โกลบอลคอมแพ็ก ผนึกกำลังภาคธุรกิจ สร้างความยั่งยืนหลังโควิด-19

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ผนึกกำลังภาคธุรกิจ ประกาศเจตนารมณ์สมาชิกร่วมลงทุน มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท ผลักดัน 998 โครงการ ภายในปี 2573

ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ และครบรอบ 75 ปีสหประชาชาติ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จึงจัดงาน GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs ระดมความคิดจากผู้นำภาคธุรกิจไทย สร้างพลังความยั่งยืนหลัง COVID-19 โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤติ ประสบการณ์จากสถานการณ์ COVID-19”

“พลเอก ประยุทธ์” กล่าวว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทยเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ SDGs (Sustainable Development Goals) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและความมั่นคงของมนุษย์

“เพื่อให้ทุกคนในชาติมีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม วันนี้ทุกภาคส่วนจะต้องรวมพลังกันเพื่อรวมไทยสร้างชาติ เพราะเราและโลกมีเป้าหมายที่ชัดเจนรออยู่ข้างหน้า นั่นคือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs ซึ่งเราจะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2573 แม้ว่าเราจะมีเวลาไม่มาก แต่ผมเชื่อมั่นว่าเราคนไทย หากร่วมมือร่วมใจกัน ความสำเร็จอยู่ไม่ไกล”

ขอชื่นชมบทบาทของภาคเอกชนในการสร้างความตระหนักรู้และร่วมมือกันบรรลุเป้าหมาย SDGs ต่าง ๆ โดยเฉพาะเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สามารถมีบทบาทสำคัญได้อย่างแน่นอน ในการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกเกือบ 60 องค์กร และเพิ่มขึ้นเรื่อยมา หากมองในเชิงมูลค่าของบริษัทที่เป็นสมาชิกในปัจจุบัน จะพบว่าสูงถึงประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของสมาคมฯ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

ศุภชัย เจียรวนนท์
ศุภชัย เจียรวนนท์

“แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 ที่เราเผชิญอยู่จะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เรายังต้องเตือนตัวเองว่า ยังมีวิกฤตอื่น ๆ อีกที่คุกคามมนุษยชาติ อาทิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปัญหาทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งวิกฤตเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำที่ขาดความสมดุลของเราเอง และด้วยเหตุการณ์โควิด-19 ที่ทับถมและรุมเร้ามนุษยชาติอยู่ในขณะนี้ ปัญหาที่เราได้เผชิญมาก่อนโควิดเหล่านี้นับจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ”

งานในวันนี้จึงเป็นการประกาศการลงทุนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อบรรลุ SDGs ภายในปี 2573 ของสมาชิกสมาคมฯ ในประเทศไทยจำนวน 21 องค์กร อาทิ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด, เครือเจริญโภคภัณฑ์, กลุ่ม ปตท., กลุ่มมิตรผล, แพรนด้ากรุ๊ป และบริษัทสมาชิกอื่น ๆ ที่ร่วมผลักดัน 998 โครงการเพื่อสังคม รวมเป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท ให้ประสบความสำเร็จ

พร้อมกันนี้  องค์กรสมาชิกทั้งหมดได้แสดงความพร้อมขับเคลื่อนไทยสู่ความยั่งยืน ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ว่า จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลักการ UN Global Compact และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ มาใช้เป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียให้เดินหน้าไปสู่หนทางที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น