8 แนวทาง ฟื้นธุรกิจหลังโควิด-19

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นด้านการจัดการ และให้บริการปรึกษา รวมไปถึงด้านการวิจัยพัฒนาแก่องค์กร จึงจัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “ฟื้นธุรกิจหลัง COVID-19 ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์” เพื่อให้องค์กรไทยเรียนรู้และเตรียมพร้อมปรับกลยุทธ์ หลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยมี “อ.จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนวัตกรรม สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นผู้ให้ความรู้

“อ.จำลักษณ์” กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายองค์กรไม่ประสบความสำเร็จจากนโยบายเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (digital transformation) แม้ว่าจะส่งคนไปอบรม ลงทุนนำไอทีและระบบดิจิทัลมาใช้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 คนไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นประชากรออนไลน์ หันมาพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานก้าวไปทีละขั้น จากยอมรับสู่ปรับใช้ และท้ายที่สุด คือ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่นอกเหนือจากการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล ยังมีอีกหลายด้านที่แต่ละองค์กรควรทำจากการศึกษาผลสำรวจและวิจัยของ Wavepoint, BGC และ McKinsey สถาบันเพิ่มฯได้คัดเลือก 8 สิ่งที่องค์กรไทยควรทำ เพื่อรับมือกับโควิด-19 ดังนี้

หนึ่ง คัดสรรผลิตภัณฑ์ด้วยเหตุผล แน่นอนว่าแต่ละองค์กรเผชิญกับเรื่องยอดขายลดลงในช่วงวิกฤตโควิด-19 รวมถึงต้นทุนการผลิตอาจจะเพิ่มขึ้น จึงควรมุ่งเน้นสินค้าและบริการที่ยังพอทำรายได้ ลดการพึ่งพิงวัตถุดิบจากแหล่งเดิมที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นจะต้องจัดลำดับความสำคัญไลน์การผลิตที่ยังมีกำไร ยังมีตลาดส่งออกได้ เพื่อขยายการค้าในประเทศให้ได้มากที่สุดก่อน

สอง ลงทุนด้านนวัตกรรม บางธุรกิจมีแผนเลิกจ้างพนักงาน แต่อยากให้องค์กรพยายามพยุงคนให้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยมุ่งเน้นสร้างวัฒนธรรมร่วมด้วยช่วยกัน ใช้ทุนทางปัญญาและความสามารถของพนักงานเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ นอกจากนั้น ผลจากที่หลายองค์กรลงทุนด้านนวัตกรรมมาก่อน จะเป็นประโยชน์อย่างมากหลังวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุด

สาม มุ่งสู่ออนไลน์และดิจิทัล ถึงวิกฤตครั้งนี้จะสร้างความยากลำบากให้ทุกภาคส่วน แต่นับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เริ่มจากกระบวนการขาย และการตลาดออนไลน์ จากนั้นจึงขยับสู่กระบวนการทำงานภายใน ส่วนการประยุกต์ใช้คลาวด์ ทำให้หลายองค์กรพบว่าการทำงานที่บ้านได้ผลดี ไม่ต่างจากการให้พนักงานเดินทางมาทำงานที่สำนักงาน

สี่ ลงทุนด้านผลิตภาพ นอกเหนือจากการสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลเพื่อหลีกหนีการโดนดิสรัปชั่นแล้ว การปรับเปลี่ยนระบบงานภายในสู่ระบบดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ จะทำให้บริษัทแข่งขันได้ในตลาดเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ห้า สื่อสารกับลูกค้าอย่างเปิดเผยถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยและการป้องกันโควิด-19 ขององค์กร เพราะเป็นช่วงที่ทุกคนทั้งลูกค้า และพนักงานมีความกังวลใจ ดังนั้น การสร้างความมั่นใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งเรื่องการคัดกรองคน และการทำความสะอาดสถานที่ นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่า มีหลายองค์กรส่งอีเมล์ หรือทำอินโฟกราฟิกแจ้งลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจสิ่งที่องค์กรกำลังปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

หก ดูแลเอาใจใส่พนักงาน เริ่มจากสื่อสารแนะนำวิธีปฏิบัติให้กับพวกเขา กระตุ้นให้พนักงานใส่อุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ สวมถุงมือถ้าจำเป็น และควรมีการทำประกันสุขภาพให้พนักงานด้วย

เจ็ด ให้ความช่วยเหลือชุมชนรอบ ๆ เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างความจดจำที่ดีของชุมชนต่อองค์กร สิ่งใดที่องค์กรมีศักยภาพเพียงพอช่วยเหลือได้ก็ควรแบ่งปัน เช่น สิ่งของ หรือขยับเปลี่ยนไลน์การผลิต ให้ไปผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อสังคม

แปด คิดไปข้างหน้า ไม่มีวิกฤตใดที่คงอยู่ถาวร โควิด-19 ก็เช่นกัน เมื่อไรก็ตามที่วงการแพทย์สามารถคิดค้น และผลิตวัคซีนได้สำเร็จ ทั่วโลกจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติ การค้าและการแข่งขันก็จะกลับมาเป็นดังเดิม ดังนั้น แผนฟื้นฟู (recovery plan) จะต้องจัดทำไว้ล่วงหน้า

นับเป็นแนวทาง 8 ข้อ ที่พอจะช่วยให้แต่ละองค์กรเห็นภาพการต่อสู้กับวิกฤตครั้งนี้ได้