“จุฬาฯ” ใน “ความปกติใหม่” “ดึงคนทั่วโลก-สร้างนวัตกร-มุ่ง SDGs”

ในภาวะที่ทั่วโลกเผชิญกับมหันตภัยไวรัสโควิด-19 แน่นอนว่าแม้แต่แวดวงการศึกษายังหลีกหนีไม่พ้น จนกลายเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ระบบการศึกษาทั่วโลกมีการปรับ-รื้อโครงสร้างอะไรบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งการมองหารูปแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ เพื่อให้ทันสู่การเป็นนิวนอร์มอลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะมิติของการนำเทคโนโลยีมาใช้กับระบบการเรียนการสอนมากขึ้น

ซึ่งเหมือนกับ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ที่มีการปรับตัว โดยการนำรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์เข้ามาปรับใช้เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วโลก ภายใต้โจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้นิสิต และบุคลากรของจุฬาฯเข้าถึง และเรียนรู้ไปด้วยกัน จนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

เบื้องต้น “ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมุมมองที่มีต่อการศึกษาไทยในกระแสนิวนอร์มอลว่า การศึกษาไทยกำลังปรับตัวอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางยุคสมัยที่เราสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ได้ง่ายผ่านการใช้เทคโนโลยี ซึ่งในมิตินี้ นิสิตทุกคนต้องสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเรียนการสอนแบบเดิม คือ นำความรู้ทั่วไปมาสอน หรือมาเล่าให้นิสิตฟัง ซึ่งแบบนั้นล้าสมัยไปแล้ว และอาจทำให้คุณค่าของความเป็นมหาวิทยาลัยลดน้อยลง

“จุฬาฯจึงตั้งเป้าหมายว่า ทำอย่างไรจะนำความรู้ที่เข้าถึงโดยง่ายนี้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง อย่างแรก จุฬาฯต้องสร้างความชำนาญ หรือ skillset ใหม่ให้แก่นิสิต และอาจารย์ คือ เปลี่ยนจากการเรียนการสอน ไปเป็นการเรียนรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตเข้าถึงความรู้ทุกที่แบบไม่มีข้อจำกัด ที่สำคัญ คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จะต้องเข้าใจคำว่า personalization ด้วย เพราะความสามารถในการเรียนรู้ของแต่ละคนแตกต่างกัน”

“ดังนั้น อาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนที่เคยชี้นำ มาสู่การเป็นผู้สนับสนุนและให้คำแนะนำแก่นิสิต และนิสิตเองต้องไปศึกษาความรู้ตามระดับความสามารถในการรับรู้ของตน ยกตัวอย่าง เช่น เดิมนิสิตเรียนบทที่ 1 ต้องใช้เวลาเรียน 3 ชั่วโมง แต่ในขณะที่ความสามารถในการเรียนรู้ของนิสิตบางคนอาจใช้เวลากับบทที่ 1 ไม่เท่าผู้อื่น ฉะนั้น การเรียนรู้แบบนิวนอร์มอลจึงต้องเปิดโอกาสให้นิสิตเรียนรู้ตามระดับความสามารถของตนเอง”

“อีกทั้งการเรียนออนไลน์ก็ทำให้เกิดความยืดหยุ่นได้ ไม่จำเป็นจะต้องเรียนตามลำดับ บทที่ 1, 2, 3 ถ้าอยากเรียนบทที่ 5 ก่อนก็ให้นิสิตเรียนได้เลย ยกตัวอย่าง เช่น พวกเขาอยากเรียนเรื่องวัฒนธรรม ถ้านิสิตอยากเรียนวัฒนธรรมตะวันตกก่อนก็ให้เขาเรียนได้ก่อน จากนั้นถ้าจะกลับมาเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมไทย หรือวัฒนธรรมเอเชีย เขาก็สามารถทำได้”

นอกจากนั้น “ศ.ดร.บัณฑิต” ยังฉายภาพให้ฟังเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในปัจจุบันที่จะต้องปรับบทบาทของตนเองเช่นกัน เนื่องจากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง จำนวนนิสิต-นักศึกษาน้อยลง ดังนั้นเมื่อตลาดเดิมน้อย เราจึงต้องหาตลาดใหม่ ด้วยการสร้างคุณค่า สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา ถ้าสร้างได้ก็จะสามารถหาตลาดอื่นได้ด้วย ด้วยการดึงกลุ่มคนใหม่ ๆ เข้ามาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยได้ เช่น อาจมีคนที่เกษียณอายุจากทำงานแล้ว สนใจอยากมาเป็นส่วนหนึ่งในรั้วจุฬาฯ เราก็ต้องมองหาหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้ามา ทั้งนั้นเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคนยุคใหม่ หรืออีกทางหนึ่งคือต้องเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม หรือการทดสอบเดิมที่เคยใช้กันมาเป็น 10-20 ปี โดยไม่ต้องรอให้นิสิตเรียนจบแล้วค่อยออกไปฝึกปฏิบัติภายนอก แต่พวกเขาสามารถฝึกกันตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย

