ทุเรียนเปลี่ยนชีวิต “ปิดทอง” ช่วยเกษตรกรชายแดนใต้

ต้องยอมรับความจริงว่า ปัญหาความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกรัฐบาลพยายามแก้ไขและเข้ามาช่วยเหลือ แต่กระนั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนเมื่อสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้ามาทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนใต้(โครงการทุเรียนคุณภาพ) เมื่อปี 2561 โดยเริ่มต้นนำร่องก่อนในพื้นที่จังหวัดยะลา

ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นองค์ประกอบหลักในการใช้ศาสตร์พระราชาผสมผสานกับหลักวิชา และหลักภูมิปัญญาควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ และเพิ่มการแข่งขันในระบบตลาดในการแก้ปัญหาความยากจน และลดเงื่อนไขด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ปรากฏว่าหลังจากดำเนินโครงการผ่านมาจนถึงปี 2563 กลับมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปีโดยปี 2561 มีเกษตรกรร่วมโครงการเพียง 18 ราย ปี 2562 เกษตรกรร่วมโครงการ 664 ราย และในปี 2563 เกษตรกรร่วมโครงการ 625 ราย

ทั้งยังมีผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ ในปี 2561 มีผลผลิต33.4 ตัน ปี 2562 มีผลผลิต 1,699 ตัน และปี 2563 มีผลผลิต 1,778 ตัน ที่สำคัญเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ ในปี 2561 มีรายได้ 2.3 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้ 80 ล้านบาท และปี 2563 มีรายได้ 160 ล้านบาท

เป็น 160 ล้านบาทที่ผลิตทุเรียนเกรด AB ซึ่งเป็นเกรดมาตรฐานเพื่อส่งออกไปยังเมืองกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ประมาณ 85% โดยมีหนอน 0% เพื่อกระจายผลผลิตทั้งหมดผ่านโมเดิร์นเทรดของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เนื่องเพราะเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญที่เข้าร่วมโครงการทุุเรียนคุณภาพครั้งนี้

ชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์

เบื้องต้น “ชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์”ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลากล่าวว่า สำหรับหลักคิดในการดำเนินโครงการยังคงเน้นการนำศาสตร์พระราชามาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อต้องการให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพัฒนาทุเรียนซึ่งเป็นไม้ผลท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ ทั้งยังมีกระบวนการผลิตที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศโดยมีตลาดต่างประเทศยอมรับ

“ดังนั้น ตลอดการดำเนินโครงการที่ผ่านมา เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต่างให้ความสนใจและมุ่งผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพตามเป้าหมายของโครงการด้วยการดูแลเอาใจใส่ และปฏิบัติตามคู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำจัดวัชพืช, การให้น้ำ, ใส่ปุ๋ย, การป้องกันโรค และแมลง โดยมีเจ้าหน้าที่และอาสาทุเรียนของปิดทองหลังพระฯให้การสนับสนุนและดูแลทุกช่วงการผลิต จนทำให้ผลผลิตของทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะยะลาสามารถผลิตทุเรียนได้มากที่สุดคือ1,640 ตัน รองลงมาคือ นราธิวาส 88 ตันและปัตตานี 50 ตัน”

“สำหรับการเปิดรับซื้อทุเรียนวันแรกในโครงการทุเรียนคุณภาพของ 3 จังหวัดชายแดนใต้เมื่อ 18 มิถุนายน 2563ที่ผ่านมา ทางปิดทองหลังพระฯ รับซื้อทุเรียนคุณภาพเกรด AB จากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 100 บาท รวมทั้งหมด 4,930 กิโลกรัม คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 493,000 บาท ส่วนเกรด C ราคากิโลกรัมละ 80 บาท จำนวน 2,814 กิโลกรัม เป็นเงิน 225,120 บาท และทุเรียนตกไซซ์ กิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป”

“ผมจึงมองว่าการที่ปิดทองหลังพระฯและเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้ามาช่วยเหลือและให้การสนับสนุนเช่นนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแน่นอน เพราะนอกจากเขาจะนำองค์ความรู้สมัยใหม่มาช่วยเกษตรกรทำตามขั้นตอนในการดูแลทุเรียน หากยังสอนเรื่องของการบริหารจัดการด้วย ขณะที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เขาก็จะช่วยในการบริหารผลผลิตและการตลาด เพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคในประเทศจีน แต่ทั้งหลายทั้งปวงความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ที่ตัวเกษตรกรเองด้วยว่าจะมีความตั้งใจผลิตทุเรียคุณภาพหรือเปล่า

การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ

ถึงตรงนี้ “การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ”ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริกล่าวเสริมว่า จุดเด่นของทุเรียนยะลา คือ เปลือกบาง เม็ดลีบ เนื้อเยอะ และรสชาติหอมหวาน ทั้งนั้นอาจเป็นเพราะทุเรียนของที่นี่และจังหวัดชายแดนใต้ปลูกบนภูเขา จึงทำให้ตลาดมีความต้องการค่อนข้างสูง

“ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ทำให้เราต้องมาดูในเรื่องของการรักษาคุณภาพ และกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพ หรือที่เรียกว่าเกษตรประณีต เพราะเป้าหมายของเราคือการเพิ่มต้นทุเรียน และจะต้องเพิ่มจำนวนเกษตรกรให้มากขึ้น แต่กระนั้นจะต้องสร้างให้เขามีความรู้ความเข้าใจในการปลูกทุเรียนด้วย เพื่ออนาคตเขาจะได้พึ่งพาตนเองได้ และสามารถนำองค์ความรู้ที่มีไปสอนเกษตรกรรุ่นต่อ ๆ ไป”

เพราะบทบาทของปิดทองหลังพระฯคำนึงถึง 6 เรื่องหลัก ๆ คือ

หนึ่ง คัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ

สอง การทำบันทึกข้อตกลง

สาม การจัดทำข้อมูลพื้นฐานของโครงการ ปิดทองหลังพระฯดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลออนไลน์ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดทำระบบฮาร์ดแวร์ จัดหาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เพื่อการปฏิบัติงานประจำในทุกพื้นที่ปฏิบัติการย่อย เพื่อให้บุคลากรในแต่ละพื้นที่นำเข้า หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูล และจัดทำระบบซอฟต์แวร์เพื่อออกแบบระบบที่ครอบคลุมฐานระบบข้อมูลสำหรับโครงการทุเรียนคุณภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

สี่ การอบรมเกษตรกรภายใต้โครงการ

ห้า การปรับปรุงคู่มือการเพาะปลูก สมุดการตรวจแปลง

หก การประเมินผลโครงการโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประเมินเกษตรกรและอาสาทุเรียน เพื่อประเมินศักยภาพ ทั้งความพร้อม ความขยัน และความตั้งใจของเกษตรกรในการผลิตทุเรียนตามขั้นตอน

“ฉะนั้น การที่โครงการทุเรียนคุณภาพค่อย ๆ ฉายภาพความสำเร็จให้เห็นจึงมาจาก 3 เรื่องหลัก ๆ คือ หนึ่ง การมีคู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพ เพราะนอกจากจะให้ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ แก่เกษตรกร ยังแนะนำเรื่องการตัดแต่งกิ่ง, การฉีดพ่นฮอร์โมน, การปัดดอก (ผสมเกสร)การตัดแต่งผล และอื่น ๆ

สอง การมีอาสาทุเรียน ผมว่าตรงนี้ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของโครงการ เพราะพวกเขาทุกคนเป็นคนในพื้นที่ และสามารถให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหาเบื้องต้นแก่เกษตรกรได้ ที่สำคัญยังช่วยติดตามการปฏิบัติงานของเกษตรกรตลอดกระบวนการของโครงการด้วย”

“สาม การสร้างการมีส่วนร่วมตรงนี้สำคัญมาก เพราะทุเรียนจะมีคุณภาพหรือไม่อยู่ที่เกษตรกรโดยตรง ขณะที่เราเองจะต้องนำข้อมูลความเป็นจริง กลับคืนสู่เกษตรกร เพื่อให้เขารู้ว่าที่ผ่านมาการดูแลผลผลิตของเขาเป็นอย่างไร ทั้งนั้น เพื่อทำให้เขาเกิดความภูมิใจและตั้งใจผลิตทุเรียนคุณภาพให้โครงการ ทั้งยังช่วยลดปัญหาเรื่องหนอนและแมลงด้วย”

จอมกิตติ ศิริกุล

ขณะที่ “จอมกิตติ ศิริกุล” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส หน่วยงานพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัดกล่าวเสริมว่า เราทำงานร่วมกับปิดทองหลังพระฯมา 3 ปี โดยในส่วนของการคัดแยกเกรดผลผลิตทางเจ้าหน้าที่ของปิดทองหลังพระฯเป็นคนบริหารจัดการ จากนั้นเขาจะนำผลผลิตทั้งหมดไปส่งที่ล้งของเราที่อยู่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ถึงตรงนั้น เราจะทำการตรวจสอบคุณภาพสินค้าอีกครั้งเพื่อดูว่าทุเรียนมีหนอนหรือเปล่า

