บูรณาการองค์ความรู้ ร่วมมือ ร้อยใจ รอดภัยแล้ง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ไม่เพียงส่งผลให้คนไทยมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่เพราะมีจำนวนคนตกงานมากขึ้น จนแรงงานจากเมืองหลวงหลั่งไหลกลับต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เพียงทำให้ภาครัฐ และภาคธุรกิจต่างมองว่าจะต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ด้วยการส่งเสริมภาคการเกษตร และสร้างความเข้มแข็งภายในชุมชน แต่ทว่าในปี 2563 ยังมีปัญหาภัยแล้งรุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี ดังนั้น หากไม่ได้รับการบรรเทาจะทำให้ภาคการเกษตรในหลายจังหวัดไม่ประสบความสำเร็จ

จึงนับเป็นความโชคดีที่ทางหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน., เอสซีจี, มูลนิธิบัวหลวง และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต่างร่วมมือกันสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9มาประยุกต์ใช้

ภายใต้โครงการ “ร่วมมือ ร้อยใจ รอดภัยแล้ง” เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์จากภัยแล้งในปี 2563 ในหลายพื้นที่

เดินตามรอยพระราชดำริ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

เบื้องต้น “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าวว่าภัยแล้งเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก จากความผันผวนของภูมิอากาศ เนื่องจากประเทศไทยมีฝนตกเฉลี่ย7-8 แสนล้าน ลบ.ม./ปี ถึงแม้จะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรของประชาชน แต่หลายภาคส่วนยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ จึงเกิดความไม่สมดุลระหว่างปริมาณน้ำที่มีกับความต้องการใช้ ทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี

“การแก้ไขปัญหาแล้งต้องใช้ชุมชน และพื้นที่เป็นศูนย์กลางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากความเข้าใจสภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำที่มี และน้ำที่ต้องการใช้ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับปริมาณน้ำอย่างสมดุล และต้องเข้าถึงความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้โครงการร่วมมือร้อยใจ รอดภัยแล้ง ทีมงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน.จึงร่วมค้นหาชุมชนที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งยังร่วมมือกับเอสซีจี, มูลนิธิบัวหลวงและธนาคารกรุงเทพสนับสนุนการพัฒนา และฟื้นฟูแหล่งน้ำ เพื่อช่วยให้ชุมชนแก้ภัยแล้งด้วยตนเองอย่างยั่งยืน”

“ชุมชนที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งนั้นควรมีองค์ประกอบดังนี้ หนึ่ง เป็นชุมชนเข้มแข็งมีความรู้และความสามัคคี, สอง มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้เคียง, สาม หาที่กักเก็บน้ำ โดยอาจปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ สี่ ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำกระจายน้ำสู่ชุมชน เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม GPS และโซลาร์ฟาร์มเพื่อประหยัดไฟฟ้า ซึ่งถ้าทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันก็จะสามารถข้ามผ่านวิกฤตภัยแล้ง และมีน้ำกิน น้ำใช้ อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร”

108 ชุมชน รอดภัยแล้ง

วีนัส อัศวสิทธิถาวร

ขณะที่ “วีนัส อัศวสิทธิถาวร”ผู้อำนวยการ Enterprise BrandManagement Office เอสซีจี กล่าวว่าเอสซีจีเป็นองค์กรที่มุ่งสานต่อปณิธานด้านการดูแลทรัพยากรน้ำ ด้วยเชื่อว่าน้ำคือหัวใจของการก่อกำเนิดชีวิต จึงเริ่มต้นโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำจากภูผาสู่มหานที ตั้งแต่ปี 2546 จากชุมชนโดยรอบโรงงานปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง)

“จากนั้นจึงน้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมรอบโรงงานปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) ตั้งแต่ปี 2550 เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่า และคืนสมดุลสู่ระบบนิเวศ พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งนับเป็นระยะเวลา 13 ปีที่เอสซีจี และเครือข่ายทำงานด้านการจัดการน้ำร่วมกัน จึงเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม โดยฝายชะลอน้ำที่สร้างไปแล้วจะครบ 100,000 ฝายภายในปลายปีนี้”

“ปี 2563 วิกฤตภัยแล้งของไทยรุนแรงขึ้น เอสซีจีจึงต่อยอดองค์ความรู้และขยายผลการบริหารจัดการน้ำให้ 108 ชุมชนที่มีภัยแล้งซ้ำซากได้ลุกขึ้นมาร่วมมือ และเรียนรู้วิธีแก้ไข เพื่อให้รอดภัยแล้งด้วยตนเอง ภายใต้โครงการเอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเอสซีจีจะครบรอบ 108 ปีในปี 2564 โดยมีเครือข่ายร่วมสนับสนุน ได้แก่ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ, สสน. และสยามคูโบต้า”

“เพราะเชื่อว่ามิติของการบริหารจัดการน้ำให้มีความยั่งยืนนั้น ชุมชนอาจไม่สามารถก้าวผ่านอุปสรรคได้เพียงลำพัง หากไม่มีพี่เลี้ยงผู้คอยให้การสนับสนุนเราจึงมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงให้ภายในระยะเวลา 2 ปี ในงบประมาณ 30 ล้านบาท และกว่า 3 เดือนที่เริ่มดำเนินโครงการ ทีมงานได้ช่วยเหลือไปแล้วกว่า 56 ชุมชนในจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง ทำให้มีน้ำสำรองกระจาย และแบ่งปันน้ำได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง”

บูรณาการสู้ภัยแล้ง

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

“ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเสริมว่าภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติปี 2563 ซึ่งการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมีความจำเป็นต่อการบรรเทาภัยแล้งในหลายจังหวัดแต่การลงมือทำเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานเดียวจะล่าช้า และไม่เกิดประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันในหลายหน่วยงาน

“สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตเชิงซ้อน และต้องเร่งแก้ไข โดยแต่ละหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือนี้กระจายทำหน้าที่ไปคนละด้าน เช่น อว. เร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ในขณะที่ สสน.จัดทำโครงการส่งเสริมบริหารจัดการน้ำ เพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร ผลผลิต และเศรษฐกิจของชุมชน รวมถึงสร้างอาชีพให้บัณฑิตจบใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยมุ่งเน้นการฝึกอบรมทักษะเพื่อประกอบอาชีพจากใช้หลักการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจะขยายไป 400 ชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย, กองทัพภาคที่ 2 และหน่วยงานท้องถิ่น”

บัวหลวงแก้ภัยแล้ง

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์

สำหรับ “ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์” กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าธนาคารกรุงเทพร่วมสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯมาตั้งแต่ปี 2550 ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง และน้ำท่วมในพื้นที่ทั่วประเทศของมูลนิธิมาตลอดทุกปี

“เรามีโครงการบัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้ง ที่นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาให้แก่ชุมชนที่ร่วมโครงการเป็นรูปธรรม ยังเป็นโอกาสดีที่ธนาคารจะได้ร่วมเรียนรู้ไปกับชุมชน ซึ่งจะทำให้ธนาคารเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของแต่ละชุมชน และให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสมดังนั้น การได้ร่วมเรียนรู้ไปกับชุมชนจะทำให้เรามีประสบการณ์ และมีฐานข้อมูลที่สามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่ชุมชนอื่น ๆที่ประสบปัญหาอย่างเดียวกัน ทั้งยังช่วยขยายผลโครงการนี้ให้กว้างขวางออกไปอีกด้วย”


แม้วิกฤตภัยแล้งจะรุนแรงมากขึ้น แต่ด้วยความร่วมมือกันอย่างจริงจังของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จึงเป็นทางออกสำหรับการแก้วิกฤตครั้งนี้