46 ปี “มูลนิธิศุภนิมิตฯ” ส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เด็กยากไร้

มูลนิธิศุภนิมิตฯ

แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจและสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ยังเป็นปกติไม่เปลี่ยนคือความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กผู้ยากไร้ หรือเปราะบาง ที่มักจะประสบปัญหาด้านรายได้ คุณภาพชีวิต และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดี ซึ่งแม้ทุกภาคส่วนจะพยายามเข้ามาแก้ไขและช่วยเหลือ แต่กระนั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

จนเมื่อมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ World Vision หรือองค์กรศุภนิมิตสากล เข้ามามีส่วนในการช่วยเหลือเด็กผู้ยากไร้ในประเทศไทย ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ รวมถึงสนับสนุนให้ครอบครัวของเด็กมีอาชีพ มีรายได้ สามารถดูแลครอบครัวของตนเองได้อย่างพอเพียง ผ่านโครงการหลักอย่าง “โครงการอุปการะเด็ก”

ปรากฏว่าหลังจากดำเนินโครงการผ่านมาแล้ว 46 ปี ปัจจุบันมีเด็กในโครงการอุปการะแล้วกว่า 57,000 คน รวมทั้งมีการขยายเป็นโครงการอื่น ๆ อีกกว่า 76 โครงการ ใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ โครงการอ่านออกเขียนได้ ทันใจ ประทับจิต ชีวิตมีคุณภาพ, โครงการมื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่ม, โครงการด้านปกป้องคุ้มครองเด็ก ฯลฯ โดยช่วยเหลือเด็ก ๆ ยากไร้ไปแล้วมากกว่า 1.4 ล้านคนทั่วประเทศ

ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง
เบื้องต้น “ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง” ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย บอกว่า มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยอยู่ภายใต้สมาชิกของ World Vision มีสมาชิก 100 ประเทศทั่วโลก ในการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งแต่ละประเทศจะพบปัญหาเกี่ยวกับเด็กแตกต่างกัน อย่างประเทศไทยปัญหาที่พบส่วนมากเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำมากกว่าความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น ทำไมเด็กในเมืองถึงเข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่าเด็กชนบท รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้พ่อแม่ยากจน กระทบคุณภาพชีวิตของเด็กโดยตรง ขณะเดียวกันก็พบปัญหาเด็กถูกกระทำรุนแรง และอื่น ๆ

“แต่เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนอย่าง กัมพูชา, เมียนมา จะพบปัญหาเด็กที่เผชิญกับความอดอยากมากกว่า แต่เด็กไทยไม่ได้อดอยาก เพราะมีแหล่งน้ำแหล่งอาหารที่ดี แต่ยังพบเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาทุพโภชนาการ โดยเฉพาะภาคอีสานที่บางคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับตายาย หรือพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแล ซึ่งในความช่วยเหลือ มูลนิธิดำเนินงานผ่านโครงการอุปการะเด็ก เป็นโครงการหลัก โดยมีหลักเกณฑ์คือ ทำงานร่วมกับคณะกรรมการชุมชนในแต่ละพื้นที่ ค้นหา และคัดเลือกเด็กอายุระหว่าง 3-13 ปี ที่อยู่ในภาวะยากลำบาก หรือเสี่ยง เช่น ยากจนสุดในชุมชน ครอบครัวไม่มีที่ดินทำกิน มีปัญหาทุพโภชนาการมาเข้าร่วมโครงการ และมูลนิธิดำเนินงานโดยเริ่มต้นจากเชิญชวนผู้อุปการะบริจาคคนละ600 บาทต่อเดือน”

“ดร.สราวุธ” บอกอีกว่า สำหรับเงินที่ได้รับจากการบริจาคแต่ละเดือน เรามีการรายงานยอดบริจาคผ่านหน้าเว็บไซต์มูลนิธิศุภนิมิตฯตลอด ซึ่งในจำนวน600 บาทที่ผู้อุปการะบริจาคเข้ามาแต่ละเดือน สามารถช่วยเหลือเด็กได้ถึง3 คน ในโครงการเดียวกัน โดยยอดบริจาคจะถูกจัดสรรออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน

“โดยส่วนแรก นำไปใช้สนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็กในอุปการะและครอบครัว ทั้งภาวะวิกฤต และความจำเป็นอื่น ๆ เช่น อุปกรณ์การเรียน, เครื่องแต่งกายนักเรียน ส่วนที่สองช่วยแก้ปัญหาชุมชนเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในโครงการ เช่น การส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย, การอ่านออกเขียนได้, การปรับปรุงอาคารเรียนห้องสมุด, ห้องน้ำ พร้อมกับสนับสนุนแหล่งน้ำสะอาดในโรงเรียนและชุมชน และส่วนที่สาม ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพชาวบ้าน อาสาสมัคร แกนนำเยาวชน ช่วยกันดูแลและปกป้องคุ้มครองเด็กและเครือข่ายให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”

ดังนั้นจากข้อมูลเบื้องต้น ทาง “มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย” จึงดำเนินงานโดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางในยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้านด้วยกัน คือ

หนึ่ง ปกป้องคุ้มครองเด็ก เพราะเด็กย่อมมีความเปราะบาง จึงต้องทำให้พ่อแม่เข้าใจเรื่องสิทธิ การเลี้ยงดูที่ถูกต้อง

สอง เสริมพัฒนาการเด็ก เพราะพบว่าเด็กบางคนมีปัญหาด้านพัฒนาการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

สาม ทักษะชีวิต เด็กเติบโตขึ้นมาจำเป็นต้องมีทักษะชีวิตที่เหมาะสม มูลนิธิจึงต้องฝึกให้เด็กเข้าใจสิ่งแวดล้อมของตนเอง ทั้งยังต้องเข้าใจความแตกต่างจากคนอื่น เพราะเมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะมาสนับสนุนเขาต่อในเรื่องทักษะการประกอบอาชีพ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งมูลนิธิจะมีรูปแบบดำเนินงาน (framework) ตามองค์การสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก

สี่ การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีฐานมาจากชุมชน เพื่อช่วยในการพัฒนาอาชีพของชาวบ้าน ส่งเสริมให้ชุมชนของเด็กมีแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่ปลอดภัยและมั่นคง

“ดร.สราวุธ” กล่าวต่อว่า มูลนิธิศุภนิมิตฯตั้งเป้าจะขยายความช่วยเหลือเด็ก ๆ อย่างต่อเนื่อง และรับเด็กเข้าอุปการะให้ได้อีก 51,000 คน ภายในปี 2564 เพราะเชื่อว่ายังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ยากไร้ และขาดโอกาส และสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ และภายใต้ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน จึงเกิดเป็นโครงการต่าง ๆ ขึ้นในครอบครัว ชุมชน และสังคมที่เด็กในอุปการะอาศัยอยู่

“สำหรับตัวอย่างพื้นที่ต้นแบบ ที่เห็นผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และมูลนิธิมีเป้าหมายดำเนินการช่วยเด็กเข้าโครงการอุปการะต่อเนื่อง ได้แก่ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เนื่องจากเป็นพื้นที่แนวตะเข็บชายแดน และเป็นพื้นที่ที่มีสถิติความยากจนของครอบครัวอยู่ในอันดับที่ 4 จาก 16 อำเภอของสุรินทร์ ทั้งยังมีการเคลื่อนย้ายประชากรสูงมาก

ที่สำคัญ ยังมีเด็กจบการศึกษาภาคบังคับน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เด็กมีทุพโภชนาการถึงร้อยละ 40 รวมถึงมีการถูกกระทำรุนแรงถึงร้อยละ 80 และมีเด็กร้อยละ 70 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่มูลนิธิเข้ามาดำเนินการตั้งแต่ปี 2553”

ประวิตร ดิษฐะเนตร
ถึงตรงนี้ “ประวิตร ดิษฐะเนตร” ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิศุภนิมิตฯ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)กล่าวเสริมว่า ผลจากการเข้ามาดำเนินงานทำให้ขณะนี้ภาพรวมเด็ก โครงการอุปการะพื้นที่ภาคอีสาน รวมทั้งสิ้น 14,914 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กในอุปการะที่อำเภอสังขะ 1,700 คน ให้ความช่วยเหลือตามยุทธศาสตร์ของมูลนิธิ ซึ่งหัวใจหลักของการดำเนินงานอุปการะคือช่วยเด็กให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะมีเด็กบางคนยังไม่ได้รับการจดทะเบียนแจ้งเกิด ทำให้ยังไร้สัญชาติ เนื่องจากอยู่ติดพื้นที่ชายแดนกัมพูชา ขณะที่เด็กบางคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ก็ต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ

“แต่การช่วยเหลือบางครั้งก็ทำได้ยาก เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายโดยเฉพาะเด็กบางรายที่ยังไม่ได้รับขึ้นทะเบียน ยังเป็นเด็กไร้สัญชาติ เพื่อให้เขามีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงดังนั้นเราจึงพยายามรวมหน่วยงานในท้องถิ่นเข้ามาช่วยผลักดัน ทำเรื่องเกี่ยวกับทะเบียน เอกสารต่าง ๆ ด้วยการผสานความร่วมมือกับชุมชนให้ช่วยดูแลเด็ก และชุมชนของตนเอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตามหลักการดำเนินงานของมูลนิธิ และนับตั้งแต่ผมเข้ามาทำงานในพื้นที่ มูลนิธิประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ทำให้เด็กสามารถเข้าเรียนในระบบได้มากกว่าร้อยละ 97 และเด็กบางคนสามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นชั้นมหาวิทยาลัยหลายคนด้วยกัน”

นอกจากนั้น “ประวิตร” บอกอีกว่า ยังมีโครงการที่เป็น best practice คือ โครงการมื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่ม ซึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ มีปัญหาด้านทุพโภชนาการ น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่มีเงิน หรือเวลาในการเตรียมอาหารเช้าให้แก่ลูกหลาน ทำให้เด็กไม่ได้รับประทานอาหารเช้า จนทำให้หิว และไม่มีสมาธิในการเรียนหนังสือโดยเฉพาะภาคอีสานจะพบปัญหานี้จำนวนมาก ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขตรงนี้จะส่งผลระยะยาวต่อพัฒนาการเด็ก

“ดังนั้น เราจึงดำเนินโครงการนี้ด้วยการสนับสนุนเด็กอายุระหว่าง2-6 ขวบ ในพื้นที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาฯ อำเภอสังขะ จำนวน 17 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 12 แห่ง เพื่อให้พวกเขาได้รับประทานอาหารเช้าทุกวัน ขณะเดียวกัน เราก็ดำเนินโครงการความร่วมมือพัฒนาด้านการอ่านออกเขียนได้ของเด็กควบคู่ไปด้วย โดยทางมูลนิธิเป็นผู้ทำงานขับเคลื่อนพัฒนาหลักสูตร และฝึกทักษะการสอนของครูเริ่มตั้งแต่อนุบาล แต่ไม่มุ่งเน้นท่องจำจากหนังสือเรียน ให้เด็กเรียนรู้จากกิจกรรม เช่น ร้องเพลง ทำท่าทางประกอบและสร้างสรรค์เนื้อเพลง ร้อยเรียงขึ้นมา”

“สำหรับสร้างการจดจำสระให้เด็กอ่านได้ ซึ่งในระดับประถมศึกษาจะเน้นการสอนให้เด็กอ่านคล่อง เขียนถูก และจับใจความเป็น จนทำให้หลักสูตรนี้เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภาครัฐ กระทั่งมีการ MOU เพื่อพัฒนาการศึกษากับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่ง อันไปสอดคล้องกับความเห็นของตัวแทน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านขนาดมอญ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ที่บอกว่าภาพรวมการทำโครงการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขนาดมอญเป็นไปในทิศทางดีขึ้น”

“จากเดิมเด็กเกือบร้อยคนที่เข้ามาในศูนย์ มีปัญหาด้านทุพโภชนาการถึง 100% เพราะไม่ได้รับประทานอาหารเช้าเนื่องจากที่พ่อแม่ให้เด็กทานขนมกรุบกรอบเพื่อรองท้อง จนทำให้ทุกเช้ามักจะพบถุงขนมในถังขยะจำนวนมาก และเป็นเหตุให้เมื่อพวกเขาทำกิจกรรม เด็ก ๆ มักจะขาดสมาธิในการเรียนรู้ และป่วยบ่อย แต่เมื่อมูลนิธิศุภนิมิตฯเข้ามาดูแลโภชนาการให้เด็กในศูนย์ตั้งแต่ 1-2 ขวบก่อน พร้อมกับจัดสรรงบประมาณอาหารเช้าให้เด็กหัวละ20 บาทต่อมื้อทุกวัน ปัญหาต่าง ๆเหล่านี้ จึงมีพัฒนาการดีขึ้นทั้งด้านร่างกาย น้ำหนักเพิ่มขึ้น จิตใจและอารมณ์มีความพร้อม จนตอบสนองกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น”

ที่สำคัญ ยังเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน จนทำให้เด็ก ๆ กินอาหารเช้ามากขึ้น ส่วนโครงการอ่านออกเขียนได้ ก็เป็นการสอนเด็ก ๆ ด้วยความสนุก กระทั่งเด็ก ๆ เหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วม และเรียนรู้ได้เร็วจากกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น