วิทยาลัยเกษตรฯ สร้าง “ชลกร” บริหารจัดการน้ำตามรอยในหลวง ร.9

เครดิตภาพ : มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์

ต้องยอมรับว่าแนวทางการบริหารจัดการน้ำของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” หรือ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เป็นแนวทางที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนให้การยอมรับและนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง เพราะเป็นแนวทางแก้ปัญหาน้ำได้อย่างครอบคลุม

ซึ่งเหมือนกับกระทรวงศึกษาธิการที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารจัดการน้ำของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้กับ “โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” อันเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศ ด้วยกลไกปั้นวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำรวมถึงสร้าง “ชลกร” ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำในชุมชนรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาน้ำในชุมชนของตนเองให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

“ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า ดิฉันซึมซับพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาอย่างเสมอ โดยเฉพาะเรื่องของดิน น้ำ ป่า ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เป็นเหตุจูงใจให้ดิฉันปลูกป่าไปแล้วกว่า 20 ล้านต้น ภายในระยะเวลากว่า 35 ปี ภายใต้มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่สร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างคนไทยกับทรัพยากรธรรมชาติ จนมาถึงปัจจุบันก็ยังคงให้ความสนใจในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ

“กอปรกับปีนี้ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนักในรอบ 40 ปี เพราะกักเก็บน้ำได้ไม่ดี โดยเฉพาะภาคอีสานที่เก็บกักน้ำเพียง 3.5% จากปริมาณน้ำทั้งหมด จึงจัดโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนขึ้นมา เพื่อหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านน้ำ และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความยากจนของชุมชน โดยดิฉันยึดหลักดำเนินงาน

3 ประการ คือ หนึ่ง ต้องมีพื้นที่ให้น้ำอยู่,สอง มีที่ให้น้ำไหล และสาม เก็บน้ำไว้ใต้ดิน จึงจะสร้างความอุดมสมบูรณ์ของน้ำให้กับชุมชนนอกเขตชลประทาน เพื่อใช้ในการทำการเกษตร และเพื่อบริโภค”

“ตรงนี้เราจึงใช้กลไกการทำงานผ่านสถาบันการศึกษา ด้วยการยกระดับวิทยาลัยเกษตรฯ 47 แห่ง และโรงเรียนการศึกษาพิเศษอีก 176 แห่งทั่วประเทศ ผ่านหลักสูตรชลกร เพื่อให้นักเรียนมีความรู้เรื่องการจัดการน้ำ ด้วยการนำความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เเละนวัตกรรม มาใช้ในการเรียน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านน้ำ และช่วยผลักดันชุมชนตนเองทำการเกษตรได้คุณภาพดี จนกลายเป็น digital smart farming”

“เบื้องต้นเรานำร่องวิทยาลัยเกษตรฯ 5 แห่ง ได้แก่ อุบลราชธานี, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, ศรีสะเกษ ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากำลังออกแบบหลักสูตรชลกร เพื่อให้แต่ละวิทยาลัยนำไปจัดการเรียนการสอน จากนั้นวิทยาลัยต่าง ๆ จะสร้างโมเดลกักเก็บน้ำทั้งบนพื้นดิน ผิวดิน และใต้ดิน ขึ้นมาตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ในวิทยาลัย เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการเรียนรู้ และขยายลงพื้นที่สู่ชุมชน”

“ณรงค์ แผ้วพลสง” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า โครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 100 ล้านบาท จากมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ที่มี “โชติ โสภณพนิช” เป็นประธาน เพื่อเป็นทุนแรกเริ่มสำหรับตั้งเป็นกองทุน ในการนำไปบริหารโครงการโดยรวม เพื่อสร้างโมเดลต้นแบบในอาชีวเกษตร

“สำหรับหลักสูตรชลกร ไม่ได้ตั้งเป็นวิชาใหม่ แต่ใช้ความรู้พื้นฐานทางเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์มาบูรณาการร่วมกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กัน โดยชุมชนต้องมีส่วนร่วม ขณะนี้เรากำลังทำหลักสูตร คาดว่าจะได้ใช้ในปีการศึกษาที่ 2 ปี 2563 นี้ หากได้ผลดี ทางอาชีวศึกษาจะขยายไปสู่วิทยาลัยอื่น ๆ ในลำดับต่อไป เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ”