ปิดทองหลังพระ คืนน้ำชุ่มบ้านกอน ด้วยประปาภูเขา-ช่วยคนตกงาน

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ลงงบประมาณ ลงความรู้ ส่วนชาวบ้านลงแรง สร้างอ่างเก็บน้ำ 200 ลูกบาศก์เมตรและระบบประปาภูเขาให้กับชุมชนบ้านแม่กอน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ชุมชนมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค และบริโภคตลอดทั้งปี โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้ชุมชนในพื้นที่มีอาชีพ มีรายได้ และใช้ชีวิตในบ้านเกิดของตัวเองอย่างยั่งยืน โดยเข้ามาเป็นตัวเสริมประโยชน์ให้กับโครงการ “ร้อยใจรักษ์” ให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาประยุกต์ใช้

“สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดความจุประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณราว 2 ล้านบาท จะถูกส่งผ่านระบบประปาครอบคลุมบ้านเรือนของชุมชนในระยะ 5 กิโลเมตร ของบ้านแม่กอน ครอบคลุม 7 หมู่บ้าน อำเภอเชียงดาว ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดง อันถือเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะได้ใช้ประโยชน์ในการหล่อเลี้ยงภาคการเกษตรที่ทำรายได้เข้าสู่จังหวัดอย่างต่อเนื่อง”

คำกล่าวเบื้องต้นยืนยันจาก “วิรุฬ พรรณทวี” รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ระบุว่า ปัจจุบันมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GPP ของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท/ปี ในสัดส่วนนี้ แบ่งเป็น 70%มาจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ สัดส่วนอีก 20% มาจากภาคการเกษตร ส่วนสัดส่วนที่เหลือ 10% มาจากภาคอุตสาหกรรม

วิรุฬ พรรณทวี
วิรุฬ พรรณทวี

แม้ว่าจะดูเหมือนภาคเกษตรสร้างรายได้ให้ค่อนข้างน้อย แต่ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่กว่า 1.7 ล้านคน รวมถึงประชากรที่ย้ายมาจากพื้นที่อื่น รวมประชากรในพื้นที่ 7 ล้านคน นอกเหนือจากนี้คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติอีกประมาณ 10 ล้านคน/ปีที่หมุนเวียนในพื้นที่อีกด้วย

หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับภาคเกษตรในพื้นที่อย่างมาก เพราะถือเป็น“ตัวเสริม” ให้กับภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างดี นอกจากนี้ โครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯยังสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งพาตัวเอง และอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“นพวัชร สิงห์ศักดา” ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ระบุว่า โครงการดังกล่าวเดินตามแนวคิด 3 ขั้นตอน คือ

หนึ่ง เริ่มต้นด้วยการแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ ให้ชาวบ้านอยู่รอดในครัวเรือนอย่างมั่นคง เพราะน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการประกอบอาชีพ ที่สำคัญ ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าโดยรอบอีกด้วย

สอง ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ด้วยอาชีพ

สาม เสริมความรู้ ด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นแหล่งนำความรู้มาให้ และพัฒนาต่อยอดได้ และขณะนี้สิ่งที่เล็งเห็น และเป็นปัญหาที่ควรช่วยเหลือโดยเร็ว คือ ในพื้นที่อำเภอแม่กอน มีประชากรรวมราว 1,200 คน และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 200 คน ที่ “ตกงาน” ตรงนี้ถือเป็นอีกปัญหาที่มูลนิธิปิดทองฯพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือโดยเฉพาะในการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้

นพวัชร สิงห์ศักดา
นพวัชร สิงห์ศักดา

“อ่างเก็บน้ำในพื้นที่บ้านแม่กอน มี 7 ชนเผ่าอาศัยอยู่ เช่น ลาหู่แดง,ลาหู่ดำ, ลาหู่เหลือง, ไทใหญ่, กะเหรี่ยง และลีซู นอกจากต้องการสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่แล้ว ยังต้องการสร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน เพราะจากนี้ไป บ้านแม่กอนจะกลายเป็นตัวอย่างของการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 มาแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและสร้างรายได้จากการปลูกพืชผลทางการเกษตร ที่สำคัญ ยังช่วยลดปัญหาเรื่องยาเสพติดในพื้นที่อีกด้วย”

ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯจะต้องเพิ่มภารกิจ กำจัดยาเสพติด เพิ่มเติมด้วย ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ในการประชุมคณะกรรมการ หรือบอร์ดของมูลนิธิปิดทองฯ มีมติเพิ่มภารกิจกำจัดยาเสพติดเพิ่มขึ้นอีกด้วย พร้อมทั้งประสานหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาช่วยเหลือในแต่ละโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

“ก่อนหน้านี้ ในการพัฒนาเพื่อสร้างต้นแบบการแก้ไขปัญหาเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติมองว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่มีปัญหายาเสพติดค่อนข้างมาก เราจึงต้องดึงเรื่องนี้มาทำ ขณะที่พื้นที่ใน3 จังหวัดชายแดนใต้ เราก็ทำเรื่องยาเสพติดใน 3 พื้นที่ เพื่อให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เขาจะได้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และยังทำให้เห็นว่ามีช่องทางทำมาหากินที่ถูกกฎหมาย ไม่ต้องระแวงระวัง ผมว่าน่าจะเป็นชีวิตที่มีความสุขมากกว่า แต่เราก็ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนในทุกพื้นที่ด้วย”

โดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องมาแก้ปัญหา “คนตกงาน” เพิ่มเติมอีกภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงานให้ชุมชน โดยเริ่มจากการนำคนตกงานเข้ามาฝึกอบรมการเป็นอาสาพัฒนาในพื้นที่ของตัวเอง ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาสืบสานตามแนวพระราชดำริ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางการเกษตรซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

หนึ่ง กลุ่มพนักงานของโครงการทำหน้าที่ประสานงาน เริ่มต้นเงินเดือนที่ 15,000 บาท/เดือน

สอง กลุ่มอาสาสมัครพัฒนาหมู่บ้าน (อสพ.) ได้ค่าแรงงานที่ 300 บาท/วัน ทำหน้าที่ชักชวนคนในหมู่บ้านมาร่วมกันซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ ต่อท่อ ทำงานก่อสร้างต่าง ๆ ที่จำเป็น หรือแม้กระทั่งช่วยกันติดตั้งโซลาร์เซลล์ของหมู่บ้านซึ่งเป็นโครงการ “ระยะสั้น” เพื่อช่วยเหลือคนตกงานโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯยังร่วมมือกับพันมิตรในการวิจัยในหัวข้อ “แนวทางการปรับตัว จะอยู่อย่างไรภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจหลังโควิด-19ภายใต้ตามแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9” ซึ่งทางมูลนิธิปิดทองฯยังมีความร่วมมือกับ 7 หน่วยงาน เช่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการวิจัยเบื้องต้น เพื่อมากำหนดทิศทางการเดินหน้าของประเทศ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว

เนื่องจากทางมูลนิธิปิดทองฯ มองว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้มีแค่เพียงการกระตุ้นการใช้เงินเท่านั้น ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาได้ และจะทำข้อมูลในเชิงวิชาการ ซึ่งหากมีผู้สนใจก็สามารถนำผลการวิจัยที่จะเกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้

อีกทั้งเร็ว ๆ นี้ยังตรียมที่จะเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนใน 4 ภาคเพื่อยืนยันว่าการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมาถูกทางหรือไม่ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างไร หรือต้องการให้มูลนิธิปิดทองหลังพระฯเข้าไปช่วยเหลือเรื่องใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ปัญหายาเสพติด เป็นต้น