 2560 โดยคุณลักษณะของ GREATS หมายถึงการมี G-global mindset ทันโลก ทันสังคม, R-responsibility สํานึกรับผิดชอบอย่างยั่งยืน, E-eloquence สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ทรงพลัง, A-aesthetic appreciation มีสุนทรียะในหัวใจ, T-team leader เป็นผู้นําทํางานเป็นทีม และ S-spirit of Thammasat มีจิตวิญญาณธรรมศาสตร์

“โดยมีประกาศนียบัตรสำหรับนักศึกษาที่ผ่านการประเมินทั้ง 6 ประการ และเรากำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนคุณลักษณะ เพราะต้องการให้นักศึกษาเรามีทักษะใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กับโลกทำงานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

ซีอีโอ เอพี(ไทยแลนด์)
อนุพงษ์ อัศวโภคิน

ขณะที่ “อนุพงษ์” บอกเล่าถึงความท้าทายของภาคธุรกิจต่อการรับนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่สายงานว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วแต่ละองค์กรมักรับนักศึกษาใหม่เข้ามาแล้วเพิ่มพูนทักษะการทำงานให้ความรู้ใหม่ ๆ แก่พวกเขาให้พร้อมต่อการทำงาน แต่ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่มีค่านิยมทำงานในแต่ละองค์กรเป็นระยะเวลาสั้น ๆ 1-2 ปีเท่านั้น ทำให้การรักษาคนให้อยู่กับองค์กรจึงเป็นเรื่องยาก องค์กรส่วนใหญ่จึงมักเพิ่มอัตราเงินเดือนให้พนักงานที่ถูกส่งเสริมศักยภาพจนเก่งแล้ว เพื่อดึงตัวให้อยู่กับองค์กร

“ตรงนี้ทำให้บริษัทต่าง ๆ ในปัจจุบันลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพเด็กจบใหม่อย่างรัดกุม ประเด็นนี้ต้องหันมามองภาคการศึกษาด้วยว่ามีการปรับหลักสูตร และเนื้อหาการเรียนการสอนสอดคล้องกับการใช้งานจริงในโลกการทำงานหรือไม่ ทั้งนี้ การจะทำให้มหาวิทยาลัยส่งเสริมทักษะแห่งอนาคตได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในการให้ความสะดวกในการปรับปรุงหลักสูตรให้อัพเดตตลอดเวลา เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงานที่เราเห็นในปัจจุบันกว่า 40% จะหายไป จะมีตำแหน่งงานใหม่โผล่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ซึ่งแสดงว่าบริษัทต้องการคนที่มีทักษะใหม่เพื่อทันต่อเหตุการณ์”

“ตั้งแต่ปี 2017 เรามีโอกาสทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) สหรัฐอเมริกา ให้มาช่วยทำวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าโลกในอนาคตข้างหน้าต้องการคนแบบไหน อย่างไร และทีมงาน AP Thailand ต้องพัฒนาอย่างไร และเรารับทราบเรื่องราวของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดว่า เขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาจารย์ผู้สอนให้มีประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อจะได้ใช้ความรู้จากการปฏิบัติจริงมาสอนนักศึกษา โดยที่นั่นอาจารย์ทำงานกับมหาวิทยาลัย 80% และอีก 20% อาจารย์ต้องทำงานข้างนอกตามบริษัทต่าง ๆ หรือสตาร์ตอัพที่เกี่ยวกับวิชาที่อาจารย์สอน นี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะช่วยให้ประเทศไทยสร้างคนรุ่นใหม่ที่จบออกมาแล้วสามารถลงสนามทำงานได้ทันที”

“แต่ส่วนใหญ่ที่พบเห็นในปัจจุบัน เด็กจบใหม่ในประเทศไทยยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เด็กไทยมีความรู้ทางวิชาการ แต่ไม่สามารถเอามาปรับใช้ได้กับงานจริง หรือความรู้ทางวิชาการที่มีอยู่ก็เป็นความรู้ที่ไม่ใหม่ ทั้ง ๆ ที่ความจริงตำแหน่งว่างในหลายบริษัทยังมีมาก แต่หาคนที่มีทักษะเหมาะสมยังไม่ได้”

“อนุพงษ์” อธิบายถึง Skills for The Future ที่ AP Thailand มองหาในคนทำงานว่า ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ

หนึ่ง decision making มีทักษะที่ดีด้านการตัดสินใจ สามารถเลือกทางเลือกสิ่งดีที่สุดจากหลายทางเลือกเพื่อให้องค์กรได้ประโยชน์สูงสุด และความผิดพลาดน้อยที่สุด

สอง communication การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม

สาม open mindset เรามองหาคนที่เปิดรับสิ่งใหม่ ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา (unlearn)

สี่ collaboration มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

ห้า relearning การเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ ๆ

หก problem solving เป็นนักแก้ปัญหาที่ดีไม่เพียงแต่หาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังคาดการณ์ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และหาทางป้องกันล่วงหน้าอีกด้วย

“ผมมองว่า mindset คือ สิ่งสำคัญที่ใช้พิจารณาในการรับคนเข้ามาทำงาน ทุกคนต้องมีเป้าหมาย รู้ตนเองว่าต้องการทำอะไรเพื่อองค์กร และตนเอง เมื่อทุกคนตั้งเป้าหมายได้แล้ว ต้องมีแรงผลักดันที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือมีทักษะที่พร้อมเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับสายงานนั้น ๆ เพิ่มเติม นอกจากนั้น ผมยังมองหา digital literacies (การเข้าใจในกระบวนการของโลกดิจิทัล) ในคนคนนั้น และต้องมี soft skills ทักษะที่ค่อย ๆ พัฒนามาจากการใช้ชีวิต การเข้าสังคม และการทำงาน ถ้ามีทักษะเหล่านี้เด็กรุ่นใหม่จะไม่ตกงานแน่นอน”

“ปัจจัยที่สร้างให้ AP Thailand เป็นองค์กรที่ส่งเสริมทักษะแห่งอนาคต คือ เรามีการทำงานเป็นทีมแบบเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ และเติบโตไปด้วยกัน เรียกว่าการมี outward mindset ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ นอกจากนั้น AP Thailand ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย จึงได้สร้างอีกหนึ่งยูนิตธุรกิจ คือ SEAC ที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษาโดยเฉพาะขึ้นมา”

ฉะนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานในองค์กรต่างมีปัญหาเรื่อง “คน” ให้แก้ไขทุกวัน ดังนั้น หากภาคธุรกิจไม่ลงทุนกับการสร้าง “คน” ก็จะไม่มีทางสู้คู่แข่งได้อย่างแน่นอน

ขอบคุณภาพThe Standard