เทคนิคขาดงาน ไม่ถึง 3 วัน

work from home
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์
ธำรงค์ศักดิ์ คงคาสวัสดิ์

ผมว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นลูกจ้างเป็นพนักงานจะรู้กติกาอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ถ้าขาดงานก็อย่าขาดงานเกินกว่า 3 วันทำงาน ไม่งั้นจะโดนไล่ออก (หรือถูกบริษัทเลิกจ้าง) โดยไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆทั้งสิ้น พอรู้อย่างนี้แล้ว พวกที่เป็น “สิงห์อู้” ชอบโดดงาน ประเภทชอบทำงานน้อย ๆ แต่อยากได้เงินเดือนเยอะ ๆ จะหาวิธีการซิกแซกแบบง่าย ๆคือ ขาดงาน แต่อย่าให้ถึง 3 วันติดกันสิครับ

พอคิดได้แบบนี้ก็จะขาด 1 วันบ้าง2 วันติดกันบ้าง แล้ววันที่ 3 ก็มาทำงานตามปกติ แล้ววันที่ขาดงานก็โทร.มาอ้างว่า ลาป่วยบ้าง, ลากิจบ้างล่ะ ขอแค่ให้หัวหน้าโอเคก็จบ ที่หนักกว่านั้นคือขาดงานไปเฉย ๆ ไม่มีการโทร.มาบอกกล่าวอะไรทั้งนั้น พอวันรุ่งขึ้นก็มาทำงานหน้าตาเฉย พอหัวหน้าหรือใครถามว่าเมื่อวานทำไมไม่มา ก็ตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่าไม่สบาย

หลายคนจะบอกว่า ปัญหาทำนองนี้เกิดจากตัวพนักงานที่ชอบอู้งาน ไม่รับผิดชอบ

แต่ผมว่าปัญหาเรื่องนี้อยู่ที่หัวหน้ามากกว่า เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมมักจะเห็นหัวหน้าหลายคนอนุญาตให้ลูกน้องที่เป็นสิงห์อู้จอมโดดงาน ลาป่วย,ลากิจ ทุกครั้งที่ลูกน้องโทร.มาขอลา โดยบางคนก็บอกว่าเขามีสิทธิ์ลาบ้างละ, เขาคงป่วยจริงบ้างละ, กลัวลูกน้องจะหาว่าโหด (ถ้าไม่ให้ลา) บ้างละ ฯลฯ

แม้แต่ลูกน้องที่ขาดงานหายไปโดยไม่บอกกล่าวอะไร แล้ววันรุ่งขึ้นมาทำงานหน้าตาเฉย หัวหน้าก็ถือว่าเป็นการลาป่วย แล้วก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าจะว่าไปแล้ว ลูกน้องที่ชอบทำแบบนี้ไม่ได้มีเยอะแยะอะไรเลยนะครับ เป็นเพียงคนส่วนน้อยที่ทำแบบนี้ แต่หัวหน้าที่ใจดี หรือเป็นหัวหน้าที่ปล่อยปละละเลย แล้วไม่ทำอะไรกับเรื่องแบบนี้ คงจะลืมมองลูกน้องที่ประพฤติปฏิบัติตัวดีมาทำงานตามปกติ แถมเป็นพนักงานส่วนใหญ่ที่เขาคอยมองดูอยู่ว่า หัวหน้าจะจัดการอะไรกับเพื่อนที่ชอบเอาเปรียบกินแรงเพื่อนหรือเปล่า

พอลูกน้องที่ทำงานดีที่เป็นคนส่วนใหญ่เห็นว่า หัวหน้าไม่เห็นว่าอะไร ก็จะเริ่มมีการเอาอย่าง หรือผมชอบเรียกว่า “Me too” หรือ “กูด้วย” ตามมาสิครับ และมักจะพบว่าหัวหน้าที่ไม่กล้าจัดการอะไรกับเรื่องทำนองนี้ จะบริหารทีมงานไม่ได้ แถมมีการขาดงานกันมากอีกด้วย ผลงานก็จะเริ่มแย่ลง

ถ้าถามว่าหัวหน้าควรทำยังไงกับเรื่องนี้ ?

ทำแบบนี้ครับ

1.หัวหน้าต้องตักเตือนลูกน้อง ถ้าลูกน้องขาดงานโดยไม่บอกกล่าวอะไรทั้งนั้น แล้ววันรุ่งขึ้นมาทำงานหน้าตาเฉย หัวหน้าต้องเรียกลูกน้องมาตักเตือนด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรตามระเบียบของบริษัท ขั้นตอนการตักเตือนให้ไปดาวน์โหลดหนังสือ “หัวหน้างานกับการบริหารลูกน้อง-HR for NON HR” ในบล็อกของผม https://tamrongsakk.blogspot.com มาดูรายละเอียดในบทการดำเนินการทางวินัยได้เลยครับ มีรายละเอียดและตัวอย่างครบถ้วน

2.ไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ขาดงานไปแบบ no work no pay เพราะถือว่าเมื่อพนักงานขาดงานไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร บริษัทมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่พนักงานขาดงานนั้นได้ครับ บอกก่อนว่ากรณีนี้ไม่ใช่การ “หักค่าจ้าง” นะครับ อย่าไปใช้คำว่าหักค่าจ้าง หรือหักเงินเดือน แต่กรณีนี้คือ no work no pay ครับ

3.พิสูจน์ความจริงกรณีลาป่วย ถ้าลูกน้องโทร.มาอ้างว่าลาป่วย ก็ต้องหาทางพิสูจน์ เช่น ไปเยี่ยมที่บ้านที่พักของลูกน้องว่าป่วยจริงหรือไม่ ถ้าป่วยไม่จริง ก็ทำตามข้อ 1 และข้อ 2ข้างต้น ซึ่งการเป็นหัวหน้าที่ดีจะต้องรู้ครับว่าลูกน้องคนไหนป่วยจริง ป่วยเก๊

ถ้าหัวหน้าไม่ “รู้จัก” ลูกน้องดีว่าจริง ๆ แล้วใครมีพฤติกรรมเป็นยังไงนี่ ผมว่าหัวหน้าคนนั้นยังมีปัญหาในเรื่องทักษะการเป็นหัวหน้างานอยู่เยอะครับ ต้องแก้ไขอย่างด่วน

4.ดูข้อเท็จจริงกรณีลากิจ ถ้าลูกน้องโทร.มาลากิจ ก็ต้องกลับไปดูว่าตามระเบียบของบริษัทนั้น การลากิจต้องลาล่วงหน้าเพราะต้องวางแผนไว้ก่อนไม่ใช่หรือครับ ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ลากิจกะทันหันทันที ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ในกรณีคนในครอบครัวเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตกะทันหัน ซึ่งลูกน้องต้องไปดูแล ถ้าเป็นแบบนี้ก็ให้ดูข้อเท็จจริง แต่ถ้าลากิจกะทันหันแล้วไม่จริง โดยไม่มีเหตุผลที่ยืนยันชัดเจนแล้วล่ะก็ หัวหน้าทำตามข้อ 1 และข้อ 2 ข้างต้นเช่นเดียวกันครับ

5.เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ในกรณีที่บริษัทออกหนังสือตักเตือนจนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วว่าห้ามไม่ให้พนักงานขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแบบนี้อีกนะ ถ้ายังจงใจฝ่าฝืน ขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแบบนี้อีก ครั้งต่อไปบริษัทจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆทั้งสิ้น แล้วพนักงานก็ยังทำผิดซ้ำคำเตือน แบบนี้บริษัทก็สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ

หวังว่าท่านที่เป็นหัวหน้าที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็น่าจะเข้าใจบทบาทหน้าที่ที่ตนเองจะต้องบริหารจัดการกับลูกน้องที่ชอบจงใจขาดงานกะปริบกะปรอยดีขึ้นแล้วนะครับ คราวนี้ก็อยู่ที่ภาวะผู้นำของหัวหน้าแต่ละคนแล้วล่ะว่า ท่านจะสามารถทำให้ลูกน้องที่ดี ๆ ทั้งหมดเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ยอมรับได้มากน้อยแค่ไหนแล้วล่ะครับ

ถ้าใครอยากรับฟังทางเสียงสามารถฟังเพิ่มเติมทางพอดแคสต์ https://tamrongs.podbean.com ได้นะครับ