กลยุทธ์ “ปลารอบคอบ” นำพา “นาวากิเทล” ผ่านวิกฤตไวรัส

โรงแรมนาวากิเทล ดีไซน์
นาวากิเทล ดีไซน์ โฮเทล

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นวิกฤตหนักสำหรับธุรกิจโรงแรมทั่วโลก ยอดผู้เข้าพักโรงแรมทุกแห่งแทบจะเป็นศูนย์ เนื่องมาจากมาตรการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศ ห้ามผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยว จึงทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมบางส่วนเลือกหยุดกิจการชั่วคราว ในขณะที่ส่วนหนึ่งต่างเร่งหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อหารายได้ในการอุ้มธุรกิจให้อยู่รอด

ซึ่งเหมือนกับโรงแรมน้องใหม่อย่าง “นาวากิเทล ดีไซน์ โฮเทล” (Navakitel Design Hotel) ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองนครศรีธรรมราช ที่ดูเหมือนวิกฤตครั้งนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ และยาก เพราะเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ผ่านมา แต่มาเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2563 หรือก่อนหน้ามหันตภัยไวรัสโควิด-19 เพียงเดือนเดียว

ดังนั้น ภายใต้การดูแลของ “วาริชัย บุญประดิษฐ์” ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ทั้งยังเป็นทายาท “นวกิจ เอสเตท” บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเขาไม่เคยผ่านประสบการณ์การทำงานที่ไหนมาก่อนเลย แถมไม่มีความรู้ด้านการโรงแรมด้วย แต่เมื่อสถานการณ์บังคับให้เขาต้องเร่งหากลยุทธ์ เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ และพนักงานจะต้องอยู่รอด เขาจะทำอย่างไร ?

วาริชัย บุญประดิษฐ์

ตรงนี้เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบเพื่อให้ “วาริชัย” บอกว่า หลังจากที่เรียนจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมก็มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของนาวากิเทล ดีไซน์ โฮเทล ทันที ธุรกิจตรงนี้เป็นธุรกิจของครอบครัว ทั้งยังเป็นธุรกิจโรงแรมครั้งแรกของครอบครัวด้วย เพราะที่ผ่านมาเราเคยทำธุรกิจหลายอย่าง ตั้งแต่โรงสี,โรงภาพยนตร์, ขายวัสดุก่อสร้าง, รับเหมาก่อสร้าง, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และล่าสุดคือธุรกิจโรงแรม

“โดยผมเข้ามาดูแลด้วยความสนใจส่วนตัวที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองนครฯ เพราะเชื่อว่าอีกไม่นานที่นี่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม รองจากเมืองหลักอย่างภูเก็ต และเชียงใหม่ ฯลฯ ดังนั้น จุดเด่นของนาวากิเทล ดีไซน์ โฮเทล คือ มีห้องพัก 68 ห้อง ออกแบบสไตล์ local loft ด้วยการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นของเมืองนครฯมาออกแบบตกแต่งผสมผสานกับความทันสมัย โดยใช้สถาปนิกตกแต่งภายในระดับโลกจาก Jun Sekino Architect and Design ภายใต้งบประมาณถึง 110 ล้านบาท เพื่อเน้นดึงดูดลูกค้ากลุ่มที่ชอบไลฟ์สไตล์ และชอบถ่ายภาพ”

“นาวากิเทลอยู่กันแบบครอบครัวเล็ก ๆ มีพนักงานเพียง 12 คน แบ่งเป็น พนักงานฝ่ายบริการ 5 คน ทีมแม่บ้าน 4 คน ช่าง 1 คน ส่วนผมดูแลเรื่องการตลาด และมีคุณแม่ (สุชาดา นวกิจไพฑูรย์) ดูแลเรื่องบัญชี นอกจากนี้ เรายังมีที่ปรึกษา มีผู้จัดการโรงแรมที่มีประสบการณ์การทำงานมานาน คอยดูแลภาพรวมให้ เพราะเรายังเป็นมือใหม่ จึงต้องการคนที่มีประสบการณ์มาช่วย”

“วาริชัย” เล่าต่อว่า ช่วงที่เปิดโรงแรม ความรู้ด้านโรงแรมเท่ากับศูนย์ทำให้รู้สึกกลัว กังวล ไม่มั่นใจ คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้คนเชื่อเรา และทำงานกับเราได้ และทำอย่างไรถึงจะดูแลโรงแรมให้ดีที่สุด ผมบอกกับตัวเองว่า ความกลัวเกิดจากความไม่รู้ ฉะนั้น ถ้าเราอยากจะเอาชนะความกลัว ทางออกเดียวคือเราต้องรู้ให้ได้ และต้องบังคับตนเองให้ไม่กลัว เพราะเราไม่มีประสบการณ์ จึงต้องหาประสบการณ์เพิ่ม ซึ่งในภาคปฏิบัติอาจต้องใช้เวลาในการศึกษา แต่ถ้าในทางทฤษฎีเราพอจะศึกษาได้ ผมจึงตามเก็บความรู้จากงานอบรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารโรงแรม จนทำให้เราเห็นมุมมองของผู้บริหารหลากหลายคน กระทั่งนำมาปรับใช้จนทำให้ผมก้าวผ่านความกลัวไปได้

“ดังนั้น สไตล์การทำงานของผมจึงยึดความเชื่อว่า พนักงานต้องทำงานกับเราได้ สามารถพูดคุยกับเราได้ ถึงจะไปด้วยกันได้ ขณะเดียวกัน ผมเองต้องการคนที่รับฟังเรา เป็นการทำงานแบบสมัยใหม่ คือ ไม่มีอีโก้ ไม่มีคำว่าอายุ หรือประสบการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เราสามารถแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน และคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง ทำเองทุกอย่าง เราแค่หาคนที่สื่อสารกับเราได้ คุยกับเราได้ เพื่อมาบูรณาการร่วมกัน”

“นอกจากนั้น สิ่งที่ผมให้ความสำคัญกับการทำงานคือ ทัศนคติ มากกว่าความเก่ง และความสามารถ เพราะเชื่อว่าความเก่งต่อเติมกันได้ แต่ทัศนคติปรับยาก เพราะการที่องค์กรจะไปข้างหน้าได้ต้องมีทัศนคติที่พอจะเข้ากันได้ อาจมีขัดกันบ้าง แต่เป็นการขัดเพื่อก่อ”

จนทำให้การบริหารโรงแรมของ “วาริชัย” เริ่มจะเข้ารูปเข้ารอย แต่เมื่อวิกฤตไวรัสโควิด-19 เข้ามาสอนบทเรียนทางธุรกิจให้กับ “นาวากิเทล ดีไซน์ โฮเทล” เขาจึงต้องหยุดทบทวนตัวเอง และเริ่มมองหาหนทางในการแก้เกมทันที แม้เขาจะเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง กอปรกับมีความรู้ทางด้านการตลาดที่ร่ำเรียนมา แต่เมื่อมาเจอประสบการณ์จริง เขากลับไปไม่เป็นเหมือนกัน

“สิ่งที่ทำอันดับแรก คือ สื่อสารกับพนักงานทุกคน ผมปลุกปลอบใจพวกเขาก่อนเลยว่าเราจะต้องไปต่อ และผมจะจ่ายเงินเดือนทุกคนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะทุกคนต่างทำงานหนักมาตลอดตั้งแต่เปิดโรงแรมมา บางคนก็ต้องทำโอที ผมเลยถือโอกาสนี้เป็นโบนัสให้ทุกคน เพียงแต่ขอให้ทุกคนตั้งใจ และช่วงนี้ลูกค้าอาจไม่เยอะ หรือไม่มีเลย แต่อยากให้ทุกคนมาช่วยดูรายละเอียดต่าง ๆ เพราะช่วงผ่านมาเราแทบไม่มีเวลามาดูรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับงานบริการเลย ดังนั้น วิกฤตครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสในการทบทวน และระหว่างทางเราก็หาวิธีปรับตัวไปเรื่อย ๆ”

“เนื่องจากนาวากิเทล ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในประเทศ ด้วยความที่ธุรกิจของเราเปิดได้ไม่นาน ไม่มีสายป่าน หลายคนบอกว่าเราโชคร้ายที่เปิดมาก็เจอวิกฤต แต่ผมมองว่ายังโชคดีที่เราพอจะปรับตัวได้ เมื่อเทียบกับโรงแรมใหญ่ ๆ ที่เปิดมานาน ผมคิดว่าการปิดกิจการแล้วกลับมาเปิดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราจึงตั้งเป้าหมายไม่สูงมาก เนื่องจากปี 2562 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว เราจึงตั้งเพียง 30% ในช่วงแรก แต่แผนต่อไปคือ เราจะค่อย ๆ ทำให้รายได้สูงขึ้น ตรงนี้เป็นการหวังพึ่งดาบหน้า แต่ปรากฏว่าช่วง ม.ค.เราทำได้ 30% ก.พ. 35% แต่พอถึง มี.ค. ลูกค้าไม่มีเลย รายได้หดหาย กราฟดิ่งลงเรื่อย ๆ จนเริ่มไม่มีสภาพคล่อง”

“ตรงนี้ทำให้เราต้องเร่งทำแผนออกมามากมาย พร้อมตั้งโจทย์ว่า ดูสถานการณ์ ดูผลกระทบ และดูว่าผลกระทบเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลูกค้าอย่างไร เพื่อนำมาประยุกต์เป็นแผนรองรับ และนำไปเสนอทุกคน พร้อมกับบอกว่า คิดแล้วต้องทำเลย อย่าช้า เพราะวินาทีนี้เราจะคอยแต่นั่งดูสถานการณ์ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ ที่สำคัญ เราจะรอการเยียวยาจากภาครัฐก็ใช่ว่าจะได้ง่าย ๆ ไม่เช่นนั้นธุรกิจเราแย่แน่ ผมประกาศกับทุกคนเลยว่า จะใช้เวลาในการตัดสินใจกับบางเรื่องนานไม่ได้ คิดแล้วต้องทำเลย แบ่งหน้าที่ของตนเอง วางแผนการเงิน เร่งหารายได้ และลดค่าใช้จ่าย เพื่อไปดูแลส่วนต่าง ๆ พ่อแม่ต้องเข้าไปคุยกับธนาคารเรื่องซอฟต์โลนว่า มีโอกาสจะได้เท่าไหร่ อย่างไร เพราะเรามีหนี้ ส่วนผมกับผู้จัดการ รวมถึงพนักงานก็ช่วยกันประคองค่าใช้จ่าย พร้อมเตรียมแผนรองรับ”

ที่สุดจึงเกิดเป็นสารพัดแคมเปญ เริ่มด้วยกิจกรรม “อาสาดามใจ” ซึ่งเป็นการชวนทุกคนร่วมกิจกรรมแชร์เพจของโรมแรม เพื่อระบายความในใจเกี่ยวกับทริปล่มเพราะโควิด ลุ้นรับตั๋วเครื่องบินไป-กลับฟรี รวมถึงห้องพักฟรี โดยใช้ได้จนถึงสิ้นปี 2564 และเมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น จะมีการปรับแผนธุรกิจใหม่ จากห้องพักรายคืนเป็นห้องพักรายเดือน

ทั้งนั้น เพราะ “วาริชัย” มองว่ายังมีคนที่ต้องการห้องพักสำหรับทำงาน และเว้นระยะห่างทางสังคม เราจึงออกแบบแพ็กเกจรายเดือน เดือนละ 9,500 บาท ทั้งยังให้บริการแบบ one stop service ซึ่งมีกลุ่มบริษัทแห่งหนึ่งคนให้ความสนใจพอสมควร เพราะคนของเขายังต้องทำงานในจังหวัด กลยุทธ์นี้เหมือนเป็นการสร้างรูปแบบการทำงานใหม่ให้กับพนักงานด้วย แต่การทำเป็นห้องพักรายเดือนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงนำกลยุทธ์ early bird มาทำเป็น voucher ในชื่อว่า “อนาคตได้เที่ยว ปัจจุบันได้ช่วย”

“ด้วยการจองห้องพักล่วงหน้าราคาพิเศษ สามารถใช้ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี จนถึงปี 2565 ซึ่งรายได้ 50% เราจะนำไปสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม ปรากฏว่าผลตอบรับช่วงแรกมีลูกค้าให้ความสนใจมาก ที่สำคัญ เรายังนำรายได้ไปสมทบทุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ให้กับ รพ.จุฬาลงกรณ์ และสมทบทุนเพื่อจัดหาอุปกรณ์ดับไฟป่าที่เชียงใหม่กับกองทุนป่าเขาลมหายใจเราบ้างแล้ว และตั้งแต่เดือน พ.ค.จนถึงตอนนี้ยังมีคนจองเรื่อย ๆ โดยมีเป้าหมายต่อไปว่าเราจะนำรายได้ไปสมทบทุนช่วยผู้ป่วยข้างถนน และช้างไทยอีกด้วย”

“ตอนนี้ผมกำลังวางแผนสำรองหากโควิด-19 ระบาดซ้ำอีก เราจะจัดกิจกรรม one stop journey เพื่อนำแหล่งท่องเที่ยวให้มาอยู่ในโรงแรม หรือเที่ยวแบบปลอดภัย ด้วยการพาลูกค้าออกไปเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงการใช้แผนการตลาดที่จะทำให้เรามีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แม้ตอนนี้ภาพรวมของสถานการณ์โควิด และธุรกิจของเราจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผมยังย้ำกับทีมงานอยู่เสมอว่า เราต้องทำงานหนักกันต่อไป เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าหลังโควิดจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ต้องทำคือรักษามาตรฐานการบริการ และแผนทั้งหมดอาจเป็นการเล่นเกมรุกในการหาลูกค้าให้จองโรงแรมเยอะที่สุด เพื่อให้เรามีสภาพคล่อง แต่ทุกคนต้องช่วยกันมาเล่นเกมรับด้วย เพราะถ้ามีลูกค้าเข้ามาแล้ว จะทำอย่างไรให้ลูกค้าติดใจ และอยากกลับมาซ้ำอีก ตรงนี้คือผลลัพธ์ความสำเร็จอีกขั้นของธุรกิจโรงแรม”

“เนื่องจากผมมองว่าขึ้นชื่อว่าวิกฤต ยังไงก็ยาก ถ้าเราเริ่มต้นคิดว่ามันยาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันต้องยากกว่าเดิมแน่ ๆ ดังนั้น เราจึงต้องตั้งสติก่อน เพื่อหาวิธีเอาตัวรอด ที่สำคัญ ผมเคยได้ยินคนในวงการธุรกิจพูดถึงปลาต่าง ๆ เช่น ปลาไวกินปลาช้า, ปลาใหญ่กินปลาเล็ก, ปลามีข้อมูลกินปลาไม่มีข้อมูล แต่โดยส่วนตัวผมมองว่า ไม่ใช่เวลาที่ปลาอะไรจะมากินปลาอะไร แต่ปลาต้องเอาชีวิตรอดด้วยตัวของมันเอง แล้วปลาที่จะสามารถเอาตัวรอดภายใต้วิกฤตครั้งนี้คือ ปลารอบคอบ และมีความละเอียดที่สุด ฉะนั้น เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่ต้องมาแข่งขันกับใคร แต่เป็นการเอาชีวิตให้รอดก่อน”


อันเป็นคำตอบของ “วาริชัย” ผู้ที่เชื่อว่า “ปลารอบคอบ” น่าจะทำให้เขาผ่านมหันตภัยไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้ในที่สุด