“ธรรมศาสตร์” ลงทุนตั้ง AI Center บ่มเพาะ “นวัตกร” รับโลกอนาคต

ธรรมศาสตร์ ตั้ง AI Center

การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดในช่วงผ่านมา ทำให้เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ถูกพูดถึงบ่อยครั้งมากขึ้น ดังนั้น เมื่อหันมามองความพร้อมของสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนเกี่ยวกับทางด้านเทคโนโลยียังมีจำนวนอยู่จำกัด และส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ จนทำให้ในแวดวงของผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ระบุว่า วิศวกรที่เชี่ยวชาญด้าน AI ในขณะนี้ถือว่า “ขาดตลาด” แต่ความต้องการกลับเพิ่มมากขึ้น ผลเช่นนี้จึงทำให้การควานหาตัวในระดับ global ยิ่งยากขึ้นไปอีก กระทั่งมีปรากฏการณ์แย่งซื้อตัว ทั้งยังทำให้เงินเดือนของวิศวกรด้าน AI พุ่งขึ้นไปอยู่ที่มากกว่า 100,000 บาท/เดือน

ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาท/ปี ขณะนี้ยังเตรียมพัฒนาโปรเจ็กต์ใหญ่ คือ AI Center โดยมี “รศ.เกศินี วิฑูรชาติ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าขณะนี้เตรียมพัฒนา AI Center ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ เบื้องต้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วางแผนจัดตั้ง “AI Center” โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนดิจิทัลเพื่อการศึกษาเศรษฐกิจและสังคม (กองทุน DE) รวม 28 ล้านบาท รวมถึงยังดึงภาคเอกชนที่มีความสนใจ และมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามาร่วมในการจัดตั้งศูนย์ AI อีกด้วย

อธิการบดี ธรรมศาสตร์
“รศ.เกศินี วิฑูรชาติ”

 

โดยธรรมศาสตร์วางเป้าหมาย คือ การจัดตั้งศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นฐานรองรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ สร้างหลักสูตรที่มีความเฉพาะตัวด้าน AI ให้กับนักศึกษาของธรรมศาสตร์ ไปจนถึงบุคคลภายนอก หรือภาคเอกชนที่สนใจเรื่อง AI ให้เข้ามาใช้บริการได้ด้วย เพราะจะมีการเปิดฝึกอบรมที่น่าสนใจ และสามารถนำไปประกอบวิชาชีพได้ในอนาคต

สำหรับเป้าหมายของการจัดตั้ง AI Center “รศ.เกศินี” บอกว่า เราต้องการให้นักศึกษา หรือผู้สนใจเข้ามาใช้บริการในพื้้นที่ต่าง ๆ ประกอบด้วย หนึ่ง พื้นที่จัดนิทรรศการ สอง พื้นที่แสดงต้นแบบของปัญญาประดิษฐ์ สาม พื้นที่ลานจัดกิจกรรม สี่ พื้นที่สำหรับฝึกอบรมทั้งระดับพื้นฐานและระดับสูง และห้า พื้นที่สำหรับการฝึกฝนรวมไปจนถึงการวิจัย และพัฒนาอีกด้วย

“ศูนย์แห่งนี้สามารถรองรับผู้สนใจเข้ามาใช้บริการอยู่ที่ราว 10,000 คนต่อปี และมีเปิดฝึกอบรมความรู้ขั้นพื้นฐาน AI อย่างน้อย 1,000 คนต่อปี รวมถึงการฝึกอบรมขั้นสูงราว 300 คนต่อปี ที่สำคัญ เนื้อหาสำคัญขององค์ความรู้ยังมีการกระตุ้นการพัฒนาด้าน AI อย่างต่อเนื่องภายในประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาจากนักศึกษาด้าน AI มาเป็นผู้ประกอบการ หรือ startup ต่อไปในอนาคต”

AI-ปัญญาประดิษฐ์

“บางคนอาจจะมองว่าธรรมศาสตร์เชย แต่จากนี้ไปเราจะอัพเกรดธรรมศาสตร์ ด้วยการพัฒนา AI Center ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมทำงานจากหลากหลายองค์กร เช่น สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรของธรรมศาสตร์ที่มีความโดดเด่นทางด้านวิศวกรรมในระดับสากล ที่สำคัญ ศูนย์ AI จะเป็นสถานที่จัดฝึกอบรมให้ความรู้ และเป็นแหล่งของวิชาเรียนที่มีความเกี่ยวข้องทางด้าน AI ทั้งหมด รวมไปจนถึงการพัฒนาโปรดักต์ต่าง ๆ ด้วยการนำ AI เข้ามาใช้ และเร็ว ๆ นี้การพัฒนาจะมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากมีเจ้าภาพ คือ ธรรมศาสตร์ และมีภาคเอกชน, พาร์ตเนอร์ และศิษย์เก่าของธรรมศาสตร์ เข้ามาช่วยดูแลเรื่องงบประมาณอีกด้วย”

