ภารกิจความยั่งยืน “เอไอเอส” ชักชวนคนไทยทิ้ง e-Waste ถูกวิธี

การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Waste อย่างถูกวิธี เป็นหนึ่งในภารกิจที่เอไอเอสกำลังให้ความสำคัญมากที่สุดขณะนี้ ซึ่งมีการจัดแคมเปญใหม่ “เอไอเอส e-Waste ทิ้งรับพอยท์” เปลี่ยนขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นคะแนน เพื่อชวนประชาชนนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทโทรศัพท์มือถือ, แท็บเลต, แบตเตอรี่มือถือ, สายชาร์จ, หูฟัง และพาวเวอร์แบงก์มาทิ้งที่ช็อปเอไอเอส

โดยลูกค้าจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วยการรับคะแนนผ่านแอปพลิเคชั่น My AIS เนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์1 ชิ้น มีค่า 5 คะแนน และ 1 หมายเลขสามารถรับ AIS Points ได้สูงสุด10 คะแนนต่อวัน ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการถึง 31 ต.ค. 2563

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่านอกจากเอไอเอสจะมุ่งสร้างสรรค์การบริการที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทุกเจเนอเรชั่นแล้ว ยังให้ความสำคัญกับบทบาทด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นกลไกที่ทำให้เอไอเอสกลายเป็น digital life service provider อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจเอไอเอสค่อนข้างแข็งแรง เรื่องสังคมเราก็ทำหลากหลาย

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

ทั้งยังมีโครงการคนเก่งหัวใจแกร่งเป็นโครงการเด่นแต่ในปีนี้เอไอเอสให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นสิ่งที่ทั่วโลกตระหนัก โดยเฉพาะปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่นับวันทวีเพิ่มมากขึ้น

“จากรายงานสถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของ The GlobalE-Waste Monitor 2020 มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ ระบุว่าปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีมากถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน โดยทวีปเอเชียเป็นทวีปที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุด ในปริมาณ 24.9 ล้านเมตริกตัน และเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 3.5 ล้านเมตริกตัน”

“ประเทศที่ผลิตขยะเยอะที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คืออินโดนีเซีย 1.6 ล้านเมตริกตัน, ไทย 6.2 แสนเมตริกตัน, ฟิลิปปินส์ 4.2 แสนเมตริกตัน แต่ทั้งหมดทั่วโลกกลับได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีเพียง 17.4% เท่านั้น ส่วนที่ยังไม่สามารถติดตามได้อีก 82.6% อาจถูกนำไปฝังกลบดินตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะสุดท้ายไม่เพียงแต่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่อาจทำลายสุขภาพคนด้วย และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะสูงขึ้นถึง 74.7 ล้านเมตริกตัน”

ขยะอิเล็กทรอนิกส์

“สมชัย” กล่าวต่อว่าการดำเนินธุรกิจเรามีส่วนทำให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้เกิดการใช้พลังงานจำนวนมาก จึงต้องดำเนินภารกิจด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีทีม Sustainable Development เป็นผู้ขับเคลื่อน ในการสร้างความตระหนักรู้แก่พนักงานในองค์กรก่อน จากนั้นจึงขยายความตระหนักรู้สู่ภายนอก ซึ่งแคมเปญเอไอเอส e-Waste ทิ้งรับพอยท์ถือเป็นการต่อยอดจากโครงการคนไทยไร้ e-Waste ที่นำร่องมาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการตระหนักรู้และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนทุกคน ด้วยการเป็นแกนกลางตั้งจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการส่งไปที่บริษัทเทส เพื่อจัดการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีในการมุ่งสู่ zero landfill

“จากที่ดำเนินผ่านมาเกิดผลสำเร็จด้วยการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากโครงข่าย และการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการรับจากคนไทยทั่วประเทศเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีแล้ว 710 เมตริกตัน และนอกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เรายังมีหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น การติดตั้งเสาสัญญาณที่ให้ความสำคัญกับพลังงานมากขึ้น โดยเน้นไปที่การใช้โซลาร์เซลล์เข้ามาเป็นส่วนประกอบ”

ถึงตรงนี้ “นัฐิยา พัวพงศกร” หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนเอไอเอส กล่าวเสริมว่าธุรกิจของเราค่อนข้างใช้พลังงานมาก โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ทำอย่างไรจะทำให้การใช้ไฟฟ้าลดทอนลงได้ หนทางแรกในภาพกว้างคือประเทศไทยควรจะต้องมีแหล่งพลังงานทางเลือก (alternativeenergy source) ที่มากกว่าทุกวันนี้ ซึ่ง

