ศาสตร์พระราชา ถ่ายทอดการเรียนรู้สู่เยาวชนรุ่นใหม่

ต้องยอมรับว่าหลายหน่วยงานต่างให้ความสำคัญกับ “ศาสตร์พระราชา” ของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” หรือ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ค่อนข้างมาก

ไม่ว่าจะเป็นโครงการทิพยประกันภัย ที่ร่วมมือกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กองทัพภาคที่ 1, มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด, สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน), กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมูลนิธิธรรมดี

ด้วยการนำคณะครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศกว่า 30 คน ร่วมเรียนรู้ต้นแบบแนวคิด “ขาดทุนคือกำไร” กับ “วิถีเศรษฐกิจพอเพียง” ของคนในชุมชน อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา โครงการอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แก้ปัญหาคนกับช้างอย่างยั่งยืน ปลูกป่าในใจคน” พร้อมร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ อาทิพอเพียง, วินัย, สุจริต และจิตอาสา ให้กับเยาวชนต่อไป

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

เบื้องต้น “รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี” ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวถึงโครงการ “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา” ว่าศูนย์คุณธรรมจัดทำหนังสือโครงการตามรอยพระราชา ที่คัดสรรแล้วจำนวน 9 เส้นทาง 81 แหล่งการเรียนรู้ เพื่อให้คณะครูอาจารย์ลงพื้นที่เรียนรู้ศึกษาศาสตร์พระราชา ลงมือทำกิจกรรมเสริมทักษะเรียนรู้ และต่อยอด พร้อมสร้างความเข้าใจ และเข้าถึงคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง, วินัย, สุจริต, จิตอาสา

“นอกจากนั้น ยังเป็นการสำนึกรู้ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ท่านพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยทุกคน จนก่อเกิดเป็นศาสตร์พระราชาที่ชาวบ้านนำมาปฏิบัติตามจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น และตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

“วิชชุดา ไตรธรรม” ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิพยประกันภัยมีความมุ่งมั่นในการสืบสานศาสตร์พระราชา ผ่านการจัดกิจกรรม “ตามรอยพระราชา” อย่างต่อเนื่อง สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 เพราะด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ และสอดคล้องกับปณิธานของบริษัทในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการส่งเสริมความเจริญอย่างยั่งยืนของสังคมไทยในทุกมิติ

“กิจกรรมครั้งนี้ เราพาคณะครูอาจารย์กว่า 30 สถาบัน เดินทางสู่อ่างเก็บน้ำยางชุม อันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งเป็นต้นแบบแนวคิดขาดทุนคือกำไรของประชาชนอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยการนำคณะปล่อยพันธุ์ปลา จำนวน 9,999 ตัว ถวายเป็นพระราชกุศลในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”

“จากนั้นจึงดำเนินกิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ด้วยการนำสับปะรดมาแปรรูปเป็นกระดาษใบสับปะรด ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP ปี 2559 อันเป็นหนึ่งสินค้านวัตวิถีที่สร้างรายได้ให้คนในชุมชน, สมาชิกบ้านรวมไทย,หมู่บ้านต้นแบบด้านการท่องเที่ยวภายใต้โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสบู่ยาสระผม น้ำยาล้างจานจากสับปะรด ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ จากใบสับปะรด ที่ก่อนหน้านี้เคยถูกมองว่าไม่มีค่า จึงถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยที่ใช้ในการเกษตร ก่อนจะถูกนำมาเพิ่มมูลค่าจนกลายเป็นสินค้า OTOP ของชุมชนในปัจจุบัน และถ่ายทอดสู่คณะครูอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการตามรอยพระราชาในครั้งนี้”

“สำหรับกิจกรรมไฮไลต์ของโครงการตามรอยพระราชาครั้งนี้ คือ การศึกษาศาสตร์พระราชา เพื่อแก้ปัญหาคนกับช้างอย่างยั่งยืน ปลูกป่าในใจคนกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งคณะครูอาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยทรงมีพระราชดำริให้ปลูกป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อยังความชุ่มชื้นคืนธรรมชาติ และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าทั้งปวง ตามพระราชดำรัสคนกับช้างว่าช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ในป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ”

ทั้งยังมีกิจกรรมในการร่วมสร้างฝายชะลอน้ำ ณ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรีเพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำให้ผืนป่าแห่งนี้มีความชุ่มชื้น และชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง เพื่อลดการสูญเสีย และส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ดังแนวคิดการพื้นฟูผืนป่า ตามแนวพระราชดำริในการจัดการฟื้นฟูผืนป่า โดยการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า และสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย


“ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวเสริมว่า ผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนจะได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ “King BhumibolAdulyadej of Thailand” จำนวน3 เล่ม ซึ่งหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ, พระราชจริยวัตรและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่าน และสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่าทำไมคนไทยถึงได้รักในหลวงรัชกาลที่ 9ทั้งยังได้ให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม

“สำหรับกิจกรรมถอดบทเรียนหลังจากการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้วจะมี อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย มาทำการเล่นผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ Game of Our Nation ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง, วินัย,สุจริต, จิตอาสา พร้อมกับเกม The MediciEffect 9 ถอดบทเรียน และต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา สุดท้ายคือเกม The King’s Journey Learn Englishan Example of an Inventionเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailandซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป”

“การทำกิจกรรมครั้งนี้ เรายังมอบหนังสือมรดกแห่งแผ่นดิน จากโครงการปันความรู้สู่สังคมให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านย่านซื่อ และโรงเรียนบ้านรวมไทย พร้อมทั้งได้มอบถุงยังชีพกองบุญ ธรรมดีด้วยใจ ต้านภัยโควิดให้แก่ชาวบ้านจำนวน 15 หมู่บ้าน 600 ครอบครัวอีกด้วย ได้แก่ หมู่บ้านรวมไทย, หมู่บ้านพุบอน, หมู่บ้านย่านซื่อ,ตำรวจตระเวนชายแดน, อุทยานกุยบุรี,กรมป่าไม้ และโครงการพระราชดำริ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์, หัวหิน, ปราณบุรี, กุยบุรี, ทับสะแก, บางสะพาน, บางสะพานน้อย และสามร้อยยอดอีกด้วย โดยมีเป้าหมายจำนวน 5,000ครอบครัว ในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ”


สำหรับกิจกรรมตามรอยพระราชา จัดมาทั้งหมด 7 ครั้ง ได้แก่ 1.ชุมชนบ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม 2.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 3.โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ โครงการหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี 4.เขื่อนขุนด่านปราการชล ศูนย์ภูมิรักษ์จังหวัดนครนายก 5.โครงการพัฒนาชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จังหวัดจันทบุรี 6.มหาชีวาลัยอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์และ 7.อุทยานแห่งชาติกุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์