โมเดล “พึ่งตน เพื่อชาติ” สร้าง “คน” เดินตาม “ศาสตร์พระราชา”

หลังจากครอบครัวอยู่วิทยา เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มกระทิงแดง กลุ่มธุรกิจ TCP ประกาศเปิดโครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” เพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของคนไทยอันเนื่องจากโควิด-19 ในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยมี “พรรณราย พหลโยธิน” ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลเป็นทัพหน้า ทั้งยังนั่งแท่นตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการ พร้อมด้วยสมาชิกครอบครัว เครือข่าย และพันธมิตรอย่างมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันอาศรมศิลป์

ทั้งนั้นเพราะมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร, การแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และการต่อยอดรากเหง้าภูมิปัญญาไทย ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9

โครงการพึ่งตน เพื่อชาติ ดำเนินโครงการในลักษณะเปิดรับสมัครคนที่สนใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอยากจะปรับเปลี่ยนแนวคิดในการดำรงชีวิต เพื่อเข้าร่วมอบรมหลักสูตรในโครงการ เรียนรู้กับครูต้นแบบทั่วประเทศ พร้อมกับลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ของตนเอง โดยล่าสุดเดินหน้าเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการรอบแรก จนมีผู้สมัครเข้ามาจำนวนมาก แต่กระนั้น จะคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือเพียง 300 คน เพื่อเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงความรู้ในวันที่ 15 ส.ค. 2563 และอบรมเรื่องหลักการพึ่งตนเองอีกครั้งในวันที่ 21 ส.ค. 2563 ก่อนนำไปปฏิบัติ และขยายผลสู่ชุมชนอีกครั้ง

น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“พรรณราย” เล่ารายละเอียดของโครงการให้ฟังว่าเราน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสร้างแนวทางการดำรงชีวิตใหม่ให้แก่คนทุกกลุ่ม เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้ชีวิตคนไทยนับล้านเปลี่ยนแปลงไปหลายครอบครัวไม่สามารถที่จะกลับมาดำเนินชีวิตเหมือนเดิม ครอบครัวอยู่วิทยาเล็งเห็นว่าการดำรงชีวิตตามวิถีของเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์สามารถช่วยสร้างความพอมี พอกิน พอใช้ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงเกิดเป็นโครงการขึ้นมา โดยหวังว่าจะสร้างคุณค่าใหม่ของสังคมแห่งการพึ่งตน และแบ่งปันได้ในท้ายที่สุด ซึ่งเราตั้งเป้าหมายผู้ร่วมโครงการเอาไว้ 3 กลุ่ม ได้แก่

หนึ่ง คนเมือง ที่ยังต้องหาเลี้ยงชีพตนเอง โดยหันมาปลูกพืชผักในพื้นที่เล็ก ๆ ของตนเอง

สอง กึ่งคนเมือง หมายถึงกลุ่มคนที่มีความคิดไม่อยากอาศัยอยู่ในเมืองตลอด แต่อยากลุกขึ้นมาสรรหาพื้นที่ หรือใช้พื้นที่บ้านเกิดของตนเองลงมือทำเรื่องเกษตร หรือพัฒนารากเหง้า มิปัญญาของชุมชนตนเอง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

สาม เกษตรกร ชุมชน เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจถึงหลักการทำเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมี

“พรรณราย” บอกว่าทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมาย เราต้องการมุ่งปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด (mindset) ของพวกเขาให้รู้จักหาทางพึ่งพาตนเองไม่เดือดร้อนยามเกิดวิกฤต จากนั้นค่อยแบ่งปันผู้อื่น แต่การจะไปสู่จุดพึ่งพาตนเองได้นั้น อาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ย้ำเสมอว่าเราต้องระเบิดจากข้างในให้ได้ก่อน จากนั้นจึงค่อยนำหลักการต่าง ๆ ไปปฏิบัติใช้ แต่จะต้องวางเป้าหมายในการทำงานออกเป็น 3 ด้านคือ

หนึ่ง มุ่งสร้างผู้นำเพื่อเป็นโมเดลต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงตนเองและชุมชน โดยส่งเสริมจุดเล็ก ๆคนเล็ก ๆ ที่เริ่มจากครอบครัว เพื่อนฝูงไปสู่ชุมชน

สอง มุ่งสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม (social impact) สู่คุณค่าใหม่ของการพึ่งตน และแบ่งปัน อันเป็นจุดแข็งที่ทำให้เรารอดจากความยากลำบากไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นก็ตาม

สาม มุ่งสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับชุมชน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และลดปัญหาสังคม เนื่องจากโครงการมุ่งเป้าหมายส่งเสริมโมเดลชุมชนแห่งการพึ่งตน แบ่งปัน 100 ชุมชนต้นแบบ และขยายผลออกไป โดยมีเป้าหมายให้คนไทย 1 ล้านคนได้รับประโยชน์จากโครงการ เพื่อแสดงให้เห็นว่ายิ่งพึ่งตน ยิ่งแบ่งปันมากขึ้นเท่าใด ยิ่งมีความมั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น

ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียง

สำหรับรูปแบบดำเนินโครงการจะใช้ “ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา” อ.เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เป็นสถานที่อบรมเบื้องต้น ซึ่งศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีพื้นที่ 50 ไร่ โดย “พรรณราย” และเพื่อน ๆ ร่วมกันสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2559 จากเดิมตั้งใจที่จะสร้างเป็นรีสอร์ต แต่หลังจากอบรมกับ “ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติฯ จึงเปลี่ยนความคิดใหม่ ด้วยการหันมาสร้างศูนย์เรียนรู้แทน โดยชูจุดเด่น อาทิป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง, หัวคันนาทองคำ, ห้องเรียนไม้ไผ่, โรงน้ำหมักปุ๋ย,เรือนไก่ ทั้งยังปลูกพืชในลักษณะผสมผสาน ตั้งแต่ไม้ยืนต้น, พืชเกษตรและสมุนไพร จนกลายเป็นสวนป่าแบบผสมผสาน ที่สำคัญคือพืชเหล่านี้สามารถพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “พรรณา”(Pannar) อีกด้วย

“พรรณราย” เล่าให้ฟังอีกว่าดิฉันและเครือข่ายจะใช้พื้นที่ศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งพัฒนาคน ซึ่งหมายถึงการปลูกฝังแนวคิดการทำเกษตร การมองหาภูมิปัญญารากเหง้าในพื้นที่ตนเอง นำไปพัฒนาปรับใช้ โดยการฝึกอบรมจะใช้เวลา 3 เดือน แบ่งเป็นการอบรม 5 วันด้วยโปรแกรมเติมหลักคิด, หลักทำตามทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างวิถีชีวิตสู่เศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเรียนรู้การออกแบบพื้นที่นิเวศ ดิน, น้ำ, ป่า, คน เพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยอันเป็นพื้นฐานของการพึ่งตน ณ ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้

“หลังจากนั้น จะฝึกปฏิบัติกับชุมชน เพื่อดึงศักยภาพของตนเองและชุมชนมาปลูกฝังการเรียนรู้การพึ่งตน และแบ่งปัน โดยเลือกฝึกกับครูเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตามพื้นที่ 4 ภาค ระยะเวลารวม 10 วัน เพื่อร่วมค้นหาต้นทุนวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่แตกต่างตามภูมิสังคม และท้ายสุดคือการลงมือทำอย่างจริงจังตามแนวทางทฤษฎีใหม่ โดยมีครูและเครือข่ายเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับกลับไปลงมือปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง สร้างชุมชนของตนเอง หรือนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปฝึกลงมือทำในพื้นที่ของครอบครัวอยู่วิทยา เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกสอนคนอื่น ๆ ต่อไป”

“ฉะนั้น ถ้าจะถามว่าอะไรคือความสำเร็จของโครงการ ดิฉันจึงอยากบอกว่าเราอยากเห็นโมเดลต้นแบบในพื้นที่ต่าง ๆ กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการ300 คน ถ้าพวกเขาสามารถนำไปขยายผลในที่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดโมเดลต้นแบบขึ้นมาอีกหลายโครงการจนนับไม่ถ้วน เพราะการผนึกพันธมิตรอย่างเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันอาศรมศิลป์ช่วยให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ จนกลายเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างโมเดลชุมชนต้นแบบพึ่งตนเพื่อชาติ 100 ชุมชน เพื่อขยายผลสู่เป้าหมาย 1 ล้านคน”

ศาสตร์พระราชา “สร้างคน”

“ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือ “อ.ยักษ์” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่าถ้าเราเปลี่ยนความคิดของคนให้ระเบิดจากข้างในได้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จะเกิดผลสำเร็จชัดเจน ต่อให้ทุ่มคนหมื่นคนมาทำงาน หรือทุ่มงบประมาณหลายแสนล้าน ถ้าไม่เกิดกระบวนการคิดระเบิดจากข้างใน ก็ยากจะสำเร็จ เหมือนกับ “พรรณราย” เดิมทีเธอมีแนวคิดจะสร้างแค่รีสอร์ต แต่เปลี่ยนมาทำศูนย์เรียนรู้ ทั้งยังนำพาสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานมา 70 ปี สร้างเป็นต้นแบบการเรียนรู้ นั่นก็เกิดจากความคิด ความศรัทธาที่มีอยู่ในใจของพวกเขา

“ผมหวังว่าจะเกิดโมเดลลักษณะนี้ขยายไปเรื่อย ๆ และยังฝันอีกว่าศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก เพราะตอนนี้สิ่งที่เป็นวิกฤตคือมีการคาดการณ์ว่าจำนวนคนตกงานทั่วโลกสูงถึงหลักพันล้านคน เฉพาะประเทศไทยเพียงแห่งเดียวอาจจะตกงานมากถึง 11 ล้านคน ดังนั้น หนทางรอดจึงเป็นการพึ่งพาตนเองให้ได้เท่านั้น”

