“SACICT” สร้างอาชีพชุมชน ปรับดีไซน์-ดันสินค้าสู่ตลาดดิจิทัล

สร้างอาชีพชุมชน

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)หรือ SACICT เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และอนุรักษ์สืบสานคุณค่าศิลปหัตถกรรมไทย รวมทั้งต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่สากล เพื่อให้ชุมชนกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน โดยมี “พรพล เอกอรรถพร” ผู้อำนวยการ SACICT คนล่าสุด ทำหน้าที่บริหารงานของศูนย์ และสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานศิลปาชีพ และงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่าง ๆ

โดยไม่นานผ่านมา ผอ.คนใหม่ลงพื้นที่ตามโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อ (บ้านทุ่งจี้) อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง และศูนย์สร้างสรรค์งานหัตถกรรมจากใยกัญชง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูปัญหา และหาทางแก้ไข รวมทั้งพยายามผลักดันดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้โดนใจคนรุ่นใหม่ และพร้อมขยายสู่การตลาดออนไลน์

พรพล เอกอรรถพร

“พรพล” กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวทั้งใน และต่างประเทศ การบริโภคภายในประเทศก็ลดลง ทาง SACICT ถือโอกาสในช่วงนี้เร่งประสานพลังกับชุมชนต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามจุดแข็งของชุมชน และช่วยให้สามารถผลิตสินค้าให้มีรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

“ตอนนี้เรากำลังวางแผนว่า ในปีงบประมาณหน้าจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีการสอนเรื่องออกแบบ เพื่อดึงนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ให้จับทีมเข้าร่วมแข่งขัน โดยคัดคนที่มีฝีมือมาช่วยงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่าง ๆและเราจะมีเงินทุนให้ทีมที่ผ่านเข้ารอบลงพื้นที่ ทำงานร่วมกับคนในชุมชนที่ประกอบอาชีพด้านนี้ และร่วมกับชาวบ้านพัฒนาผลงานจริงที่สามารถวางจำหน่ายได้โดยกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษากับชาวบ้านจะถ่ายทอดเป็นเรียลิตี้โชว์เน้นขายคุณค่าความเป็นไทย เชื่อมคนรุ่นใหม่กับคนในชุมชน”

“นอกจากนั้น จะมีการสร้างเว็บไซต์ 3 ภาษา คือ ไทย, จีน, อังกฤษ เพื่อขายงานศิลปหัตถกรรมทั้งในไทย และต่างประเทศ โดยการทำงานของศูนย์จะเน้นความโปร่งใส ให้โอกาสผู้ประกอบการทุกคนเท่าเทียมกัน เพื่อจะพัฒนางานของ SACICT ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น การลงพื้นที่เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมงานศิลปาชีพ ตามโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อ (บ้านทุ่งจี้) อ.เมืองปานจ.ลำปาง ทางหนึ่งเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผาภายในโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อบ้านทุ่งจี้ เมื่อปี 2540”

“ขณะที่อีกทางหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า จนทำให้ชาวบ้านห่างไกลจากยาเสพติด และส่งเสริมอาชีพด้านศิลปาชีพให้แก่ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันภายใต้การขับเคลื่อนของโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อบ้านทุ่งจี้ มีงานด้านศิลปาชีพ ทั้งงานเครื่องปั้นดินเผา ผ้าปักผ้าทอ และแกะสลักไม้ ผ่านมา SACICT มีส่วนเข้ามาสนับสนุนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และบรรจุภัณฑ์ แต่ทั้งนี้ ความต้องการของผู้บริโภคด้านหัตถกรรมทั่วโลกเปลี่ยนไปมาก จึงต้องมีแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิก ทั้งในด้านนวัตกรรมผสมผสานการออกแบบที่ทันสมัย”

“พรพล” บอกว่า SACICT ส่งเสริมลดต้นทุนการผลิต ลดความสูญเสียในขั้นตอนการผลิต เพื่อนำสิ่งของเหลือทิ้งมาประยุกต์ใช้อย่างลงตัว ด้วยการคำนึงถึงความปลอดภัย และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถขยายตลาดของเซรามิกเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน จนไปสู่เซรามิกด้านอื่น ๆ ในอนาคต เช่น ด้านวิศวกรรม, ด้านการแพทย์ และอุตสาหกรรมการบิน

“ชุมชนหัตถกรรมบ้านห้วยทรายอ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนที่ชาวบ้านรวมตัวกันกว่า 100 คน ภายใต้การนำของครูนวลศรี พร้อมใจ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมจากเส้นใยกัญชงซึ่งมีจุดเด่นที่กระบวนการผลิตล้วนมาจากธรรมชาติ ตอนนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่ากัญชง คือ พืชพื้นบ้านที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมชาวเขาภาคเหนือ โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าม้ง พวกเขารู้จักปลูกกัญชง และสั่งสมภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากกัญชงมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ”

“พระองค์ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษา และส่งเสริมเกษตรกรชาวไทยภูเขาให้ปลูกกัญชง เพื่อใช้ในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้ ปัจจุบันกัญชงเป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย และกําลังเป็นสินค้าที่นิยมของผู้บริโภคกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคนรุ่นใหม่”

“นวลศรี พร้อมใจ” ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557 กล่าวเสริมว่า เราสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชงได้ทุกส่วน ทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ได้มากมาย เส้นใยกัญชงของไทยจัดว่าเป็นวัสดุระดับพรีเมี่ยม ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีมีความเหนียวนุ่ม มีความทนทานสูงกว่าผ้าฝ้าย ให้ความอบอุ่นกว่าลินิน ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน ป้องกันรังสียูวีได้ดี แถมเนื้อผ้ายังมีเนื้อสัมผัสที่มีเสน่ห์ สวยงามแปลกตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจึงโดนใจคนรุ่นใหม่

“พวกเรารู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงส่งเสริมเกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูกกัญชง จนชุมชนได้ใช้เส้นใยกัญชงมาประกอบอาชีพที่สุจริต ทั้งยังได้แสดงฝีมือจนผลงานขึ้นเวทีแฟชั่น และเป็นที่รู้จักไปยังต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้นับเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนอย่างยิ่ง”


จึงนับเป็นภารกิจสำคัญของ SACICT ในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทั้งงานเซรามิก และหัตถกรรมใยกัญชงให้มีรูปแบบที่ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งยังเตรียมผลักดันผลิตภัณฑ์เข้าสู่การซื้อ-ขายในตลาดออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น อันจะช่วยสร้างความภาคภูมิใจ และกระแสความนิยมต่อการใช้งานศิลปาชีพ และหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน