UNGC เปิดเวทีผู้นำ ฟื้นฟูโลกหลังวิกฤตโควิด-19

งานสัมมนา UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020

United Nations Global Compact (UNGC) หรือความร่วมมือของภาคเอกชนแห่งสหประชาชาติเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้จัดงาน UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020 ซึ่งเป็นงานสัมมนาด้านความยั่งยืนระดับโลกในวาระครบรอบ 20 ปี โดยจัดงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และเผยแพร่ทั่วโลกเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ social distancing ที่ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโรคโควิด-19 (COVID-19)

งานสัมมนาดังกล่าวรวบรวมสุดยอดผู้นำระดับโลกกว่า 200 ท่าน ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ และมุมมองธุรกิจบนรากฐานของความยั่งยืนให้ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากวิกฤตโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “Recover Better, Recover Stronger, Recover Together” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 15,000 คน จาก 193 ประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ UN Global Compact ในการฟื้นฟูโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม ตลอดจนเพื่อบรรลุผลสำเร็จการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) 17 ข้อ ภายในปี 2573″

ในช่วงพิธีเปิดงาน UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020 เริ่มต้นด้วยการเสวนาในหัวข้อ “Reflections on Change & Roadmaps to Recovery” หรือ “การทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมปูทางสู่การฟื้นตัว” โดยมี “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนภาคธุรกิจไทยร่วมพูดคุยกับ “คลาร่า อาภา อโซฟรา” ซีอีโอ ARPA Equipos Moviles de Campana จากประเทศสเปน, “ฟิลลิป เจนนิงส์” อดีตเลขาธิการ UNI Global Union และ “คาร์มานี เรดดี้” นักพัฒนานวัตกรรมด้านความยั่งยืน บริษัท Distell จากประเทศแอฟริกาใต้ โดยมี “เฟมิ โอคิ” ผู้สื่อข่าวระดับนานาชาติ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

“ศุภชัย” กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนจะเป็นความท้าทายใหม่ของโลก และถึงแม้วิกฤตครั้งนี้สร้างผลกระทบเชิงลบมากมายต่อหลายภาคส่วน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ปลุกให้ภาคธุรกิจตื่นตัวและเร่งเครื่องสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเร็วขึ้น และเป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงใหม่

“ภาคธุรกิจต้องนำบทเรียนที่ได้จากวิกฤตโควิด-19 มาใช้เป็นกลยุทธ์ธุรกิจและดำเนินงานอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในฐานะผู้นำองค์กร สิ่งที่ผมให้ความสำคัญในการบริหารงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา คือ การดูแลพนักงาน โดยเน้นความมั่นคงในการทำงานด้วยการไม่ปลดพนักงาน แต่เน้นการปรับทักษะในการทำงานและสร้างงานใหม่ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น อีคอมเมิร์ซ รวมถึงการให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโควิด-19 ในขณะเดียวกันบริษัทมีบทบาทส่งเสริมความโปร่งใสผ่านการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกที่มีอยู่ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับที่บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลเรื่องบรรษัทภิบาล

ผู้นำในวันนี้ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) และมีจิตสำนึกด้านความยั่งยืน ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ และที่สำคัญคือ เห็นความสำคัญของการร่วมมือ เพราะความยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากเราทำเพียงลำพัง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการสร้างพันธมิตร ความร่วมมือแบบประชารัฐ (public private partnership) อันเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

“คลาร่า อาภา อโซฟรา” กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย จึงทำให้การหาวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดเป็นเรื่องยาก ดังนั้นหนทางที่จะทำให้แต่ละประเทศอยู่รอดได้คือ การปรับปรุงมาตรการให้เหมาะกับสถานการณ์ และปรับเปลี่ยนข้อตกลงทางสังคมระหว่างภาคเอกชน ต้องมุ่งเน้นประโยชน์อย่างยั่งยืน ลดความเห็นแก่ตัว ที่สำคัญเราต้องคิดใหม่ rethink ด้านวิธีการผลิตและการบริการ ต้องการทำในแบบที่ยั่งยืน ต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม

“ในระดับองค์กร ต้องมี 4 ส่วนสำคัญที่เป็นตัวพยุงให้ธุรกิจก้าวต่อไปได้คือ หนึ่ง ธรรมาภิบาล (good governance) ทุกองค์กรจำเป็นต้องมี นอกจากนี้ยังหมายถึงการบริหารจัดการที่ดีด้วย สอง มีการตรวจเช็ก roadmap ขององค์กรอยู่เสมอ สำหรับ ARPA Equipos Moviles de Campana เรามีกี่รายทำ roadmap book ที่ปรับทุก 6 เดือนให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันของโลก สาม การพัฒาองค์ความรู้และทักษะของบุคลากร ด้วยการจัดเทรนนิ่งบ่อย ๆ เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าในอดีต องค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุก 4 เดือน เราจึงต้องคอยติดตามดูแลพนักงาน และติดตามผลการเปลี่ยนแปลงของพนักงานหลักจากเทรนนิ่งเสมอ สี่ ต้องจับมือกับพันธมิตรผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakehold-ers) ในการส่งเสริมความรับผิดชอบทางสังคมและความยั่งยืน”

ในขณะที่ “ฟิลลิป เจนนิงส์” กล่าวถึงการส่งเสริม racial economic and social justice (เศรษฐกิจที่ว่าด้วยเรื่องเชื้อชาติ และความยุติธรรม) ในสหรัฐอเมริกาว่า จากเหตุการณ์ล่าสุดที่โด่งดังไปทั่วโลก เกี่ยวกับการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวสี ที่ถูกใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุโดยตำรวจ จนเป็นเหตุให้เขาเสียชีวิต และมีคนออกชุมนุมทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรงของตำรวจ

“โดยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จำเป็นต้องมีสัญญาประชาคม (social contract) ใหม่ เพื่อเป็นการแสวงความตกลงและทางออกของปัญหาที่มีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งหากปล่อยไว้อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม และเราจะไม่สามารถฟื้นความยุติธรรมได้ ปัญหาพื้นฐานที่มีมาตลอดคือ หลายคนขาดการเคารพและให้เกียรติกันในสังคม ถ้าสหภาพที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ และไม่ยอมมีการเจรจาตกลง เราจะฟื้นความยุติธรรมด้านเชื้อชาติได้อย่างไร”

เมื่อหันมามองภาคส่วนที่รองมาจากระดับประเทศอย่างภาคธุรกิจ โดยภาคธุรกิจในสหรัฐอเมริกา 80% บอกว่าตนเองมีนโยบายด้านแรงงานที่เป็นธรรมแล้ว แต่มีเพียง 18% เท่านั้นที่ปฏิบัติตามนโยบายนั้นอย่างแท้จริง โดยที่กล่าวมานี้รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นที่รู้จักดีทั่วโลกด้วย ดังนั้น องค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องเข้าใจกระทำที่เป็นเอกภาพก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสหภาพแรงงาน ถึงจะทำให้เราสร้าง social contract ได้ โดยอาจเริ่มจากการปรับค่าครองชีพที่เป็นธรรมให้กับพนักงานทุกคนขององค์กรที่เป็นสมาชิก United Nations Global Compact ซึ่งมีมากถึง 13,000 แห่ง และเครือข่ายท้องถิ่นมากกว่า 60 แห่ง ใน 160 ประเทศ

ด้าน “คาร์มานี เรดดี้” กล่าวชื่นชมที่ภาคธุรกิจรวมตัวกัน แทนที่จะหาวิธีแข่งขันกันเพื่อผลกำไร แต่มาร่วมมือกันเพื่อต่อสู้ให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 โดยในประเทศแอฟริกาใต้โฟกัสเรื่ององค์กรที่ดูแลความเป็นอยู่ด้านสุขภาพของคน และเน้นให้ความช่วยเหลือกับชุมชนที่อ่อนแอ

“การเกิดวิกฤตในครั้งนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า ทั่วโลกควรต้องมีมาตรการด้านสุขภาพที่รองรับการรับมือกับโรคติดต่อร้ายแรงเช่นนี้ล่วงหน้า เพราะเมื่อมีปัญหาคล้าย ๆ กันเกิดขึ้น เราจะได้รู้ว่าควรทำอย่างไร เพราะการใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ท่ามกลางวิกฤตต้องทำอย่างรวดเร็ว โดยที่ประเทศแอฟริกาใต้ เรามีเวลาน้อยกว่า 1 อาทิตย์ที่จะเรียนรู้และออกกลยุทธ์รับมือกับปัญหานี้”

นอกจากนั้น ทุกภาคส่วนต้องส่งเสริมกันในการเข้าถึง SDGs ในระดับบริษัทต้องเน้นไปที่เรื่องมุมมองตั้งแต่ระดับผู้บริหารที่ต้องเชื่อมโยงกับความยั่งยืน พนักงานทุกคน ทุกระดับ รวมไปถึงนักศึกษาฝึกงานด้วย ที่เราต้องสอนให้พวกเขาเรียนรู้มากกว่าเรื่องการทำงาน โดยต้องรู้ธุรกิจที่มีแนวทางปฏิบัติตามความยั่งยืนด้วย

นับเป็นความสมัครสมานและความร่วมมือกันจากองค์กรธุรกิจทั่วโลกในการแสดงความรับผิดชอบจะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างข้อตกลงระดับโลกเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นและแข็งแกร่งกว่าเดิม