ทำงานกับหลาย “เจน” ยังไง (ให้ได้) ดี ?

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์
โดย พิชญ์พจี สายเชื้อ

อ่านข่าวเรื่อง “ม็อบเด็ก” ทุกวันเลยคิดว่าน่าจะเขียนเรื่องความต่างในแต่ละเจนอีกสักที เพราะน้อง ๆ ที่ออกมารวมตัวกันคือ เจน z นั่นเอง และจริง ๆ เรื่องความคิดต่างของแต่ละเจนก็เป็นเรื่องที่ฮิตมานานแล้วในแวดวง HR เริ่มตั้งแต่เจน Y หรือมิลเลนเนียลเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ ๆ เมื่อหลายปีก่อน มีคำถามมากมายเกี่ยวกับบุคลิกที่ต่างไปของเจนนี้ จะบริหารจัดการอย่างไร จะทำอย่างไรให้เขาไม่ออก (เร็ว) จะรักษาเขาได้อย่างไร

คำตอบเดียวคือต้องเข้าใจเขา และปรับวิธีการบริหารจัดการของเราให้เข้ากับ “จริต” ของเขา เราเปลี่ยนเขาไม่ได้หรอก แถมเจน Y นี้จะกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ในองค์กรไปอีก (นี่คือคำตอบเมื่อสัก 4-5 ปี ที่แล้วนะคะ ตอนนี้เจน Y เป็นเสียงส่วนใหญ่ในหลาย ๆ องค์กรไปแล้ว และองค์กรเลิกคิดวิธีจะเปลี่ยนพวกเขาแล้ว แต่คิดวิธีการต่าง ๆ ที่จะรักษาพวกเขาไว้ โดยการทำให้”ถูกจริต” พวกเขาต่างหาก)

ก่อนอื่นต้องขอย้อนเรื่องเจนที่หลากหลายสักหน่อยว่าในตลาดแรงงานตอนนี้มีเจนหลักอยู่ คือ 1) baby boomer หรือ BB เกิดในช่วงปี 1946-1964 2) Gen X เกิดในช่วงปี 1965-1980 3) Gen Y หรือมิลเลนเนียลเกิดในช่วงปี 1981-1996 และ 4) Gen Z เกิดหลังปี 1997 เป็นต้นไป ซึ่งแต่ละเจนจะมีแคแร็กเตอร์ต่างกัน

หลัก ๆ คือเจน baby boomer จะให้ความสำคัญกับความมั่นคงในชีวิต (เพราะอายุมากแล้ว) เจน X จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในอาชีพ ถ้าองค์กรอยากดึงดูดคนเจน X ก็ต้องให้ตำแหน่ง หรือโปรโมตพวกเขา ส่วนเจน Y มีความสุขกับการมีไลฟ์สไตล์อย่างที่ตัวเองชอบ มี work-life balance องค์กรต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้ตอบโจทย์เจน Y มีการทำงานแบบ flexible hour มอบหมายงานที่ทำด้วยความสนุกและท้าทาย

ในขณะที่เจน Z เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี คนเจนนี้ให้ความสำคัญกับเทคโนฯมาก นอกจากนี้ คนเจนนี้ยังเป็นคนที่มุ่งมั่น (กว่าเจน Y) ถ้าองค์กรต้องการดึงดูดคนเจน Z จะต้องมีสภาพแวดล้อมแบบไฮเทคมาก ๆ จะมาทำงานแบบ manual ไม่ได้เลย แล้วต้องมีเส้นทางความก้าวหน้าให้ชัดเจน จ่ายเงินให้คุ้ม คนเจน Z จะทำงานให้องค์กรสุดตัวเลย

ถัดไปขอฝากเคล็ดลับในการทำงานกับหลากหลายเจนให้มีความสุข ซึ่งจริง ๆ เป็นเรื่องทำได้ไม่ยาก (ถ้าอยากทำ) คือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา พยายามเข้าใจเขา และอย่าพยายามไปเปลี่ยน “ตัวตน” พวกเขา เคล็ด (ไม่) ลับคือ

1) เรียนรู้และยอมรับในความแตกต่าง แต่ละ generation มีพื้นหลังที่แตกต่างกัน จึงมีวิธีคิดมุมมองการทำงาน และการตัดสินใจที่แตกต่างกัน ต้องละทิ้งความอคติต่อคนแต่ละรุ่น ทำความเข้าใจผู้อื่นและเปิดใจยอมรับในความแตกต่างนั้น ๆ

2) เคารพกันและกัน แต่ละgeneration คิดต่าง การตัดสินใจของแต่ละเจนย่อมมีเหตุผล และวิธีการที่แตกต่างกัน ไม่ควรปิดกั้นความคิดของคนรุ่นใหม่ หรือไม่ยอมรับความคิดคนรุ่นเก่า ควรเปิดใจ เคารพในความรู้ ทักษะและประสบการณ์ของคนแต่ละเจน เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี

3) เลือกใช้ข้อดีของแต่ละเจน แต่ละเจนมีจุดแข็งแตกต่างกันไป หากต้องทำงานร่วมกัน ให้เลือกความเก่ง ความถนัดของแต่ละกลุ่มมาใช้ในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

4) เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน ปรับตัวเข้าหากัน แต่ละเจนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยี การทำงานแบบต่าง ๆ ควรปรับวิธีการทำงานที่สามารถทำให้แต่ละเจน สามารถทำงานร่วมกันได้

5) สุดท้ายและสำคัญมากคือการสื่อสารต้องชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ปรับวิธีการสื่อสาร การใช้ช่องทางหรือเครื่องมือในการสื่อสารที่เหมาะสมกับแต่ละเจนสำคัญมาก

ที่สำคัญอีกเรื่องคือเจน Y และเจน Z จะครองโลก พวกเขาจะเป็นประชากรหลักในองค์กรทั้งปัจจุบันและอนาคต คือปัจจุบันนี้ เจน Y จะมีประมาณ 45% ในองค์กร ส่วนเจน Z ยังไม่มากประมาณ 5% แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า เจน Y จะมีประมาณ 50% ในขณะที่เจน Z จะมีประมาณ 25%

ดังนั้น ถ้าเราเป็นผู้บริหารในองค์กร จะต้องทำความเข้าใจสองเจนนี้ให้มากว่าเขาต้องการอะไร สื่อสารให้เขาทราบข้อมูลตลอดเวลา อย่าปิดกั้น ต้องคิดเสมอว่าพวกเขาเป็นผู้ใหญ่เท่ากับเรา คนทั้งสองเจนต้องการเข้าถึงข้อมูล (ถึงเราไม่ให้ เขาก็ไปหาเองได้) เราจึงควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับพวกเขาแล้วให้พวกเขาวิเคราะห์ต่อเอง

ดิฉันเชื่อ และผลการวิจัยหลายค่ายบอกตรงกันว่าน้อง ๆ เจน Y และ Z มีความฉลาดทางปัญญามาก (กว่าเจนอื่น)แต่อาจขาดความฉลาดทางอารมณ์ซึ่งองค์กรและหัวหน้าคงต้องเสริมให้พวกเขานะคะ ก็คงเหมือนกรณีม็อบเด็ก ส่วนตัวคิดว่าการแสดงออกเป็นสิ่งที่ดี เพราะนั่นคือตัวตนของพวกเขา (เราเปลี่ยนไม่ได้) เพียงแต่ว่าพ่อ แม่ ครู หรือคนที่เกี่ยวข้องต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนแก่พวกเขา เพื่อให้เขาได้วิเคราะห์ต่อได้บนพื้นฐานที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

เอ้า ! ว่าจะไม่วกเรื่องการเมืองแล้ว ฮ่า ฮ่า ?