เพียงแต่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา AI Center นั้น “รศ.เกศินี” บอกว่า เราได้รับงบประมาณจากกองทุนดิจิทัลเพื่อการศึกษาเศรษฐกิจและสังคม (กองทุน DE) รวม 28 ล้านบาท ทั้งยังมีพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน ประกอบด้วย บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจจำหน่าย และวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร อีกทั้งยังมีบริการที่ครอบคลุมในการให้คำปรึกษาออกแบบติดตั้ง บำรุงรักษาระบบงาน รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยี และคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโปรเจ็กต์นี้ไม่น้อยทีเดียว

“ส่วนการลงทุนด้านเทคโนโลยีของธรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่องถือเป็นภารกิจสำคัญ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศจะต้องพัฒนา และปรับตัวตามไปด้วย ซึ่งการปรับตัวในที่นี้หมายถึงว่าต้องคำนึงถึงนักศึกษามาก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากทัศนคติของนักเรียน นักศึกษายุคออนไลน์ จะเน้นการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์มากกว่าการเรียนในห้องเรียนทั่วไป ธรรมศาสตร์จึงดำเนินโครงการรับนักศึกษาแบบไม่สังกัดหลักสูตร หรือโครงการThammasart Frontier School โครงการดังกล่าวจะทำให้นักศึกษาที่เรียนจบจากรั้วธรรมศาสตร์ สามารถออกไปประกอบวิชาชีพได้อย่างมีความหลากหลายมากขึ้น”

“สำหรับ Frontier School ของธรรมศาสตร์นั้น เมื่อนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังไม่ต้องดีแคลร์ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะในช่วงของการเรียนปี 1 และปี 2 เขาจะลงวิชาพื้นฐานสำคัญ ๆ ที่นักศึกษาควรจะรู้ แต่เมื่อเข้าสู่ปี 3 ถึงจะกำหนดให้นักศึกษาเลือกเรียนในสิ่งที่ต้องการออกไปประกอบวิชาชีพได้ เหมือนให้เขาได้เรียนรู้ว่าตัวเองก่อนว่าชอบอะไร และถนัดอะไรด้วย เนื่องจากมหาวิทยาลัยยุคปัจจุบันต้องปรับตัวเพราะนอกจากใบปริญญาแล้ว นักศึกษาสามารถคิด-ทำงาน หรือพัฒนาการทำโปรเจ็กต์ได้หรือไม่ อีกทั้งในอนาคตธรรมศาสตร์มองว่าจะต้องมีความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการเทรนนิ่งนักศึกษา หรือออกไปทำวิจัย รวมถึงการออกไปทำธุรกิจจริง ๆ ที่เป็น startup ด้วยการนำประสบการณ์ของตัวเองมาดีแคลร์หน่วยกิต หรือนำมาเทียบเคียงกันได้”

ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2563 โครงการรับนักศึกษาแบบไม่สังกัดหลักสูตร มีคณะ/หลักสูตรภายใต้โครงการดังกล่าว คือ คณะนิติศาสตร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่มีหลักสูตรบัญชีบัณฑิต บริหารธุรกิจ กลุ่มวิชาบริหารทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มวิชาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ เป็นต้น

นอกจากนั้นก็ยังมี คณะรัฐศาสตร์, คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์, คณะศิลปศาสตร์, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน, คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์, วิทยาลัยสหวิทยาการ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ เข้าร่วมโครงการด้วย

“รศ.เกศินี” เล่าถึงภาพปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ตอนนี้ยังคงได้รับความเชื่อถือจากนักศึกษาเช่นเดิม จากตัวเลขของนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2563 อยู่ที่ประมาณ 9,000 คน เมื่อรวมนักศึกษาทุกระดับแล้ว ธรรมศาสตร์มีจำนวนนักศึกษารวมทั้งสิ้นกว่า 40,000 คน

“แม้จะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมในการแก้ไข ตั้งรับกับการระบาดของโรคเป็นอย่างดี ตรงนี้จึงสะท้อนไปจนถึงคุณภาพทางการศึกษา และนักศึกษาที่เรียนจบไปแล้วต่างได้รับการยอมรับจากสถานประกอบการต่าง ๆ ให้เข้าร่วมงาน นั่นหมายถึงว่าหลักคิด แนวทางการเรียนการสอนของธรรมศาสตร์ สามารถ “สร้างคน”ให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษา และภาคธุรกิจไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย”