SCG ผนึก ทช.ร่วมรักษ์โลก มอบทุ่นกักขยะทะเลลอยน้ำ 7 จังหวัด

ไม่นานผ่านมา ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ส่งมอบ “นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ จาก HDPE-Bone” หรือ SCG-DMCR Litter Trap Generation 2 ให้กับ 7 จังหวัดชายฝั่งทะเล เนื่องในวันทะเลโลก โดยพัฒนาและปรับปรุงจากรุ่นแรกด้วยการนำ HDPE-Bone ซึ่งผลิตจากพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE มาใช้ทดแทนวัสดุเดิม จึงทำให้การจัดเก็บขยะลอยน้ำมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ทั้งยังมีอายุการใช้งานยาวนานมากขึ้น และสามารถนำกลับมารีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างเอสซีจี และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันขยะไหลลงสู่ทะเลด้วยนวัตกรรม ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นประธานรับมอบนวัตกรรม โดยมี โปรโม-โมรียา และโปรเม-เอรียา จุฑานุกาล ทูตผู้พิทักษ์ทะเลของเอสซีจี ร่วมรณรงค์การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อป้องกันขยะไหลลงสู่ทะเล

“เจริญชัย ประเทืองสุขศรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุง จำกัด ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเก็บขยะชายหาด, ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และปลูกป่าชายเลน โดยปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาต้นแบบทุ่นกักขยะลอยน้ำ เพื่อลดปัญหาขยะทะเลด้วยนวัตกรรม ทั้งยังส่งเสริมให้ระบบนิเวศทางทะเลมีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืน โดยได้ติดตั้งทุ่นดังกล่าวบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับทะเลกว่า 24 ชุด ในพี้นที่ 13 จังหวัด เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล ผลปรากฏว่าสามารถช่วยกักขยะได้กว่า 40 ตัน

เจริญชัย ประเทืองสุขศรี

“ในปีนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ยังคงเดินหน้าพัฒนาทุ่นกักขยะลอยน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยนำความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีด้านวัสดุโพลิเมอร์ ผสมผสานกับความสามารถด้านการออกแบบเชิงวิศวกรรมมาพัฒนานวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ จาก HDPE-Bone หรือ SCG-DMCR Litter Trap Generation 2 ด้วยการนำ HDPE-Bone ซึ่งผลิตจากพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE มาใช้ทดแทนวัสดุเดิม ทำให้ทุ่นสามารถลอยน้ำได้ดีขึ้น จัดเก็บขยะลอยน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทนทานต่อรังสียูวี อายุการใช้งานยาวนาน และสามารถนำกลับมารีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกด้วย”

สำหรับวันทะเลโลกประจำปี 2563 เอสซีจีจึงส่งมอบ “นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ จาก HDPE-Bone” หรือ SCG-DMCR Litter Trap Generation 2 ให้กับ 7 จังหวัดชายฝั่งทะเล ได้แก่ ระยอง, สมุทรปราการ, เพชรบุรี, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, พังงา และกระบี่ เพื่อป้องกันขยะไหลสู่ทะเล

“อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาขยะบกไปพร้อม ๆ กันด้วย เนื่องจากขยะทะเลมีแหล่งกำเนิดจากกิจกรรมบนบกถึงร้อยละ 80 และไหลลงสู่ทะเลผ่านทางแม่น้ำลำคลอง ดังนั้น หากเราสามารถจัดการขยะได้ตั้งแต่ต้นทางก็จะช่วยลดปัญหาขยะทะเลลงได้อย่างมาก”