“ดังนั้น เป้าหมายที่ตั้งไว้คือก้าวแรกของคนต้องพอกินพอใช้ เพียงพอทั้งแผ่นดินให้ได้เสียก่อน เรามีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ก็ควรมีฐานที่มั่นตนเองให้ได้ และจะไม่ปล่อยให้เพื่อนร่วมชาติอดอยาก จากนั้นค่อยแบ่งปัน เพราะปัญหาเรื่องความอดอยากเป็นเป้าหมายใหญ่ของโลก ประเทศไทยเซ็นสัญญากับ200 กว่าประเทศเรื่องของการร่วมมือไม่ปล่อยให้ใครอดอยาก ฉะนั้น เราต้องทำเรื่องอาหารการกิน ในส่วนที่อยู่อาศัยก็เช่นกัน ไทยมีคนไร้บ้าน (homeless) จำนวนมาก เราต้องช่วยให้เขามีบ้านอยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ความสำคัญ ใครช่วยสิ่งไหนได้ก็ช่วยไปก่อน”

“พระองค์ทรงรับสั่งว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้ทำความเจริญให้กับประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร อดทน ไม่ใจร้อน ไม่พูดมาก ไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำด้วยความเข้าใจกัน เชื่อว่าสังคมจะมีความสุข”

ผุดโมเดล “พลเมืองตื่นรู้”

“รศ.ดร.ประภาภัทร นิยม” อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวเสริมว่างานของเราคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น พัฒนาด้านอาชีพ ด้านกาย ด้านจิตใจ สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นสถาบันการศึกษา จะเข้ามาติดตามผลของการพัฒนาผู้เข้าอบรมเพื่อขยายผลของการใช้ศาสตร์พระราชาให้กว้างไกลมากขึ้น ผ่านการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดโมเดลการทำงานของโครงการให้เป็นงานวิชาการที่สร้างแรงบันดาลใจ เพราะศาสตร์พระราชาเป็นสิ่งที่คนศรัทธามาก แต่หลายคนไม่ได้นำไปปฏิบัติ

“ดังนั้น จึงกลายเป็นศาสตร์ที่ยังอยู่ในเฉพาะกลุ่มคน หากร่วมกันเผยแพร่ ศาสตร์นี้จะถูกขยายอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการพื้นฐานคือทุกคนต้องมีกิน มีใช้ เราต้องการถอดองค์ความรู้ให้ผู้อื่นนำไปใช้ ยกตัวอย่าง อ.ยักษ์เสกคาถา พูดอะไร ทำไมถึงทำให้คนเปลี่ยนความคิดได้

หลักการเหล่านี้จะถูกนำไปถ่ายทอดต่อไปเป็นงานวิจัย รวมถึงเรื่องกระบวนการสร้างคน เพราะจะเป็นการพิสูจน์ว่าประเทศเราอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง เป็นactive citizen (พลเมืองตื่นรู้) เปลี่ยนแปลงตนเอง มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม”

งบฯ 300 ล้าน “พึ่งตน เพื่อชาติ”

ถึงตอนนี้ “พรรณราย” กล่าวในตอนท้ายว่าโครงการนี้ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาทที่เกิดจากการลงขันของคนภายในครอบครัว เพราะมีการประเมินค่าใช้จ่ายที่ใช้ดำเนินงานน่าจะอยู่ภายในกรอบการทำงานประมาณ 3 ปี สำหรับผู้เข้ารับการอบรม เพราะนอกจากจะมีค่าที่พัก, เดินทาง, อุปกรณ์, การประสานภาคีเครือข่าย และการจัดเวทีแสดงผลโมเดลชุมชนต้นแบบ

“ที่สำคัญ จำนวนเงินนี้เราไม่ได้หวังว่าผลจะกลับเข้ามาสู่ธุรกิจหลักอย่างไร แต่สิ่งที่คาดว่าจะได้คือสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คนที่อยู่กับเรา พนักงานของเราก็อยู่ในสังคมเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เขาจะมีความสุขขึ้น มีชีวิตดีขึ้น สิ่งที่ตอบกลับมาอาจไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นสังคมที่เกื้อกูลกัน

“พึ่งตน เพื่อชาติ จึงเป็นโครงการที่ต้องการให้คนไทยหันกลับมามองตัวเอง หันกลับมาดูสิ่งที่ประเทศชาติมอบให้กับคนไทยทุกคน เห็นความมั่งคั่งของแผ่นดิน ความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร และความสง่างามของวัฒนธรรมเราจึงอยากเชิญชวนทุกคนเข้ามาช่วยกันทำ มาช่วยกันสร้างคุณค่าใหม่ของการพึ่งตน และแบ่งปันให้กลับคืนมาอีกครั้ง ช่วยกันดำรงเสน่ห์ที่งดงามของประเทศเราให้คงอยู่ ช่วยกันฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของดิน, น้ำ, ป่าและสร้างแหล่งอาหารให้หลากหลายเพื่อนำไปแบ่งปันในอนาคต”

“เมื่อสังคมมีความเอื้ออาทร และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจจากฐานรากก็จะเป็นการเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”