“วันนี้คำว่านิวนอร์มอลทำให้กระบวนการศึกษาเปลี่ยน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมีเสียงส่วนหนึ่งมองว่า นิวนอร์มอลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้การศึกษาไทยเปลี่ยนยาก ผมเชื่อว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำส่วนใหญ่เป็นเรื่องของวัตถุ เช่น ไม่มีโทรศัพท์, แท็บเลต, คอมพิวเตอร์ ฯลฯ แต่กระแสนิวนอร์มอลจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในเชิงของความคิด, การเรียนรู้, เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงแหล่งข้อมูลดีที่สุดของสถาบันต่าง ๆ เพื่อหวังลดความเหลื่อมล้ำของคนไทย อย่างจุฬาฯมีแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ Chula Mooc ที่มีคนเข้ามาใช้บริการแล้วมากกว่า 3 แสนราย ฉะนั้นถ้าถามว่า อุตสาหกรรมการศึกษาเป็นอย่างไร ต้องบอกว่า การศึกษาทั่วโลกมีการตื่นตัว และมีความพร้อมรอบด้านแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีทางการศึกษา”

“อย่างไรก็ดี ด้วยการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ส่งผลให้จุฬาฯติดท็อป 100 ในอันดับ 96 ของมหาวิทยาลัยโลกที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการ ซึ่งการติดท็อป 100 มหาวิทยาลัยโลก เป็นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น เพราะถ้าเราอยากรับนิสิตต่างประเทศ ก่อนอื่นเขาจะดูอันดับชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยก่อน”

แต่กระนั้น การจะรักษาอันดับจะต้องพัฒนาสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายในการเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยยึด 3 แกนหลักประกอบกัน คือ

หนึ่ง คน เราตั้งเป้าหมายว่าบัณฑิตจุฬาฯจะต้องมีความสามารถด้านวิชาการ มีทักษะทันสมัยในศตวรรษที่ 21 ทั้งยังจะต้องมีความเป็นผู้นำ นอกจากนั้น เรายังให้ความสำคัญกับการสรรหาบุคลากร (recruitment) เพื่อเข้ามาร่วมงานกับจุฬาฯ

“อย่างหลักสูตรอินเตอร์ชื่อสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn School of Integrated Innovation) ที่เราเปิดใหม่ ปีนี้กำลังเข้าสู่ปีที่ 2 จัดตั้งขึ้นโดยเน้นการบูรณาการศาสตร์สาขาวิชาด้านศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาบัณฑิตที่มีสมรรถนะของศตวรรษที่ 21 ในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้นำแห่งอนาคต โดยมีการตั้งเป้าบุคลากรต่างประเทศ 70% เพื่อไปสู่ international program ไม่ใช่ English program เราจึงมีนโยบายรับสมัครคนจากทั่วโลก โดยเราเป็นผู้คัดเลือกเอง”

“ผมเชื่อว่าการหาคนจากทั่วโลกมาร่วมงาน ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เนื่องจากเดิมใช้วิธีเขียนจดหมายไปหาที่ปรึกษา (advisor) เพื่อช่วยหาคนให้ นั่นเป็นวิธีแบบโบราณ กว่าจะได้คนช้าไป เพราะเทคโนโลยีด้านการศึกษาพร้อมหมดแล้ว ดังนั้นถ้าเราจะหาคนจากทั่วโลกก็แค่จ่ายเงินให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ จากนั้นเราก็ทำการคัดเลือกคนมาร่วมงานด้วย เพียงแต่หลักสูตรนี้ต้องให้รายได้ในอัตราที่สูงกว่าบุคลากรคณะอื่น ๆ”

“ดังนั้น ถ้าเราต้องใช้เครื่องมือใหม่ ๆ เพราะในโลกการศึกษาเปลี่ยนไปมาก หรือถ้าอยากจะหาลูกศิษย์ต่างประเทศไม่จำเป็นต้องหาเอง เพราะตอนนี้มีออนไลน์แพลตฟอร์มเพื่อรับนิสิตที่มีความรู้ ทั้งยังมีคอนเทนต์ต่าง ๆ มากมายตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นคอร์สให้ลงเลือกเรียน”

สอง องค์ความรู้นวัตกรรมของจุฬาฯ เนื่องจากต่อไปเราจะไม่เป็นเพียงแค่สิ่งประดิษฐ์ในห้องเรียน แต่นวัตกรรมของจุฬาฯจะต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้ แก้ปัญหาจริง เป็นที่นิยมของผู้ใช้งาน และที่สำคัญคือขายได้ หรือมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ด้วย ที่สำคัญจะต้องมีการสร้างรากฐานนวัตกรไทย ด้วยการเปิดพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ SID หรือ Siam Innovation District ให้เป็นศูนย์รวมการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และนวัตกรรมของประเทศ โดยใช้ 3 ส่วนผสมระหว่างภาคมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนเรื่องบุคลากร, เอกชน (ผู้ให้เงินสนับสนุน) และรัฐบาลให้เงินลงทุน เป็นพื้นที่สำหรับการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

สาม สังคมไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากมีการกำหนด “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “sustainable development goals (SDGs)” เป็นหลักคิดในการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั้งด้านที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม, สาธารณูปโภค และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ผลเช่นนี้ จึงทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลายเป็นมหา”ลัยต้นแบบทางด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

ที่ไม่ธรรมดาเลย