“หลังจากนั้น เราจะทำการบรรจุกล่องใส่รถตู้คอนเทนเนอร์เพื่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เตรียมลงเรือไปยังเมืองกว่างโจว ประเทศจีน ในขั้นตอนนี้ทุเรียนจะอยู่ในอุณหภูมิพอเหมาะ แต่พอถึงที่โน่นเราต้องมาคัดกรองอีกครั้งว่ามีหนอนหรือเปล่า เพราะเรามีเวลาแค่ 48 ชั่วโมงในการขาย ดังนั้น ถ้านับจากวันที่เกษตรกรตัดทุเรียนจนมาถึงมือผู้บริโภคจะใช้เวลาทั้งหมด 10-12 วันเท่านั้นเอง ทุเรียนก็จะสุกพอดี ซึ่งเหมาะแก่การบริโภค และผู้บริโภคชาวจีนนิยมกินทุเรียนของไทยมาก”

“ตอนนี้มูลค่าตลาดโดยรวมของผลผลิตทุเรียนอยู่ที่ 9 แสนตันบวกลบ และในจำนวนนี้ประเทศไทยส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนอยู่ที่ 85% ที่สำคัญตอนนี้ตลาดจีนถือเป็นตลาดนำเข้าทุเรียนเบอร์ 1 ของโลก ขณะที่ไทยเองก็เป็นผู้ส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน แต่ในส่วนของ ซี.พี.เราส่งออกทุเรียนไปจีนแค่ 4,500 ตันเอง ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวน9 แสนตันบวกลบ ดังนั้น เวลาเราทำตลาดจึงทำตลาดทั้งปี และไม่ใช่เอาผลผลิตแค่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น ภาคตะวันออก, ชุมพร, ศรีสะเกษ (ทุเรียนภูเขาไฟ) เราก็ทำตลาดด้วย”

“แต่ในส่วนที่เราร่วมมือกับปิดทองหลังพระฯด้วยการนำทุเรียนของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ส่งออกไปจีนนั้น ตอนนี้เราส่งออกอยู่ประมาณ 1,800 ตัน ปรากฏว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2563 เราส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้นถึง 30-40% เพราะคนจีนนิยมบริโภคทุเรียน ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด-19 ด้วยขายดีมาก ๆ เลย ผมจึงค่อนข้างเชื่อว่าการที่ปิดทองหลังพระฯนำองค์ความรู้มาช่วยเหลือเกษตรกรให้หลุดพ้นจากความยากจนด้วยการปลูกทุเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ขณะที่เราเองก็นำความเชี่ยวชาญในเรื่องของการบริหารจัดการทางด้านการตลาดและคุณภาพมาช่วย ก็จะยิ่งทำให้เกษตรกรเกิดความยั่งยืนในที่สุด”

อาแว แบรอ

อันนี้ไปสอดคล้องกับคำพูดของ “อาแว แบรอ” เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพ ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จ.ยะลาที่บอกว่าผมปลูกทุเรียนมา 25 ปีแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์หมอนทอง นอกนั้นก็จะมีพันธุ์ชะนี, ก้านยาวบ้าง และเมื่อก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการในปี 2562 ผมมีทุเรียน 42 ต้น บนพื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่ ซึ่งผลผลิตไม่ค่อยดีเพราะไม่มีความรู้ในการป้องกัน ดูแล รักษา จนมีหนอนเจาะเมล็ดมาก และผลทุเรียนก็ไม่ได้ขนาด ลำต้นไม่สมบูรณ์ ราคาขายจึงอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-25 บาท

“แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการในปี 2562 เป็นต้นมา ทางเจ้าหน้าที่อาสาทุเรียนมาให้ความรู้เรื่องวิธีการดูแลบำรุงต้น, การใช้ปุ๋ย, การควบคุมน้ำ,การผสมเกสร, การแต่งดอก แต่งผล, การค้ำโยงกิ่ง และที่สำคัญยังสอนให้มีการจดบันทึกวันดอกบานของทุเรียนเพื่อป้องกันการตัดทุเรียนอ่อน เราจึงเกิดความมั่นใจขึ้น จนตอนนี้เราปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 56 ต้นแล้ว ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าภายในปี 2563 นี้ผลผลิตของผมน่าจะเพิ่มขึ้น เพราะปีที่แล้วผมยังขายผลผลิตได้สูงถึง 2 แสนกว่าบาท ปีนี้ก็น่าจะมากกว่าหลายเท่า”

“ผมจึงเชื่อว่าการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ทำให้ผมมีความรู้เพื่อนำไปพัฒนาการปลูกทุเรียนดีขึ้น และเมื่อมีความรู้ก็เชื่อว่าจะพัฒนาตัวเองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้ เพราะนอกจากจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ผมยังสามารถเลี้ยงดูครอบครัวดีขึ้นด้วย และเมื่อก่อนจากที่เคยทำสวนเพียงคนเดียว ตอนนี้ภรรยา ลูก และลูกเขยก็มาช่วยทำงานในสวนบ้างแล้ว จนทำให้ครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน และมีความอบอุ่นในครอบครัวมากขึ้นด้วย”

อันเป็นคำตอบของ “อาแว แบรอ” เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนคุณภาพจนทำให้เขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นถึงวันนี้ 

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน