“ไมโครซอฟท์” ช่วยแรงงาน พัฒนาทักษะดิจิทัล 25 ล้านคนทั่วโลก

บริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ประกาศเปิดตัวโครงการใหม่ระดับโลกเพื่อเสริมสร้างทักษะแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลเพิ่มเติมให้กับผู้คนจำนวนกว่า 25 ล้านคนทั่วโลกภายในสิ้นปี 2563 โดยโครงการดังกล่าวถูกเปิดตัวขึ้นเพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างทักษะเพื่อนำไปปรับใช้เพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตเชิงเศรษฐกิจระดับโลกที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในการขยายโอกาสการเข้าถึงทักษะเชิงดิจิทัลอันเป็นขั้นตอนสำคัญในการช่วยผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ว่างงานจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากที่สุด

ยิ่งเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีจำนวนแรงงานที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีการปิดสำนักงานในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดมากที่สุดถึง 1.09 พันล้านคน ที่สำคัญ ภูมิภาคนี้ยังมีจำนวนแรงงานนอกระบบที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์มากที่สุดถึง 829 ล้านคน คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ60 ของจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ผลเช่นนี้ จึงทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) คาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้จะส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่อยู่ภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกชะลอตัวลงในปี 2563 ระหว่างร้อยละ 3-10 ขณะเดียวกันยังคาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5-7 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด สำหรับในประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะลดลงร้อยละ 9.7 และมีอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1

สัตยา นาเดลลา (Photo by Manjunath Kiran / AFP)

“สัตยา นาเดลลา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า โควิด-19ก่อให้เกิดวิกฤตทั้งในเชิงสาธารณสุขและเศรษฐกิจ และในขณะที่โลกของเรากำลังฟื้นตัวจากวิกฤตเหล่านั้น เราจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในวันนี้เรารวบรวมทรัพยากรที่ครอบคลุมของไมโครซอฟท์ รวมถึง LinkedIn และ GitHub เพื่อไตร่ตรองวิธีการที่ผู้คนใช้ในการเรียนรู้ และนำทักษะใหม่ ๆ มาใช้งานเพื่อช่วยเหลือผู้คนจำนวนกว่า 25 ล้านคน ที่ประสบปัญหาการว่างงาน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในการเตรียมความพร้อมสำหรับงานในอนาคต

สำหรับโครงการนี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ในบล็อกอย่างเป็นทางการของไมโครซอฟท์ ประกอบด้วย ขั้นตอนเร่งด่วนในการช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการฝึกทักษะใหม่ และสมัครงานที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาด และนำทุกส่วนของบริษัทมาใช้ โดยผสมผสานระหว่างทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว และทรัพยากรใหม่ ๆ จาก LinkedIn, GitHub และไมโครซอฟท์ ดังนี้

หนึ่ง การใช้งานข้อมูลเพื่อระบุงานที่กำลังเป็นที่ต้องการและทักษะที่จำเป็นต้องพัฒนา

สอง การเข้าถึงเส้นทางการเรียนรู้และเนื้อหาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยเหลือผู้คนในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อตำแหน่งงานเหล่านี้

สาม ประกาศนียบัตรที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยค่าใช้จ่ายต่ำ และเครื่องมือที่ใช้สำหรับการหางาน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้คนในการพัฒนาทักษะเหล่านี้เพื่อสมัครงานใหม่

นอกจากนั้น โครงการนี้ยังเป็นโครงการเทคโนโลยีที่มีความครอบคลุม ซึ่งเป็นการต่อยอดจากข้อมูล และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเริ่มจากข้อมูลเกี่ยวกับงานและทักษะที่มาจาก LinkedIn Economic Graph โดยโครงการจะมอบการเข้าถึงเนื้อหาในแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย ได้แก่ LinkedIn Learning,Microsoft Learn และ GitHub LearningLab ที่สำคัญ ยังผสานเข้ากับการรับรองด้วย Microsoft Certificationsและการนำเสนอเครื่องมือการหางานของ LinkedIn โดยแหล่งทรัพยากรเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้จากเว็บไซต์ศูนย์กลางที่ opportunity.linkedin.com และจะให้บริการอย่างแพร่หลายผ่านช่องทางออนไลน์ใน 4 ภาษา ได้แก่ภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน และภาษาสเปน

แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ให้บริการภายใต้โครงการดังกล่าวถูกคัดเลือกอย่างพิถีพิถันให้เหมาะสมกับความต้องการของแรงงาน โดยประกอบด้วย

หนึ่ง ความรู้เท่าทันดิจิทัลพื้นฐาน Microsoft Digital Literacy ถูกออกแบบสำหรับผู้คนที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน และต้องการที่จะเรียนรู้หลักเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเชิงดิจิทัล หลักสูตรนี้จะช่วยให้ผู้คนเพิ่มทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็น เพื่อมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลและยกระดับความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.microsoft.com/en-us/digitalliteracy/home

สอง ทักษะตามตำแหน่งงาน นำเสนอการพัฒนาทักษะที่มีความเกี่ยวข้องที่สุดสำหรับเส้นทางอาชีพต่าง ๆ ด้วยหลักสูตรธุรกิจ ครีเอทีฟ และเทคโนโลยี โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละตำแหน่งงาน สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.linkedin.com/learning/

สาม ทักษะเชิงเทคนิค Microsoft Learn เสริมทักษะเชิงเทคนิคของผู้เรียนผ่านวิธีการที่หลากหลาย ตั้งแต่การสำรวจเนื้อหาตามหัวข้อเชิงลึกผ่านเส้นทางการเรียนรู้พร้อมคำแนะนำ ไปจนถึงการเรียนรู้วิธีการทำชิ้นงานบางอย่างให้สำเร็จผ่านหลักสูตรแยก เมื่อจบหลักสูตร ผู้เรียนจะได้รับการรับรองMicrosoft Certification โดยสามารถอ่านรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ https://docs.microsoft.com/en-us/learn/

ขณะเดียวกัน บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังดำเนินงานสอดคล้องกับโครงการระดับโลกดังกล่าว ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัล “Advancingthe Future of Work” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มโอกาสในการจ้างงานให้กับบัณฑิตอาชีวะรุ่นใหม่ จำนวน 6,000 คน ในจังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยองด้วย

ทั้งนั้นเพราะทักษะดิจิทัลกำลังเป็นที่ต้องการของเหล่านายจ้าง เพราะผ่านการฝึกอบรมอาจารย์จำนวน 120 คน จาก60 สถาบันการศึกษา ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern EconomicCorridor-EEC) ทั้งยังพร้อมรับโอกาสในการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าสู่ตลาดงาน ผ่านหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Future Ready ASEAN ที่ https://www.futurereadyasean.org/

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์

“ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กลุ่มคนที่มีความพร้อมในการต่อสู้กับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดน้อยที่สุด คือ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และเราได้พบเห็นอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่, ลูกจ้างรายวัน, แรงงานอพยพที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง และนักศึกษาจบใหม่ “เป้าหมายของเราคือการผสมผสานสิ่งที่ดีที่สุดของเทคโนโลยีเข้ากับความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกับรัฐบาลและหน่วยงานโดยไม่แสวงผลกำไร เพื่อช่วยเหลือผู้คนในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการถูกจ้างงาน เราเชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยีอย่าง AI ในการสนับสนุนการฟื้นฟูธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ และเรามีความมุ่งมั่นในการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะและฝีมือที่สามารถได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่”

“ยิ่งไปกว่านั้น ไมโครซอฟท์ยังผลักดันความมุ่งมั่นนั้นด้วยเงินทุนสนับสนุนมูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 640 ล้านบาท) เพื่อช่วยให้องค์กรไม่แสวงผลกำไรทั่วโลกสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด โดย 1 ใน 4 ของเงินทุนนี้ หรือ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 160 ล้านบาท) จะถูกนำไปมอบให้กับองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีลักษณะเป็นชุมชนในรูปแบบของเงินสดโดยเป็นชุมชนที่นำโดย และจัดทำขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนผิวสีในประเทศสหรัฐ”

“นอกจากนี้ บริษัทยังมีความมุ่งมั่นในการจัดการข้อมูล และวิเคราะห์ให้แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงข้อมูลจาก LinkedIn Economic Graph โดยให้บริการแก่รัฐบาลทั่วโลก เพื่อให้พวกเขาสามารถประเมินความต้องการเชิงเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น เพราะไมโครซอฟท์ จะใช้เสียงของตนเองเพื่อให้การสนับสนุนนวัตกรรมเกี่ยวกับนโยบายเพื่อสาธารณะที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป”

ที่สำคัญ ไมโครซอฟท์ยังประกาศว่าทางบริษัทกำลังพัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ เพื่อการเรียนรู้ใน Microsoft Teams ซึ่งถูกออกแบบขึ้นเพื่อช่วยให้นายจ้างสามารถเสริมสร้างทักษะให้แก่พนักงานปัจจุบัน และพนักงานใหม่ ในขณะที่ผู้คนเริ่มกลับมาทำงานตามปกติและในเศรษฐกิจมีการว่าจ้างงานเพิ่มขึ้น

ทั้งนั้นเพื่อสร้างโอกาสให้กับคนทุกคนในกลุ่มแรงงานระดับโลก และยังเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของ LinkedIn โดยจากการเป็นส่วนหนึ่งของอีโคซิสเต็มของไมโครซอฟท์ จึงทำให้ LinkedInมีความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการหางานทั่วโลกในการเพิ่มทักษะ และค้นพบกับงานที่เหมาะสมกับพวกเขา


โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เสียเปรียบเนื่องจากภาวะวิกฤตโควิด-19 ด้วยการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาชีพและทักษะในอนาคต เพื่อสร้างเส้นทางการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่กำลังหางานกว่า 25 ล้านคนทั่วโลกให้พบกับโอกาสครั้งต่อไปของพวกเขา ซึ่งพร้อมให้บริการที่ opportunity.linkedin.com