พลังคนสร้างสรรค์โลก ฟื้นฟูต้นน้ำชี ด้วยศาสตร์พระราชา

ถึงวันนี้โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายต่าง ๆเดินทางมาถึงในปีที่ 8

เป็นปีที่ 8 ในเป้าหมาย 9 ปีที่ต้องการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมกับน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า และการพัฒนาคนมาเป็นแนวทางดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับปีนี้โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลกฯชูแนวคิดเรื่อง “สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา” ด้วยการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ณ ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ โดยมีอาสาสมัครกว่า 200 คน เพื่อมาสร้างโคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดลบนพื้นที่กว่า 11 ไร่เศษ

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร

โดยมี “อาจารย์ยักษ์” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติลงพื้นที่กับ “อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ “นพ.นรุตม์ อภิชาตอำมฤต” นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลหนองบัวระเหว อ.หนองบัวระเหวจ.ชัยภูมิ ทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติหนองบัวระเหว ต.ส้มป่อย อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ โดยมี “ปราณี ชัยทวีพรสุข” ประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม และเจ้าของสวนฝันสานสุข จ.ชัยภูมิมาพูดคุยและลงพื้นที่ด้วยกันทั้งหมด

เบื้องต้น “ดร.วิวัฒน์” ฉายภาพให้ฟังถึงความสำคัญในการเลือกจังหวัดชัยภูมิเป็นสถานที่จัดกิจกรรม ว่าจริง ๆ แล้วชัยภูมิเป็นจังหวัดที่มีความหมายด้วยตัวเอง เพราะแปลว่าทำเลที่ดี หรือทำเลที่เหมาะสม ที่สำคัญจังหวัดนี้ยังเป็นธนาคารน้ำของภาคอีสาน มีความสำคัญทางภูมิศาสตร์ในทุกมิติ จุดสำคัญสูงสุด คือเป็นพื้นที่ต้นน้ำชี เนื่องจากพื้นที่โดยรอบเป็นป่า มีภูเขาสูง เมื่อฝนตกลงมาน้ำส่วนหนึ่งจะไหลลงแม่น้ำป่าสัก และผ่านมาเราสตาร์ตโครงการนี้ที่ลุ่มน้ำป่าสักที่มีพื้นที่ 10 ล้านไร่

“นอกจากนั้น แม่น้ำชียังเป็นแม่น้ำที่ยาวถึง 830 กิโลเมตร คือยาวที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังไหลผ่านจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ดังนั้น พอฝนตกน้ำจะไหลลงแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำชี แล้วไหลผ่านจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา, ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, ศรีสะเกษ แล้วไหลลงแม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยเหตุนี้การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำและการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

“ฉะนั้น ถ้าเราทำที่นี่สำเร็จด้วยการพาชาวบ้านเห็นคุณค่าของต้นไม้และคันนา เพื่อจะบังคับน้ำฝนให้เก็บไว้ในที่ที่ของตัวเองทุกบ้าน ตรงนี้คือฝันของผมนะ เพราะในข้อเท็จจริงเราต้องการกักเก็บน้ำเพียง 10% เท่านั้นพอ เพราะพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดชัยภูมิมีอยู่ 7 ล้านไร่ และใน 7 ล้านไร่เป็นป่าต้นน้ำเสียส่วนใหญ่ ผมจึงเชื่อว่าถ้าเราสามารถกักเก็บน้ำฝนได้ พอถึงฤดูแล้งชาวบ้านก็ไม่จำเป็นต้องไปแย่งน้ำจากคนอื่น ไม่ต้องไปซื้อน้ำเพราะเรามีน้ำเป็นของตัวเอง”

“ดังนั้น การทำกิจกรรมเอามื้อที่ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้คุณณรงค์ วุ่นซิ้ว อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิขณะนั้นได้ซื้อที่ดินตรงนี้ไว้ประมาณ 11 ไร่เศษเมื่อปี 2561 เพื่อต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้คนที่สนใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชัยภูมิให้ยั่งยืน จากนั้นท่านจึงไปชวนคนมีใจหลากหลายอาชีพ อาทิ แพทย์, พยาบาล, ครู, ข้าราชการ, เกษตรกร ฯลฯ มาร่วมกันก่อตั้งศูนย์ขึ้นมาที่ ต.บ้านเล่า อ.เมือง จ.ชัยภูมิเพื่อขับเคลื่อนการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน”

เพราะปัจจุบันศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม บางพื้นที่ทำการเกษตรหลากหลายรูปแบบ อาทิ การทำนาแบบดั้งเดิม, การเลี้ยงปลาในนาข้าว, การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ,การทำปศุสัตว์ รวมไปถึงการจัดทำระบบพลังงานแสงอาทิตย์, ระบบน้ำเพื่อการเกษตร และระบบกักเก็บน้ำในสระไม่ให้ไหลซึมหายไปในช่วงหน้าแล้ง

อาทิตย์ กริชพิพรรธ
อาทิตย์ กริชพิพรรธ

ถึงตรงนี้ “อาทิตย์” จึงกล่าวเสริมว่า กิจกรรมเอามื้อสามัคคีครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามรอยพ่อฯ ปี 8 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 200 คน ซึ่งมาจากสมาชิกเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และคนมีใจจากจังหวัดสระบุรี, เลย, บุรีรัมย์ และคนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิมาร่วมกันทำกิจกรรมตลอด 2 วัน เพื่อร่วมกันสร้างโคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดล

“อย่างที่ทราบเราสนับสนุนโครงการมาทั้งหมด 8 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟสเฟสละ 3 ปี สำหรับเฟสสุดท้ายที่จะสิ้นสุดโครงการในปี 2564 ซึ่งตอนนี้โครงการได้แตกตัวเพื่อให้ทุกภาคส่วนกระจายเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ผมจึงค่อนข้างเชื่อว่าศาสตร์พระราชาสามารถช่วยแก้ปัญหา และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้จริง ดังนั้น ที่เราลงมาพื้นที่ตรงนี้ก็เพื่อให้กำลังใจคนในพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการ พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ที่สำคัญคือชัยภูมิเป็นจังหวัดต้นน้ำของลุ่มน้ำชีที่มีความสำคัญมาก ๆ”

“โดยธีมหลักของปีนี้จึงอยู่ภายใต้แนวคิดสู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา ทั้งนั้น เพราะเราเห็นจากมหันตภัยไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนหยุดทบทวนตัวเอง และหลายคนหันหลังจากเมืองเพื่อกลับสู่บ้านเกิดมาเป็นเกษตรกร เพราะเขาเริ่มรู้แล้วว่าอาชีพดั้งเดิมของพวกเขาเป็นทางเลือกและทางรอดจริง ๆ เพียงแต่ต้องใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และต้องทำความเข้าใจในศาสตร์พระราชาให้ถ่องแท้”

“ผมจึงค่อนข้างเชื่อว่าชัยภูมิน่าจะเป็นอีกหนึ่งจังหวัดตัวอย่างของความสำเร็จในอนาคต และผมก็เชื่อว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเกิดพื้นที่ป่า พื้นที่เก็บน้ำ จนทำให้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งน้อยลง ที่สำคัญผมเชื่อว่าชาวบ้านจะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น หนี้จะน้อยลง และจะมีความสุขมากขึ้น”

นพ.นรุตม์ อภิชาตอำมฤต
นพ.นรุตม์ อภิชาตอำมฤต

ในมุมที่สอดรับกัน “นพ.นรุตม์” ขยายผลให้ฟังว่า หลังจากผมเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ต้องทำงานใช้ทุน และเรียนต่อในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเป็นสาขาที่ค่อนข้างขาดแคลน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการมองคนไข้แบบองค์รวมว่าครอบครัวมีผลต่อโรคอย่างไรบ้าง จนพบว่าในต่างจังหวัดน่าจะทำให้ผมเข้าใจเรื่องนี้ ที่สำคัญต่างจังหวัดขาดแคลนหมอมากกว่าในเมือง ผมจึงเลือกมาที่นี่

