ความสำเร็จจากการลงมือทำ

งานสัมมนา
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริง ๆ แล้วการพาตัวเองออกไปฟังคนอื่นพูดบ้างนั้นเป็นเรื่องดี เพราะสิ่งที่เราคิด กับสิ่งที่เราทำ อาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องเสียทีเดียว

เพราะบางที เราอาจคิดเอง เออเอง

จนเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำมาอย่างยาวนานนั้นถูกต้อง

แต่จริง ๆ อาจไม่ถูกต้องก็ได้

โดยเฉพาะเรื่องความสำเร็จ

เนื่องจากเส้นทางของความสำเร็จ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่หนทางเดียว

แต่อาจมีทางแยก

มีทางให้เลี้ยวซ้าย และเลี้ยวขวาอีกมากมายที่เราจะต้องฝ่าฟัน เพื่อเดินไปให้ถึงจุดหมาย

ซึ่งเหมือนกับงานสัมมนาหลายงานที่ผมมีโอกาสฟัง โดยเฉพาะประเด็นต่าง ๆ ที่วิทยากรพูดถึงความสำเร็จในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนการเดินทางไปสู่ความสำเร็จนั้นค่อนข้างยาก โดยเฉพาะความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับการวางรากฐานสู่ความยั่งยืนในอนาคต

เพราะวิทยากรแต่ละท่านต่างมีมุมมองที่คล้ายกัน หรือแตกต่างกันออกไป

แต่กระนั้น ในองค์รวมของความคิดที่กระจัดกระจาย ผมจับใจความได้อย่างหนึ่งว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่ว่า

จะเป็นความสำเร็จของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน โดยเฉพาะกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะต้องมีองค์ประกอบหลักเสียก่อน คือ การรู้จักตัวเอง

ถามว่า การรู้จักตัวเองเป็นอย่างไร ?

คำตอบคือ การค้นหา “พระเอก-นางเอก” ของตัวเองให้เจอ เพราะการค้นหา “พระเอก-นางเอก” ต่างเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศชาติ

รวมไปถึงองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนด้วย

ฉะนั้น ถ้าเราค้นหา “พระเอก-นางเอก” เจอ เราจะพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่ ด้วยการลองผิดลองถูก ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าอยู่เรื่อย จนทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้

กระบวนการเรียนรู้นี่เอง จะทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เกิดมุมมองใหม่ และเกิดประสบการณ์ กระทั่งแตกหน่อ ต่อยอดออกไปเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในที่สุด

ฟังดูเหมือนง่าย

แต่จริง ๆ แล้วยากมาก

เพราะเรื่องดังกล่าวต่างเกี่ยวเนื่องกับความอดทน และรอคอยของคนในสถานที่ต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย ทั้งยังเกี่ยวข้องกับความวิริยอุตสาหะอีกประการ

สำคัญที่สุด คือ เกี่ยวข้องกับ “จิตใจ” ที่จะแข็งแกร่งพอหรือไม่ เพื่อจะขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปให้สุดปลายทาง

จนเกิดความสำเร็จตามมา

เพราะระหว่างทางของการเดินทางไปสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่างเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ บางคนเดินแล้วหยุด บางคนเดินหน้าแล้วถอยหลัง

หรือบางคนถอดใจเสียก่อน จนไม่มีแรงพอที่จะเดินต่อไป

ทั้งนั้นเพราะ “ใจ” ของพวกเขาไม่แข็งแกร่งพอ

ผมถึงบอกว่า การมาฟังกูรูแต่ละท่าน มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์มุมมอง ในเรื่องที่เรามีความรู้แค่หางอึ่งบนเวทีสัมมนา จึงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง

เพราะนอกจากจะทำให้เราเกิดมุมมองใหม่

ยังทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นด้วย

เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในตำราเล่มใด ๆ เลย เราจึงต้องพยายามแสวงหาความรู้ ด้วยการลงพื้นที่ออกไปพูดคุยกับบุคคลต่าง ๆ ที่เขามีความเชี่ยวชาญบ้าง

เพื่อไปดูให้เห็นกับตา

ไปฟังด้วยหูของตัวเอง

และไปสัมผัสด้วยจิตใจ

เท่านั้นเราจะรู้แล้วว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นต่างมีที่มาที่ไป ต่างมีกระบวนการในการลงมือทำงานมาอย่างยาวนาน ถึงจะทำให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จโดยดี

ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ หรอก

ถ้าไม่ลงมือทำ

ผมเชื่อเช่นนั้นนะ

และผมก็เชื่อด้วยว่า แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ได้เกิดจากวิสัยทัศน์ของใครคนใดคนหนึ่ง หากเกิดขึ้นจากการลงมือทำอย่างต่อเนื่องของคนที่ตั้งใจจริง

ถึงจะทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นในบัดดล

ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับสังคม ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน จะสนใจทำจริง ๆ หรือเปล่า เพราะหลายอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากมหันตภัยไวรัสโควิด-19 เข้ามาบนโลกใบนี้ ต่างทำให้มนุษย์บนโลกเริ่มประจักษ์ชัดถึงความไม่แน่นอนในชีวิต

จนหลายคนเริ่มประจักษ์ชัดว่า การงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ไม่มีความมั่นคงเอาเสียเลย

ฉะนั้น จะทำอย่างไรถึงจะให้ตัวเองและครอบครัวมีความมั่นคงในชีวิต ?

หลายคนกลับบ้านเพื่อมองหาหนทางที่จะอยู่กับมันให้ได้

หลายคนกลับบ้านเพื่อถามพ่อแม่ พี่น้องว่า…ที่ดินของเราสามารถทำอะไรได้บ้างหรือไม่ ?

ยิ่งตอนนี้ คนหนุ่ม-สาวกลับบ้านกันเยอะมาก เพื่อหันไปใช้ชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่ แต่ผมไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า สิ่งที่พวกเขาทำอยู่จะเกิดความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืนหรือไม่ เพราะของอย่างนี้ต้องดูกันยาว ๆ

ต้องดูกันนาน ๆ

เพราะความสำเร็จไม่ได้มาง่าย ๆ หรอก…ถ้าไม่ลงมือทำ ?