ปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ผลวิจัยชี้โควิดเร่ง “ผู้นำ” เปลี่ยนแปลง

"ร็อบ เวลส์" ประธานบริษัทเวิร์กเดย์ประจำภูมิภาคเอเชีย

ผลการศึกษาโดยเวิร์กเดย์ ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชั่นการบริหารทรัพยากรบุคคลและการเงิน สำหรับองค์กรพบว่าเกือบ 2 ใน 3(63%) ขององค์กรไทยเร่งแผนการเปลี่ยนสู่เทคโนโลยีดิจิทัล อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่ 26% อยู่ในขั้นตอนของการจัดลำดับความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่

สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดความคล่องตัวทางเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเวิร์กเดย์ (Workday Digital Agility Index) ที่จัดทำร่วมกับ IDC บริษัทด้านข้อมูลข่าวสารในตลาดเทคโนโลยี โดยทำการสำรวจผู้นำทางธุรกิจระดับอาวุโส และผู้บริหารระดับสูง ในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล, การเงิน และเทคโนโลยีสารสนเทศเกือบ 900 คน ครอบคลุม 9 ตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยผลการศึกษาเผยถึงการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับความคล่องตัวทางเทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กรชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

การขาดความคล่องตัวทางเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้องค์กร 3 ใน 5 (61%) ต้องดิ้นรนเมื่อต้องปรับเปลี่ยนแผนการเงินของปีนี้ และมีองค์กร 59% ที่ไม่สามารถปรับโครงสร้างได้ ขณะที่ในส่วนของการบริหารงานบุคคล และกระบวนการต่าง ๆ ขององค์กร พบว่าองค์กร 3 ใน 5(60%) ขาดการเก็บข้อมูลทักษะของพนักงานในองค์กร จึงไม่สามารถจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดครั้งใหญ่ได้ และอีก 35% ไม่สามารถบริหารจัดการกระบวนการอนุมัติและกระบวนการทางธุรกิจที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ได้

“ร็อบ เวลส์” ประธานบริษัทเวิร์กเดย์ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มุ่งเน้นไปที่ความสำคัญของธุรกิจที่ต้องมีความคล่องตัวแบบดิจิทัล หากปราศจากหัวใจสำคัญจากด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม องค์กรจะไม่สามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้อีกต่อไป

“ในปีนี้บริษัทส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแผนการเงินและทรัพยากรมนุษย์ที่รวดเร็วและฉับพลัน การวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า กระบวนการออฟไลน์ขัดขวางความคล่องตัวขององค์กรผมหวังว่าผลการศึกษาครั้งนี้จะส่งเสริมให้ผู้นำจำนวนมากหันมาทบทวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับวิธีการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวขององค์กรและพนักงาน”

นอกจากนี้ องค์กรต่าง ๆ ในไทยยังกล่าวว่า ส่วนงานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ งานด้านการขาย (76%) รองลงมาเป็นด้านการเงิน (46%) และด้านลูกค้าสัมพันธ์ (43%)

การขาดทักษะทางด้านดิจิทัลนั้น พิสูจน์แล้วว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความคล่องตัวด้านดิจิทัลขององค์กร ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ มากกว่าครึ่ง (57%) ขององค์กรในไทยขาดวัฒนธรรมความคล่องแคล่วทั่วทั้งองค์กร โดยมีองค์กรในสัดส่วนเท่ากัน (57%) ที่เผยว่ามีพนักงานของพวกเขาน้อยกว่าครึ่งที่มีทักษะและความสามารถด้านดิจิทัล และ 1 ใน 5(20%) กล่าวว่า พวกเขาแทบไม่มีพนักงานที่มีประสบการณ์หรือทักษะด้านดิจิทัลเลย

การขาดความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลนี้เพราะองค์กรไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญของบุคลากรที่มีความสามารถว่าเป็นข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน จึงไม่ได้ลงทุนเพื่อสรรหาหรือบ่มเพาะบุคลากรที่มีทักษะความสามารถ ในขณะที่ 87% ขององค์กรไทยไม่ได้มองว่าพนักงานที่มีศักยภาพสูงเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อบริษัท รวมถึงขาดเครื่องมือและกระบวนการที่เหมาะสมในการบริหารทรัพยากรมนุษย์

“เดเนียลโซ จิเมเนซ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และหัวหน้าฝ่ายการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของวิสาหกิจแห่งอนาคต และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บริษัท IDC เอเชีย-แปซิฟิกกล่าวเสริมว่า ผลการสำรวจมีความสอดคล้องกับงานวิจัยของ IDC เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (DX) และผลกระทบของโควิด-19 ต่อองค์กรในเอเชีย-แปซิฟิกที่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลไม่ใช่แค่ทางเลือกอีกต่อไป

“แต่คือความอยู่รอดของบริษัท วิกฤตครั้งนี้ไม่เพียงนำมาซึ่งความท้าทายใหม่ แต่ยังเพิ่มความรุนแรงของความไร้ประสิทธิภาพที่มีอยู่แล้วให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้หลายองค์กรจำเป็นต้องมุ่งเน้นความคล่องตัวและปรับตัวได้ องค์กรที่เห็นวิกฤตครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง และเร่งธุรกิจให้เข้าสู่ดิจิทัลอย่างแข็งแกร่ง และปรับตัวได้เป็นอย่างดีในยุค next normal”

ทัศนคติต่าง ๆ เหล่านี้ยังปรากฏออกมาในด้านการสร้างเสริมประสบการณ์ของพนักงาน โดยมีองค์กรเพียง 37% ที่มองว่าการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญที่กำหนดกระบวนการตัดสินใจต่าง ๆ ขององค์กร

แต่กระนั้น องค์กรเกือบทั้งหมด หรือ 93% ที่สำรวจมองว่าการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ โดยองค์กร 87% พึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อดำเนินการตามแผนเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ ขณะที่องค์กรไทยมุ่งเน้นแผนการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลระหว่าง 12-18 เดือนข้างหน้าคือระบบบริการลูกค้า (78%), ระบบการสร้างรายได้

ในส่วนที่ติดต่อกับลูกค้า (78%) และระบบบริหารจัดการภายในขององค์กร (70%) ส่วนด้านที่สำคัญน้อยที่สุดคือ ช่องทางสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าต่าง ๆ(37%) และระบบบริหารทรัพยากรบุคคล (35%)

ที่ล้วนเป็นผลสำรวจที่น่าสนใจจริง ๆ