กระทรวงแรงงาน ถกผู้ประกอบกิจการ ปรับแผนสู้โควิด-19

กระทรวงแรงงาน นัดสถานประกอบกิจการ 20 แห่ง ร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน หารือร่วมกับสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอจากสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 โดยในวันนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เชิญสถานประกอบกิจการ จำนวน 20 แห่ง เข้าพบเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน เป็นสถานประกอบกิจการทั้งขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ครอบคลุมลูกจ้างรวมกันกว่า 200,000 คน

เช่น บริษัท บุญดวง จำกัด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด บริษัท ที อาร์ ดับบลิว เอเชียติ๊ก จำกัด ครอบคลุมธุรกิจด้านการโรงแรม บริการให้เช่ารถยนต์ ร้านสะดวกซื้อ ก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต และธนาคาร

จากการหารือพบว่า สถานประกอบกิจการ (สปก.) ส่วนใหญ่ เสนอให้กรมพิจารณารับรองหลักสูตรที่เป็นการอบรมแบบออนไลน์ ประจำปี 2563 เนื่องจากสปก.ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่ากพร.ได้ปรับลดจำนวนพนักงานที่สปก.ต้องจัดฝึกอบรมจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 10 แล้วก็ตาม สปก.ยังมีความกังวลว่าจะไม่สามารถพัฒนาทักษะลูกจ้างเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ ทั้งๆที่สถานการณ์ปัจจุบันจะเริ่มคลี่คลายแล้วก็ตาม แต่สปก.ยังไม่สามารถจัดอบรมให้แก่พนักงานของตนเองได้ พนักงานส่วนหนึ่งทำงานแบบ Work from anywhere อีกทั้งยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ส่งผลให้การฝึกอบรมหลายๆ หลักสูตรต้องปรับเป็นการฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์แทนการฝึกแบบห้องเรียน

นอกจากนี้ สถานประกอบกิจการยังเสนอในประเด็นอื่นๆ ได้แก่ การพิจารณาหลักสูตรกรณีที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นระดับผู้บริหารหรือหัวหน้าขององค์กร การเพิ่มช่องทางการชี้แจงเหตุผลเกี่ยวกับหลักสูตรที่ยื่นขอรับรองแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับขอเสนอทุกประเด็นไปแก้ไข โดยเฉพาะประเด็นการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถกำหนดรายละเอียด ขั้นตอนและวิธีการยื่นรับรองในระบบได้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 นี้ สำหรับการเพิ่มช่องทางให้สปก.ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม กรณีที่นายทะเบียนไม่รับรองหลักสูตร ซึ่งจะปรับปรุงระบบให้บริการผ่าน E-Services แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563

คุณระวิวรรณ คุ้มทองมาก ผู้จัดการ Digital Transformation COE ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมหารือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในครั้งนี้ ได้เสนอให้พิจารณารับรองหลักสูตรการฝึกอบรมแบบออนไลน์ และขอให้มีผลย้อนหลังการอบรมที่ได้จัดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงให้พิจารณาหลักสูตรฝึกอบรมที่มีความจำเป็นต้องใช้ในอนาคตด้วย ซึ่งจากคำตอบที่ได้รับทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน


นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กพร.มีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่สถานประกอบกิจการ อาทิ ขยายระยะเวลาการยื่นรับรองหลักสูตร การปรับลดจำนวนพนักงานที่ต้องได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือจากร้อยละ 50 เหลือเพียงร้อยละ 10 ของลูกจ้างทั้งหมด รวมถึงมาตรการช่วยเหลือสถานประกอบกิจการ ด้วยการให้เงินช่วยเหลืออุดหนุนแก่สถานประกอบกิจการอีกหลายกรณี ซึ่งการหารือในครั้งนี้ ทำให้ทราบปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อให้ความช่วยเหลือสถานประกอบกิจการได้อย่างตรงจุด