CSR ในวันที่ “โลกส่งเสียงเตือน”

สถานการณ์ การระบาดของไวรัสโคโรน่า โควิด-19 วันนี้
ภาพ: STR/AFP
คอลัมน์ CSR Talk

โดย ธัชรินทร์ วุฒิชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

 

ตั้งแต่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตโควิดอย่างเต็มตัว ทุกคนร่วมใจกันสู้กับไวรัสที่มองไม่เห็นด้วยวิธีการต่าง ๆ เราเจอทั้งความวุ่นวาย สับสน และ “ความไม่รู้”

จนต้องตั้งคำถามว่าเราควรทำตัวอย่างไร ? องค์กร CSR ควรดำเนินการอย่างไร ?

สิ่งที่องค์กรรู้ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กร และสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น องค์กรจึงสามารถจัดการกับปัญหาและผลกระทบ ด้วยมาตรการด้านต่าง ๆ ได้ไม่ยากนัก จากความรู้ และประสบการณ์ที่มี โดยเฉพาะองค์กร CSR ก็จะให้ความสำคัญกับการดูแลในส่วนนี้อยู่แล้ว ที่เรียกว่า CSR in process

แต่กับกรณีของวิกฤตโควิด-19 ซึ่งรุนแรง และส่งผลกระทบไปทั่วโลก เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในทุกระดับ ถึงแม้ว่าภาคธุรกิจจะไม่ใช่ตัวการที่ทำให้เกิดปัญหา แต่เราต้องเจอผลกระทบเหมือนกัน จึงทำให้เห็นว่า CSR after process มีความสำคัญมาก และเราต้องสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับวิกฤตนี้จึงจะประสบความสำเร็จได้

โควิด-19 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น โดยที่องค์กรไม่สามารถควบคุมได้ ที่สำคัญคือเราไม่รู้ล่วงหน้าว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้น จึงเป็นความยากลำบากที่ทุกองค์กรพบเจอในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้

“ความไม่รู้” ทำให้เราต้องคาดเดาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น

“ความไม่รู้” ทำให้เราไม่แน่ใจถึงสิ่งที่ควรจะทำ

ผมคิดว่าไม่น่าจะมีแผนงาน CSR ของบริษัท หรือองค์กรไหนระบุถึงกิจกรรมที่แก้ปัญหาโควิด แต่เมื่อโควิดกลายเป็นวาระแห่งชาติ และสังคมต้องการความร่วมมือร่วมใจ กิจการเพื่อสังคมจึงต้องปรับแผน ปรับตัว องค์กรที่พอจะมีกำลังและศักยภาพก็ออกมาแสดงน้ำใจให้สาธารณะ ถึงแม้ว่าตัวเองจะเจอผลกระทบที่ไม่เบาเหมือนกัน

ผ่านมาแล้ว 2 เดือน เราเห็นกิจกรรม CSR ของบริษัทต่าง ๆ ออกมา เมื่อมีประสบการณ์เราก็เกิดบทเรียนที่น่าบันทึกเอาไว้ จึงขอรวบรวม 4 สิ่งที่กิจการเพื่อสังคมได้ดำเนินการ คือ

1.การดูแลพนักงานด้วยมาตรการคัดกรอง ปรับสถานที่ทำงานให้มีระยะห่างสำรวจและดูแลสุขภาพของพนักงานโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง สิ่งนี้ถือเป็นพื้นฐานที่องค์กรต้องดำเนินการ เพราะแสดงถึงความใส่ใจต่อพนักงานและลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด

2.เป็นพลเมืองที่ดี โดยการให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆที่รัฐออกมา เช่น กำหนดนโยบายให้ทำงานจากที่บ้าน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ” การปรับรูปแบบการให้บริการตามมาตรการ social distancing

3.ช่วยเหลือสังคมในจุดที่มีปัญหา วิกฤตครั้งนี้ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยเจอผลกระทบเต็ม ๆ และถือเป็นป้อมปราการสำคัญที่จะต่อสู้กับวิกฤต เราจึงเห็นภาคเอกชนจำนวนมากแสดงน้ำใจบริจาคเงิน อุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ชุด PPE

บางองค์กรคิดค้น ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีอย่าง หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย แอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับโควิดและห้องความดันลบ ตัวอย่างการช่วยเหลือหนึ่งที่ผมประทับใจ คือ หนังสือการ์ตูนอย่างขายหัวเราะเสนอตัววาดการ์ตูนฟรี เพื่อให้ความรู้การดูแลและป้องกันตัวเองจากโควิด-19 เห็นถึงความจริงใจที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือจริง ๆ

4.ร่วมสร้างสรรค์อนาคต คำว่า new normal หรือวิถีชีวิตแบบใหม่ จะเป็นโจทย์ที่องค์กรต้องใช้ในการออกแบบกระบวนการทางธุรกิจ และ CSR ขององค์กร ให้รูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ดำเนินต่อไป โดยระบบเศรษฐกิจไม่หยุดชะงัก แต่ก็ไม่ทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงจนเป็นภาระของระบบสาธารณสุข

เราเห็นห้างสรรพสินค้ามีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ มากมายเพื่อให้ผู้ใช้บริการปลอดภัย เราเห็นสถานศึกษา, พิพิธภัณฑ์ หรือแม้แต่เอกชนบางราย เปิดการสอนออนไลน์ ใช้เทคโนโลยีอย่าง virtual reality ให้คนมาชมพิพิธภัณฑ์ หรือชมคอนเสิร์ตเพื่อความบันเทิงจากที่บ้านขณะล็อกดาวน์

“บิลล์ เกตส์” เคยกล่าวไว้ใน Ted Talk เมื่อปี 2015 ถึงสงครามยุคใหม่ที่สามารถคร่าชีวิตคนได้ 10 ล้านคน ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี จะไม่ใช่สงครามระหว่างมนุษย์ด้วยกัน แต่จะเป็นสงครามจากไวรัสที่มองไม่เห็น เขาเรียกร้องให้องค์กรต่าง ๆให้ความสำคัญกับการพัฒนาสาธารณสุข

เมื่อโควิด-19 เกิดขึ้น หลายท่านคงสงสัยว่า ทำไม “บิลล์ เกตส์” ถึงสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ประเด็นที่เขาพูดครั้งนี้มาจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสอีโบล่าที่เคยเกิดขึ้น เขาทิ้งท้ายว่า…หากจะมีเรื่องดี ๆ สักเรื่องที่มาจากการระบาดของอีโบล่า ก็คงจะเป็นเพราะมันทำหน้าที่ปลุกให้คนตื่น ให้ทุกคนเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดครั้งหน้า

จากอีโบล่าถึงโควิด-19 เสียงเตือนครั้งนี้คงจะดังพอที่ทำให้เราช่วยกันดูแลการพัฒนาของโลกในด้านต่าง ๆ ให้จริงจังมากขึ้น CSR หลัง new normal ก็คงจะมีจริงจังมากขึ้นด้วยเช่นกัน