“เอรียา จุฑานุกาล” หรือ “โปรเม” กล่าวเสริมว่า ในฐานะทูตผู้พิทักษ์ทะเล-The Sea Saver ของเอสซีจี ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่รักทะเลเช่นกัน ได้นำแนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ตามแนวทาง SCG circular way ของเอสซีจี มาปฏิบัติร่วมกับครอบครัว โดยเริ่มด้วยการกินอาหารให้หมด ไม่เหลือเป็นเศษอาหาร จากนั้นก็คัดแยกขยะ เพื่อให้สามารถนำไปเข้าสู่ระบบการจัดการได้อย่างเหมาะสม เพราะเมเชื่อว่าการจัดการขยะอย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง จะช่วยป้องกันขยะไหลลงสู่ท้องทะเล ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงวิถีชีวิตของชุมชนริมชายฝั่งด้วย

“โมรียา จุฑานุกาล” หรือ “โปรโม” กล่าวสอดรับในมุมเดียวกันว่า ผ่านมาในช่วงที่ทุกคนไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือท่องเที่ยว เราจะเห็นว่าธรรมชาติต่าง ๆ ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดภายในระยะเวลาไม่นานนัก จึงทำให้โมกลับมาฉุกคิดได้ว่า กิจกรรมทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเรา แต่กลับส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณขยะจากการบริโภคของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะด้วยความจำเป็น แต่เราในฐานะผู้บริโภคจะสามารถทำอะไรเพื่อช่วยลดขยะได้บ้าง

“โมในฐานะทูตผู้พิทักษ์ทะเล-The Sea Saver ของเอสซีจี จึงปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เน้นเรื่องการใช้ซ้ำให้คุ้มค่ามากที่สุด ทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง ซึ่งเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ โมเชื่อว่าถ้าเราทุกคนร่วมกันทำก็จะสามารถช่วยทำให้ท้องทะเลไทยกลับมาสวยงามและอุดมสมบูรณ์ได้อย่างยั่งยืน”

พิเชษฐ์ ตั้งปัญญารัช

“พิเชษฐ์ ตั้งปัญญารัช” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า งานวันทะเลโลกปีนี้มีความพิเศษเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการจัดงานเดียวพร้อมกันถึง 8 จังหวัดผ่านสื่อดิจิทัล ทำให้เราได้เห็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการส่งเสริมรักษาทรัพยากรทางทะเลของไทย สำหรับในพื้นที่จังหวัดระยอง ทางธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ดำเนินโครงการเพื่อดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น โครงการบ้านปลาเอสซีจี การเก็บขยะชายหาด ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และปลูกป่าชายเลน รวมทั้งได้ติดตั้งทุ่นกักขยะลอยน้ำชุดแรกบริเวณสะพานสวนสาธารณะโขดปอ สามารถกักขยะได้กว่า 2,500 กิโลกรัม

“โดยปีนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้นำนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำจาก HDPE-Bone หรือ SCG-DMCR Litter Trap Generation 2 มาส่งมอบให้กับพื้นที่จังหวัดระยอง โดยมีพิธีมอบพร้อม ๆ กับอีก 6 จังหวัดชายฝั่งที่ร่วมงานวันทะเลโลกในปีนี้ เพื่อช่วยดูแลท้องทะเลไทยให้สวยสะอาด ปราศจากขยะ พร้อมทั้งร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศทางทะเล”

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เปรียบเสมือน “The Sea Saver ผู้พิทักษ์ทะเล” โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางในครัวเรือนเพื่อลดขยะในทะเล การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) กิจกรรมจิตอาสาเก็บขยะชายหาด พร้อมกับการฟื้นฟูเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ อาทิ โครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ, โครงการธนาคารปู, โครงการจัดสร้างปะการังเทียม รวมไปถึงการบูรณาการสร้างสรรค์นำขยะพลาสติกจากแหล่งชุมชนมาคัดแยกเพื่อสร้างเป็นบ้านปลารีไซเคิล รวมทั้งร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พัฒนานวัตกรรมทุ่นกักขยะ หรือ SCG-DMCR Litter Trap ติดตั้งบริเวณปากแม่น้ำเพื่อดักและกักเก็บขยะไม่ให้หลุดลอยไปในทะเล

นับว่าน่าสนใจทีเดียว