หวงแหนกระบี่ ดูแลจังหวัดสู่ความยั่งยืน

กระบี่ นับเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีทุนทางธรรมชาติอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับโลกของทะเลฝั่งอันดามัน ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอันโดดเด่นล้ำค่า มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่หลากหลาย อีกทั้งวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงนับเป็นสมบัติล้ำค่ายากจะหาสิ่งใดมาทดแทน ที่ผ่านมาจังหวัดกระบี่ริเริ่มความร่วมมือจากภาครัฐ ผู้ประกอบการและคนในชุมชนเพื่อร่วมกันปกปักรักษากระบี่ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

จนทำให้จังหวัดกระบี่ก้าวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกอย่างเต็มความภาคภูมิ ซึ่งเหมือนกับ “โครงการหวงแหนกระบี่ (Cherish Krabi)” ที่ต้องการสร้างจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เห็นความสำคัญของจังหวัดกระบี่ ด้วยการสร้างความเข้าใจ และเชิญชวนสังคมมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจหวงแหนกระบี่ เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมผ่านบทบาทของตัวเองเพื่อร่วมสร้างคุณค่าให้แก่แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนวัฒนธรรมพื้นถิ่น และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร” ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงโครงการหวงแหนกระบี่ ว่า กระบี่มีต้นทุนทางธรรมชาติที่ประเมินค่าไม่ได้ ทั้งสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้และมนุษย์สร้างขึ้น ทั้งยังมีระบบนิเวศที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภูเขา, ป่าที่อุดมสมบูรณ์, ทะเลที่สวยงาม ถ้ำ และภาพเขียนโบราณที่ล้วนเป็นสิ่งที่คนกระบี่รักและหวงแหนผมจึงอยากให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่ไปนาน ๆ

“ถามว่าในอนาคตอยากเห็นกระบี่เป็นอย่างไร ก็อยากเห็นกระบี่คงความสวยงามอย่างนี้ แต่กระนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เป็นระบบ มีมิติทางธรรมชาติ มิติทางวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม รวมถึงเพิ่มเรื่องความปลอดภัย การคมนาคมที่สะดวกและเอื้อต่อการท่องเที่ยวดังนั้น สิ่งที่เรากำลังมุ่งพัฒนาคือการบริการที่มีความคุ้มค่า ช่วยพัฒนาชุมชนเรื่องการให้บริการที่ดี ดูแลเหมือนญาติเหมือนเพื่อน เพราะการเป็นเจ้าบ้านที่ดีเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างชาติเกิดความประทับใจ และช่วยกันรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของจังหวัดให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

“เนรมิต สงแสง” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา จ.กระบี่ กล่าวเสริมว่า อุทยานแห่งนี้เปรียบเสมือนหลังคาของกระบี่ เป็นจุดสูงสุดของจังหวัด ทั้งยังเป็นที่ตั้งของป่าต้นน้ำ แหล่งกำเนิดน้ำที่หล่อเลี้ยงคนกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง ดังนั้น พันธกิจของอุทยานจึงมี 3 ส่วนงานด้วยกัน คือ การดูแลป้องกันอนุรักษ์ผืนป่า, การศึกษาวิจัยพื้นที่ผ่านงานวิชาการ และการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวนันทนาการ

“ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องทำงานสร้างความร่วมมือทุกส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อันเป็นส่วนสำคัญ เพราะชุมชนมีการตั้งถิ่นฐานก่อนการประกาศพื้นที่อุทยาน เราต้องสร้างความเข้าใจ ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ด้วยการร่วมกันอนุรักษ์และร่วมกันรับผลประโยชน์ เพราะการหวงแหนกระบี่ก็เหมือนการหวงแหนทรัพยากรบนโลกใบนี้ เนื่องจากจังหวัดของเรามีทรัพยากรที่เป็นตัวแทนเกือบทั้งหมดของประเทศ ทั้งภูเขาจนถึงทะเล ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่มาควรปฏิบัติตามข้อกำหนด มีหัวใจสีเขียว มาท่องเที่ยวเสมือนว่าพื้นที่นี้เป็นบ้านของเรา ต้องไม่ทำลายทุนที่ธรรมชาติให้มา และมีทรัพยากรที่ใช้ประโยชน์ได้ต่อไปจนถึงคำว่ายั่งยืน”

“ดลหล้อ เหมพิทักษ์” กรรมการประมงพื้นบ้านบ้านไหนหนัง อ.เมือง จ.กระบี่ กล่าวเสริมถึงที่มาของคำว่า “บ้านไหนหนัง” ให้ฟังว่า หมู่บ้านนี้คือพื้นที่ผสมผสานวัฒนธรรมไทย-มุสลิม แต่เดิมชื่อว่า “สุไหงกาหนัง” สุไหง หมายถึง คลอง กาหนัง หมายถึง สุขสบาย เมื่อก่อนการทำประมงที่นี่ใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายกันเยอะ มีการล่าปลาโดยใช้อวนรุน อวนลากที่ล้วนทำลายสัตว์น้ำมากมาย

“ต่อมาเราจึงคิดถึงการอนุรักษ์ทั้งการประมงและป่าชายเลน ทั้งยังมีการทำชันชี ภาษาชาวบ้านหมายถึง ข้อตกลงการอนุรักษ์ที่ควบคู่กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เราตั้งกติกาจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เช่น การกำหนดพื้นที่จับปลา การทำบ้านปลา การเปลี่ยนเครื่องมือหาปลา เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับชาวบ้านในการช่วยกันหวงแหน เพราะที่กระบี่ไม่ใช่แค่มีท้องทะเลที่สวยงาม แต่ยังมีการท่องเที่ยวชุมชน ดังนั้นความหวงแหนนั้นจึงเกิดมาจากคนในชุมชนที่อยากเห็นสิ่งเหล่านี้คงอยู่นาน ๆ”


“เพราะถ้าเราไม่อยู่แล้ว ลูกหลานต่อไปก็จะได้อยู่อย่างสุขสบายเหมือนชื่อบ้านไหนหนัง ที่จะต้องสร้างจิตสำนึกจากจิตใจในการอยู่ร่วมกัน มีผู้ที่ให้ และมีความเมตตาต่อกัน”