โควิดเร่งองค์กรปรับตัว “ดีลอยท์” แนะพัฒนาคนรับเทคโนโลยี

ผู้บริหารดีลอยท์
(ซ้าย) ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์,-วินเนย์ โฮรา(ขวา)

การขาดความคล่องตัวทางเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้องค์กรปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันลดน้อยลง เพราะดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนธุรกิจ และการเข้าถึงลูกค้า ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ ดีลอยท์ ประเทศไทย จัดทำสำรวจการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของประเทศไทย โดยสอบถามผู้บริหารจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 91 ราย เกี่ยวกับแนวคิดต่อปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีที่มีต่อบริบทการดำเนินธุรกิจประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งนั้นเพื่อให้ทราบถึงวิธีการในการรับมือ อุปสรรค และปัญหาสำคัญที่พบเจออยู่บ่อย ๆ

“ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี (digital disruption) เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะ digital disruption ทำให้เส้นแบ่งระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มไม่แน่ชัด ผู้บริหารขององค์กรส่วนใหญ่จึงเห็นตรงกันว่า อุตสาหกรรมของตนเองมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีและจำเป็นต้องปรับตัว เพราะหากไม่ปรับตัวอาจมีผลรุนแรงถึงขั้นทำให้ธุรกิจล่มสลายก็เป็นได้

“เราจะเห็นบางองค์กรให้ความสำคัญต่อเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มองค์กรที่ยังไม่มีการปรับตัวด้านเทคโนโลยีกำลังเผชิญต่อความเสี่ยง ดังนั้น ดีลอยท์ ประเทศไทย จึงทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (digital transformation) ของประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคม 2562 เพื่อศึกษาแนวโน้มการปรับตัวขององค์กรจากแนวคิดที่เราสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 91 ราย”

“เนื้อหาสำคัญจากผลการสำรวจครั้งนี้ เราพบว่าผู้บริหารกลุ่มธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยี การเงิน และการธนาคารมีการตื่นตัว และรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมของตนเป็นอย่างดีทั้งยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อโอกาส ซึ่งในรายงานพบว่าวัตถุประสงค์หลักที่กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานมากยิ่งขึ้น เป็นเพราะต้องการยกระดับประสบการณ์ของผู้รับบริการ ปรับปรุงพัฒนากระบวนการทำงาน และใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

“อย่างไรก็ตาม มีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นดิจิทัล ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นดิจิทัลของหลาย ๆ องค์กร ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ เพราะส่วนมากนำระบบดิจิทัลเข้ามาตอบโจทย์การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานเพียงบางส่วนเท่านั้น”

“ดร.นเรนทร์” กล่าวด้วยว่า ในรายงานของการสำรวจชี้ให้เห็นว่า หลายบริษัทในประเทศไทยยังจำเป็นต้องเร่งเรื่องกระบวนการของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความพร้อมต่อการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่น่าจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะจากผลของวิกฤตไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นตอนนี้จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

“อุปสรรคสำคัญหลัก ๆ ที่ธุรกิจต่าง ๆ จะต้องเผชิญหลังจากวิกฤตโควิด-19 จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารบุคคล ซึ่งธุรกิจอาจต้องพิจารณาจัดรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ โดยยุบกระบวนการทำงานที่เป็นแบบแยกส่วน (silo) พร้อมกับสร้างดิจิทัลไมนด์เซต โดยต้องเริ่มต้นจากวางกลยุทธ์ด้านดิจิทัล ไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรให้มีการทำงานที่ทันสมัยมากขึ้น

เท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจให้สอดรับกับพฤติกรรมแบบ new normal ของผู้บริโภค และสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถเหมาะสม ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัลที่มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีได้”

“วินเนย์ โฮรา” พาร์ตเนอร์ ดีลอยท์คอนซัลติ้ง กล่าวเสริมว่า อุปสรรคในการทำ digital transformation มักจะเกี่ยวกับปัจจัยดังนี้ คือ การขาดแคลนบุคลากร, การจัดการทรัพยากรบุคคล และการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะสม แต่สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้ ถ้าองค์กรมีวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ที่ชัดเจน รวมถึงผู้บริหารต้องเข้าใจให้แน่ชัดว่า ต้องการอะไรจากการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นดิจิทัล

“การที่องค์กรจะทำ digitaltransformation จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัล เพราะจากนี้ไปการวิเคราะห์ข้อมูลจะมีการนำมาปรับใช้ในธุรกิจมากยิ่งขึ้นใน 1 ปีข้างหน้า

ทำให้บุคลากรที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องเป็นที่ต้องการสูง แต่ขาดแคลนอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data analysts and data

scientists) รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านAI (artificial intelligence-ปัญญาประดิษฐ์) และผู้เชี่ยวชาญด้าน machine learning (ระบบเทคโนโลยีที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง) ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายที่บริษัทในประเทศไทยจะดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถด้านดังกล่าว”

“วินเนย์ โฮรา” อธิบายต่อว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าทัศนคติของผู้บริหารที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของทักษะดิจิทัลในตัวพนักงานค่อนข้างหลากหลาย และแตกต่างตามรายอุตสาหกรรม เพราะมีการนำเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน และปัญญาประดิษฐ์ มาประยุกต์ใช้ในองค์กรค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้องมีการลงทุนจำนวนมาก

“นอกจากนั้น องค์กรในปัจจุบันเลือกการจัดจ้างพนักงานแบบชั่วคราวสูงกว่าการสรรหาบุคลากรใหม่ และการพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ จึงอยากให้คำแนะนำว่าการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นดิจิทัลให้สำเร็จได้นั้น องค์กรต้องให้ความสำคัญต่อการลงทุนในทรัพยากรบุคคลในการพัฒนาทักษะที่จำเป็น และควรทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ เช่นมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาและสรรหาบุคลากรที่เหมาะสมต่อไป”

นับว่าการเดินไปสู่จุดหมายปลายทางของ digital transformation นั้นองค์กรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องหาบุคลากรที่มีทักษะเหมาะสมมาเติมเต็มรวมถึงการให้ความรู้ทางด้านดิจิทัล

และเทคโนโลยีแก่บุคลากรที่มีอยู่ในองค์กรของตนให้สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้ แต่ทั้งนั้นต้องมาจากความเข้าใจ และความกล้าที่จะลงทุนในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีของผู้บริหาร เพื่อให้องค์กรอยู่รอดในยุคปัจจุบันนั่นเอง