80บริษัทจี้แก้ล็อกส่งออกแรงงาน โวยรัฐรวบโควตา-ค่าหัวคิวเว่อร์

แรงงานก่อสร้าง

จี้รัฐเลิกผูกขาดส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศ ปลดล็อกกฎหมายจัดสรรโควตาให้ 80 บริษัทจัดหางานไทย เอกชนชง 3 ข้อเสนอกระทรวงแรงงาน นำร่องที่อิสราเอลก่อนใช้เป็นต้นแบบส่งออกแรงงานไปประเทศอื่น ชี้จัดส่งแรงงานแบบจีทูจีทำชอบกล เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเว่อร์หัวละ 8 หมื่น

แนวโน้มสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย บวกกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กระทรวงแรงงานเร่งจัดหางานรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ไม่ว่าจะเป็นตลาดแรงงานในต่างประเทศ เป็นที่มาให้กระทรวงแรงงานจัดประชุมหารือเกี่ยวกับตลาดแรงงานช่วงวันหยุดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเตรียมแผนจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เปิดรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของบริษัทจัดหางานกว่า 80 บริษัท โดยมี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในที่ประชุม โดยบริษัทจัดหางานได้ทวงถามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการส่งออกแรงงานไทยที่ถูก “แช่แข็ง” ยาวนานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

กฎหมายจำกัดสิทธินายหน้า

แหล่งข่าวจากบริษัทจัดหางานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นหลักที่บริษัทจัดหางานเอกชนเสนอกระทรวงแรงงานพิจารณาในที่ประชุมคือ ขอให้ภาครัฐแก้ไขกฎระเบียบในการส่งออกแรงงาน 3 ข้อ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกแรงงานไปต่างประเทศต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการส่งแรงงานในประเทศอิสราเอล ซึ่งที่ผ่านมากรมการจัดหางานดำเนินการเองทั้งหมด ประกอบด้วย 1) ขอให้พิจารณาทบทวนและเพิกถอนการออกประกาศเรื่องการจดทะเบียนเป็นคู่ค้า ผู้รับอนุญาตจัดหางานไทยและผู้รับอนุญาตจัดหางานอิสราเอล ที่กำหนดให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานไทย และผู้รับอนุญาตจัดหางานอิสราเอลต้องจดทะเบียนเป็น “คู่ค้า” กัน และกำหนดสัดส่วนการเป็นคู่ค้า ให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานอิสราเอลหนึ่งรายต่อผู้รับอนุญาตจัดหางานไทยไม่เกิน 3 ราย

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวบริษัทจัดหางานมองว่า เป็นการออกประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ เลือกปฏิบัติ ไม่ส่งเสริมการค้า การลงทุน ทำให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานอิสราเอลต้องย้ายไปดำเนินธุรกิจในประเทศอื่นแทน เช่น เวียดนาม, เมียนมา, จีน, กัมพูชา, เนปาล และอินเดีย เป็นต้น ที่สำคัญประกาศฉบับนี้ไม่ได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา จึงไม่น่านำมาบังคับใช้ ในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้ใดได้

แรงงานไทยอ่วมค่าใช้จ่ายจิปาถะ

2) แก้ปัญหาการจัดส่งแรงงานไทยในรูปแบบ G to G (government to government) แต่กลับมีการเก็บค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน หรือ TIC (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers) ที่กรมการจัดหางาน เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้แรงงานในการเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในอิสราเอลรวม 70,000-80,000 บาท/ราย ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียม, การทำหนังสือเดินทาง, ค่าตรวจสุขภาพ, ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเฉพาะเที่ยวไป ซึ่งเฉลี่ยค่าตั๋วเครื่องบินอยู่ที่ 25,000 บาท, ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนทำงานไปทำงานต่างประเทศ และค่าธรรมเนียมตรวจสอบประวัติอาชญากรรม (CID)

“นอกจากนี้เมื่อเดินทางถึงอิสราเอลยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมจัดหางานที่ต้องจ่ายให้บริษัทจัดหางานของอิสราเอล จ่ายเงินให้องค์กรเอกชน รวมถึงองค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหางานในอิสราเอลอีก 42,000 บาท ไม่ได้รวม ‘ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ’ คือ ค่าบัตรโดยสารเที่ยวบินกลับจากอิสราเอลมาไทย ซึ่งต้องจ่ายในวันที่คนงานหมดสัญญาจ้างและไม่ทำงานต่อ โดยจ่ายโดยตรงให้กับสายการบิน รวมถึงค่าเดินทางจากภูมิลำเนาของผู้หางานมากรุงเทพฯ, ค่าอาหารและค่าที่พักในกรุงเทพฯในระหว่างคัดเลือกแรงงาน ทั้ง ๆ ที่จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งกรมการจัดหางานคือการดูแลจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ”

รัฐทำธุรกิจแข่งเอกชนไม่ได้

3) ในการจัดหาแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศโดยหน่วยงานรัฐนั้น เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าภาครัฐจะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะเป็นการทำธุรกิจเพื่อแข่งขันกับภาคเอกชน จึงเสนอให้กรมการจัดหางานใช้วิธีให้บริษัทรับจัดหางานเข้ามาร่วมดำเนินการคู่ขนานกันไปด้วย โดยเฉพาะขณะนี้ที่กรมการจัดหางานต้องหาผู้ช่วยในการประสานงานการจ้างงานเอง เนื่องจากพันธมิตรองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM (International Organization For Migration) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nation) ได้ขอถอนตัวจากการเป็นผู้ประสานงานในการจัดหาแรงงาน จึงควรจัดโควตาเพื่อให้บริษัทจัดหางานไทยเข้าร่วมดำเนินการ เพราะในปัจจุบันแรงงานไทยเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจเกษตรกรรมในอิสราเอล จากนั้นจะใช้เป็นโมเดลต้นแบบส่งออกแรงงานไทยไปประเทศอื่น ๆ ด้วย

ส่งออกแรงงานไม่ถึง 5%

ด้านนางสาวอรัญญา สกุลโกศล นายกสมาคมการจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศ ระบุว่า หากภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศกระทรวงแรงงานต้องเร่งปรับกลยุทธ์ในการส่งออกแรงงาน ด้วยการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะปัจจุบันการส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศยังมีน้อยมาก เฉพาะในส่วนของเอกชนอยู่ที่ประมาณ 5% เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกโดยหน่วยงานรัฐ ทางแก้ทำได้โดยเปิดโอกาสให้บริษัทจัดหางานที่ดำเนินการอย่างถูกต้องได้รับจัดสรรโควตาส่งออกแรงงาน แทนที่จะดำเนินการโดยภาครัฐ ซึ่งบุคลากร และผู้ที่เชี่ยวชาญด้านตลาดต่างประเทศอาจยังไม่เชี่ยวชาญในแง่การประสานงานประเทศที่ต้องการแรงงานไทย ทั้งนี้ หากกระทรวงแรงงานรับข้อเสนอ ด้วยการปรับแก้กฎระเบียบที่เป็นปัญหา การส่งออกแรงงาน ซึ่งแต่ละปีหน่วยงานรัฐไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายที่ 100,000 คนต่อปีจะหมดไป รัฐจะมีรายได้จากการส่งออกแรงงานปีละมหาศาล