“พอมาอยู่ก็พบว่าประชาชนที่นี่มีปัญหาสุขภาพค่อนข้างมาก เพราะเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และที่ผ่านมาพวกเขามีปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ทั้งยังมีปัญหาความยากจนที่ผลักดันให้คนหนุ่มสาวออกไปทำงานที่อื่น กระทั่งพวกเขามีลูกก็ส่งลูกของตัวเองมาให้ปู่ ย่า ตา ยายเลี้ยงจนกระทั่งกลายเป็นปัญหาครอบครัวแหว่งกลางที่ในบ้าน หรือหมู่บ้านจะมีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก ๆ เท่านั้น เมื่อผมมองเห็นปัญหาที่สุดจึงลงไปอบรมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติเพื่อนำศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาในชุมชน”

“โดยเฉพาะเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์, เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน และเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานย้ายถิ่น ซึ่งเราร่วมกับจิตอาสาจากหลายภาคส่วน จนกระทั่งตอนหลังจึงมีการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียงบอกเล่าก้าวตาม โดยมีหน่วยงานต่าง ๆมาช่วยกันทำ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการเรียนรู้และจัดฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ โดยมีคอนเซ็ปต์ว่าเราอยากจะรวมผู้มีความรู้ทุกสาขาในจังหวัดชัยภูมิให้มาอยู่ที่นี่ เสมือนเป็นการระดมปราชญ์ที่เก่ง ๆ ของจังหวัดเพื่อนำองค์ความรู้ของแต่ละคนมาต่อยอดในการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่ชุมชน และตอนนี้เรากำลังเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้”

ปราณี ชัยทวีพรสุข
ปราณี ชัยทวีพรสุข

ขณะที่ “ปราณี” ดิฉันเป็นพยาบาลเกษียณอายุราชการจากโรงพยาบาลหนองบัวระเหวมาก่อน และพบว่าการรักษาพยาบาลเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เนื่องจากปัญหาสุขภาพเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน เพราะพวกเขาใช้สารเคมีในการเพาะปลูกข้าวโพด จนทำให้เกิดแผลติดเชื้อ เนื้อเน่าและแผลอักเสบจากยาฆ่าหญ้า ตอนนั้นเรารู้ว่าเป็นปัญหา แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเราเป็นพยาบาลตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง

“ต่อมาเมื่อมีโอกาสไปอบรมเรื่องศาสตร์พระราชา และแนวทางกสิกรรมธรรมชาติจากอาจารย์ยักษ์ และอาจารย์โจน จันใด จนมองเห็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่สุดจึงรวบรวมคนที่มีความรู้ต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน เพื่อแจกจ่ายความรู้เรื่องสุขภาพแก่ประชาชนและชุมชนด้วยการนำเรื่องสมุนไพรใกล้ตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ รวบรวมสูตรยา และอนุรักษ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย พร้อมนำเรื่องสมุนไพรอินทรีย์มาใช้ในการแก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตพร้อม ๆ กัน”

ที่ไม่เพียงจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น

หาก “ปราณี” ยังทำ “สวนฝันสานสุข”ของตัวเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแหล่งอาหารให้คนมาเรียนรู้ ทั้งยังจ้างชาวบ้านมาช่วยทำงาน พร้อม ๆ กับสอนพวกเขาไปด้วย นัยหนึ่งเพื่อต้องการให้พวกเขานำองค์ความรู้ไปปรับใช้กับที่ดินทำกินของตัวเอง

ขณะที่อีกนัยหนึ่ง เพื่อต่อจิ๊กซอว์การสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งภายในจังหวัดชัยภูมิด้วย

จนทำให้ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียงบอกเล่าก้าวตาม และสวนฝันสานสุขกลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของจังหวัดชัยภูมิจนทุกวันนี้