วิถียั่งยืน “ยูนิโคล่” ชู 3 พันธกิจรักษ์ “คน-ชุมชน-โลก”

พนักงานยูนิโคล่

หลังจากกลุ่ม “ฟาสต์รีเทลลิ่ง” (Fast Retailling) บริษัทธุรกิจค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของแบรนด์ยูนิโคล่ (Uniqlo) ประกาศแผนลดใช้พลาสติกในส่วนที่ไม่จำเป็นออกจากซัพพลายเชนของบริษัทตลอดทั้งกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็น บรรจุภัณฑ์สินค้า,ถุงช็อปปิ้ง โดยเริ่มจากร้านยูนิโคล่ญี่ปุ่นและร้านอื่น ๆ ในเครือทั่วโลก ตั้งแต่เดือนก.ย. 2562 ที่ผ่านมา

โดยล่าสุด ยูนิโคล่ ประเทศไทย ประกาศงดแจกถุงพลาสติกเช่นกัน ด้วยการหันมาใช้ถุงกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังผ่านการรับรองจากการจัดการป่าไม้ FSC (Forest Stewardship Council) ภายใต้เงื่อนไขจำหน่ายแก่ลูกค้าในราคาถุงละ 2 บาท โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดจำหน่ายจะมอบให้แก่มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WARF) เพื่อนำไปสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์สัตว์ป่า และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ภายในเวลาเดียวกัน

ถุงกระดาษรักษ์โลก

“ที่กล่าวมานี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจด้านความยั่งยืนของยูนิโคล่ ที่มีเป้าหมายจะปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า ด้วยความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนพลังของเสื้อผ้าให้กลายเป็นพลังแห่งความดี สามารถทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้นได้ ด้วยการออกแบบตัดเย็บ จำหน่ายเสื้อผ้าที่ดี พร้อมกับการทำประโยชน์เพื่อสังคม เพื่อเป็นไปตามแนวทางของ “ทาดาชิ ยาไน” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของฟาสต์รีเทลลิ่ง ที่อยากเห็นความสำคัญเหล่านี้มากกว่าแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว”

คำกล่าวเบื้องต้นเป็นคำพูดของ “จันทร์จิรา ตอชะกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัดที่แสดงออกถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจของยูนิโคล่ ที่จะต้องควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคม

จันทร์จิรา ตอชะกุล
จันทร์จิรา ตอชะกุล

เพราะยูนิโคล่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมานาน 9 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาปฏิบัติตามพันธกิจด้านความยั่งยืนของบริษัทแม่ ควบคู่ไปกับการยึดมั่นในปรัชญาไลฟ์แวร์ (LifeWear) ซึ่งเน้นถึงการส่งมอบเสื้อผ้าที่มีคุณภาพ และสวมใส่สบายให้เข้ามาช่วยเติมเต็มการใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้คนได้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับการยึดมั่นในพันธกิจด้านความยั่งยืน สำหรับปีนี้ “ยูนิโคล่” ให้ความสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่

หนึ่ง ด้านผู้คน เพราะเรื่องของคนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน ยูนิโคล่เริ่มต้นจากการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงาน ด้วยการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม และยอมรับในความแตกต่าง

“พนักงานยูนิโคล่มีประมาณเกือบ 2,000 คน ทั้งพนักงานประจำ และพาร์ตไทม์ กระจายอยู่แต่ละสาขาทั่วประเทศกว่า 51 สาขา เรารับทั้งเด็กจบใหม่ และผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วกว่า 20 ปี มาทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจในอนาคต ดังนั้น พนักงานที่เข้ามาทำงานกับเราจึงเปิดโอกาสให้เขาเติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัทเสมอผ่านโครงการต่าง ๆ”

“ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ไปทำงานแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ รวมถึงโครงการผู้จัดการร้านฝึกหัด หรือ UNIQLO Manager Candidate (UMC) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยสนับสนุนพนักงานให้พัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดด พร้อมรับโอกาสในการเป็นผู้จัดการตั้งแต่เรียนจบใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้แต่ละคนสามารถวางแผนอนาคตในการทำงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

รวมทั้งให้พนักงานเขียนแผนพัฒนาตนเองว่ามีความสนใจ หรือเป้าหมายการเติบโตอย่างไร ผ่าน IDP (individual development plan)เพราะอยากรู้ว่าอนาคตเขาอยากจะเป็นอะไร และจะใช้แผนเหล่านี้ในการพัฒนาพนักงานแต่ละบุคคล ตามโครงสร้างของงานที่เรามีในบริษัท นับแต่เริ่มโครงการปัจจุบันก็มีพนักงานเติบโตจนไปถึงระดับผู้จัดการแล้วหลายคน”

กางเกงยีนส์

สอง ด้านชุมชน เป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยยูนิโคล่ มองว่าทุกพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญ จึงเกิดโครงการเพื่อสังคมหลายโครงการ เช่น Recycling Clothes Donation ส่งต่อเสื้อผ้าของยูนิโคล่สู่ผู้ที่ขาดแคลน โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2555 และบริจาคเสื้อผ้ารวมแล้วกว่า78,000 ชิ้น ให้กับผู้ขาดแคลนกว่า4,500 คน (นับถึงเดือนพฤษภาคม 2563) ผ่านพาร์ตเนอร์ เช่น สมาคมอาสาสมัครสันติ, คณะกรรมการการศึกษาเพื่อผู้อพยพชาวเมียนมาในจังหวัดตาก และมูลนิธิบ้านร่มไทร จังหวัดเชียงใหม่

“ล่าสุด โครงการ 10 Million MasksDonation ที่ได้บริจาคหน้ากากอนามัยของฟาสต์รีเทลลิ่ง จำนวน 10 ล้านชิ้น ให้กับสถาบันการแพทย์ทั่วโลก โดยยูนิโคล่ ประเทศไทย บริจาคหน้ากากอนามัย 500,000 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ และยังมีกิจกรรมให้ความรู้ และสอนทักษะการทำงานให้กับผู้บกพร่องทางปัญญา ผ่านโครงการ Education Center ซึ่งจัดขึ้นมา 2 ปีแล้ว จากความร่วมมือของยูนิโคล่ และสถาบันราชานุกูล และสมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานสำหรับผู้คนกลุ่มนี้”

“จันทร์จิรา” กล่าวถึงโครงการ Education Center โครงการนี้สอนทักษะผู้บกพร่องทางปัญญา ซึ่งถือเป็น best practice ของเราเลยก็ว่าได้เพราะเราเข้าไปสอนเขาเรื่องทักษะการพูดคุย, การพบปะผู้คน, การพับเสื้อผ้า, การชำระเงินหน้าเคาน์เตอร์ พูดง่าย ๆคือ สอนให้รู้จักกระบวนการทำงานทั้งหมดโดยใช้เวลาสอน 8 เดือน จากนั้นจะรับบางคนที่ทำงานดีเข้ามาทำงานกับเรา โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องจ้างงานกลุ่มนี้ให้ได้ 1 คนต่อ 1 สาขา ขณะนี้มีการจ้างงานแล้ว 23 คน ทำงานที่สำนักงานใหญ่ และที่ร้านยูนิโคล่ ใน 16 สาขาทั่วประเทศ

“ส่วนอีกโครงการ คือ In-Store Shopping Experienc ซึ่งจะเป็นการเสริมทักษะด้านสังคม และการเรียนรู้สำหรับเยาวชนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมของเยาวชนกลุ่มนี้ ด้วยการให้เขาเลือกซื้อเสื้อผ้าด้วยตนเอง เพราะปกติพ่อแม่จะเป็นผู้เลือกเสื้อผ้าให้ โดยเราจะให้คูปองเงินสดมูลค่า 2,500 บาท ให้เขาเลือกซื้อเสื้อผ้าในร้านยูนิโคล่ ซึ่งจะมีพนักงานช่วยเป็นพี่เลี้ยงเลือกเสื้อผ้า ชำระเงิน และปัจจุบันมีการจัดกิจกรรมนี้มาแล้วรวม 9 ครั้ง โดยมีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 200 คน จาก 12 โรงเรียน และอยู่ในขั้นพิจารณาสานต่อโครงการภายหลังจบวิกฤตโควิด-19”

สาม ด้านโลก เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ และรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ยูนิโคล่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตเสื้อผ้ามากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ เช่น กางเกงยีนส์ยูนิโคล่ ซึ่งพัฒนาขึ้นที่ศูนย์นวัตกรรมยีนส์ (Jeans Innovation Center) ในลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการลดปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตยีนส์ถึง 99% และภายในปี 2020 ยูนิโคล่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับผลิตภัณฑ์ยีนส์ทั้งหมดในเครือและมีแผนจะผลิตยีนส์ทั้งหมด 40 ล้านตัว ที่จะช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 3,000,000 ล้านลิตร เทียบเท่ากับน้ำในสระ 1,470 สระ”

เสื้อโโลกทำจากขวดพลาสติก PET

“รวมถึงเสื้อโปโล DRY-EX ทำจากขวดพลาสติก PET รีไซเคิล ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปีผ่านมา ซึ่งเรานำมาวางขายในร้านบางแห่งแล้ว แต่ยังบอกไม่ได้ว่าปริมาณเท่าใด เนื่องจากข้อจำกัดของการส่งพลาสติกเข้ามา และล่าสุดคือโครงการรีไซเคิลสินค้าดาวน์ขนเป็ด ร้านค้ายูนิโคล่ในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดรับผลิตภัณฑ์ดาวน์ขนเป็ดที่ลูกค้าไม่ใช้แล้ว ก่อนจะนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล และนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

โดยยูนิโคล่เตรียมวางจำหน่ายสินค้าดาวน์ขนเป็ดที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลในฤดูหนาวที่จะถึงนี้ นอกจากนั้นภายในร้านยังเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ที่ช่วยประหยัดพลังงานไปได้ประมาณ 20-50%เมื่อเทียบกับหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบเดิม”

นอกจากนั้น “จันทร์จิรา” ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญคือยูนิโคล่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก เพราะจากการศึกษาข้อมูลพบว่ามีพลาสติกชิ้นใหม่ลงสู่ทะเลปริมาณปีละ 8 ล้านตัน นอกเหนือจากที่คาดว่ามีขยะในทะเลอยู่แล้ว 150 ล้านตัน ยูนิโคล่และบริษัทแม่จึงลดปริมาณของพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งลงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

“สำหรับปีนี้เราจึงเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษ หรืองดการใช้พลาสติกมากขึ้น และพยายามลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งสำหรับคลิปเสื้อเชิ้ต ป้ายบอกขนาด และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการขนส่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายของฟาสต์รีเทลลิ่งในการลดปริมาณการหยิบยื่นพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้กับลูกค้าภายในร้านลง 85% หรือประมาณ 7,800 ตันต่อปี ภายในสิ้นปี 2563 เพราะจากข้อมูลของเดือน ก.พ. 62-มี.ค. 63 การใช้ถุงพลาสติก และแพ็กเกจต่าง ๆ รวม 9.3 ล้านชิ้น ซึ่งถือเป็นปริมาณที่มาก”

“ดังนั้น ในปี 2563 ยูนิโคล่ ประเทศไทย จึงงดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้า แต่เปลี่ยนเป็นให้ลูกค้าหันมาใช้ eco bag แทน ซึ่งเป็นถุงกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำมาจากผ้าฝ้าย ที่ได้รับการรับรองจากองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรBetter Cotton Initiative (BCI) เพราะทำมาจากกระดาษรีไซเคิลที่ผ่านการรับรองจากการจัดการป่าไม้ FSC (Forest Stewardship Council) โดยถุงกระดาษจะจำหน่ายในราคาถุงละ 2 บาท รายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดจำหน่ายจะมอบให้แก่มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WARF) เพื่อนำไปสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมลดการสร้างขยะพลาสติกให้กับสิ่งแวดล้อม”


อันเป็นบทบาทสำคัญของ”ยูนิโคล่” ในเรื่องของกิจกรรมซีเอสอาร์ต่อจากนี้ไป