นัฐิยา พัวพงศกร
นัฐิยา พัวพงศกร

ประเด็นนี้ละเอียดอ่อน สิ่งที่เอไอเอสทำได้คือพยายามติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ที่มี เช่น บนหลังคาของดาต้าเซ็นเตอร์ โดยที่ผ่านมาเราติดตั้งแล้ว2 แห่ง จากทั้งหมด 9 แห่ง แต่เนื่องจากราคาโซลาร์เซลล์ขยับต่อเนื่อง หากมีราคาถูกลงจะขยายต่อ รวมทั้งมีการติดตั้งตามสถานีฐาน ปัจจุบันติดตั้งได้แล้ว 1,000 แห่ง จากฐานทั้งหมด 30,000 แห่ง โดยคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าคือปี 2566 จะติดตั้งสถานีฐานประมาณ 6,000 แห่ง

“ที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจสิ่งแวดล้อมยั่งยืนที่เอไอเอสกำลังโฟกัส 2 ประเด็นคือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ เนื่องจากการมาถึงของเทคโนโลยีเครือข่าย 5G ซึ่งจะทำให้การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ เช่น อุปกรณ์ IOT ฝังตัวอยู่ในหลากหลายอุปกรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 โลกเข้าสู่ digitalization มากขึ้น คือคนเริ่มหันมาทำธุรกรรมผ่านบริการออนไลน์ เกิดการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น และคนซื้อสินค้าที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ หรือไอทีก็มากขึ้นด้วย”

“ฉะนั้น บริษัทจะมีแคมเปญอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ร่วมมือกับพันธมิตร ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และล่าสุด มี 52 องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน ขยายจุดรับให้ได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้มีกว่า 2,000 จุดแล้ว พร้อมทั้งการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ด้วยการบอกเล่าถึงผลเสีย หากทิ้งไม่ถูกที่ และมีอีกหลายองค์กรติดต่อเข้ามาเพื่อร่วมโครงการให้เราแชร์ best practice กับเขาด้วยการรณรงค์ให้พนักงานมีแอ็กทีฟ และสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่แทบทุกองค์กรจะเน้นเรื่องขยะพลาสติกมากกว่า ยังไม่ได้เน้นเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์”

“นัฐิยา” กล่าวต่อว่าการร่วมกับเครือข่ายเราเริ่มต้นทำงานกับ 13 องค์กรที่ตั้งอยู่บนถนนเส้นพหลโยธิน ด้วยการจัดทำ”กรีนพหลโยธิน” โดยชูต้นแบบภาคีเครือข่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมจัดเป็นแชลเลนจ์รักษ์โลก ผ่านการทำภารกิจ”E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง?มาทิ้งแข่งกัน” ทั้งยังชวนพนักงานรุ่นใหม่มาร่วมภารกิจแข่งขันกันทิ้ง และในเดือนตุลาคมจะชวนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาทำแชลเลนจ์ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายต่อไปจะทำให้เกิดเป็นกรีนสาทร, กรีนหาดใหญ่, กรีนเชียงใหม่ในอนาคต จนทำให้กลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่คนทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกที่เหมือนกับขยะทั่วไป

“ที่สำคัญ ใน 2 ปีข้างหน้า เราตั้งเป้าว่าสัดส่วนที่เราเก็บขยะจะสามารถรีไซเคิลได้ถึง 97% จากที่เคยทำได้นับแต่ปี 2016 ถึงปัจจุบัน 96% แต่อาจจะยังไม่ถึง 100% เพราะอุปกรณ์บางอย่าง เช่น สายไฟเบอร์ ยังมีปัญหาเรื่องกระบวนการรีไซเคิลอยู่ คงต้องอาศัยเทคโนโลยีในการพัฒนาต่อไป เพราะเทคโนโลยีรีไซเคิลส่วนมากจะไม่ได้อยู่ในไทย เพราะขยะที่เอไอเอสรับมาแล้วส่งพันธมิตรจัดการต่อ สุดท้ายจะถูกนำไปรีไซเคิลที่ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์, ญี่ปุ่น เพราะมีเทคโนโลยีหล่อหลอมรีไซเคิลชิ้นส่วนบางอย่างได้ดีกว่า”

“แต่ทั้งนั้น แม้จะยังไม่ถึง 100%ก็ถือเป็นการสร้างจิตสำนึก และเป็นการเรียนรู้ระหว่างทาง ทั้งระหว่างพนักงาน และองค์กรเอง เพื่อไปสู่zero landfill เพราะองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็นคาดหวังว่า 10 ปีจากนี้ (2563-2579) ภาคธุรกิจจะนำเรื่อง climate change เข้ามาหลอมรวมในการดำเนินธุรกิจ และจะมีการตรวจสอบว่า 10 ปีที่ผ่านมาดำเนินงานเป็นอย่างไร ได้ผลอย่างไรบ้างแล้วอีก 10 ปีต่อไปมีแผนอย่างไรต่อ ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็ให้ความสนใจที่จะลงทุนในบริษัทที่ดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย”


ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว