TMA ผนึกกำลังผู้บริหารไทย-ต่างชาติ ลดโลกร้อน ตามเป้าหมาย SDGs

TMA จัดงาน Sustainability Forum 2000 : Creating a Resilient City เชิญผู้เชี่ยวชาญไทย-เทศร่วมสนทนา ผลักดันเป้าหมาย SDGs มุ่งเน้นประเด็นลดโลกร้อน

โลกเจอความท้าทายตลอดเวลา ทั้งด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งเป็นผลกระทบต่อจากการกระทำของมนุษย์ และความท้าทายล่าสุดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ หรือ COVID-19 ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความยั่งยืนบนโลก ด้วยเหตุนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จึงจัดงาน Sustainability Forum 2000 : Creating a Resilient City บนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและระดับโลก มาร่วมให้ความรู้และความเห็นในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) และสนับสนุนให้องค์กรต่าง ๆ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์เมืองที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่ผันแปร

โลกร้อนเป็นปัญหาระยะยาว

“ฮาราลด์ นายด์ฮาร์ด” ประธานกรรมการบริหาร และ Curator สถาบัน Futur/io ประเทศเยอรมณี กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นบททดสอบครั้งสำคัญสำหรับโลกธุรกิจและการสร้างความยั่งยืน แต่ COVID-19 เป็นวิกฤตระยะสั้น เมื่อเทียบกับปัญหาโลกร้อน

ฮาราลด์ นายด์ฮาร์ด

“หากวันนี้คนยังเพิกเฉยกับปัญหาโลกร้อน อาจทำให้เกิดวิกฤตการณ์ในอนาคต เช่น ตอนใต้ของกรุงปารีสและตอนใต้ของเทือกเขาแอลป์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายซาฮาร่า หรือเมืองที่ตั้งอยู่แทบชายฝั่งที่มีประชากรอาศัยหนาแน่นจะไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไปผลน้ำท่วม”

งานวิจัยของ IPCC (The Intergovernmental Panel on Climate Change) ระบุว่า โอกาสรอดจากหายนะทางสภาพภูมิอากาศแปรปรวน คือการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และลดลงให้ได้ 100% ภายในปี 2050

“โจนัส ธอร์นบลัม” ประธานกรรมการบริหาร Envito AB ประเทศสวีเดน กล่าวเสริมว่า การสร้าง Smart and Sustainable Cities จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย เพื่อร่วมกันกำหนดขอบเขตและแนวทางของการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการสร้างโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่รวมการสร้างความยั่งยืนอยู่ในกระบวนการบริหารจัดการนั้นด้วย

เดนมาร์ก ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

“ฟิน มอร์เทนเซ่น” กรรมการบริหาร State of Green ประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า เดนมาร์กได้เริ่มวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อปรับเปลี่ยนสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 โดยมีการวางแผนการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นคงทางทรัพยากร ตลอดจนแผนการสร้างเมือง smart city ซึ่งเดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

ฟิน มอร์เทนเซ่น

“ในอนาคตอันใกล้ ประมาณ 65% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความแออัด การจัดการทรัพยากร มลพิษจากการคมนาคม ตลอดจนปัญหาสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง”

การพัฒนาเมืองให้เป็น smart city ที่มีความยั่งยืนต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แต่หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือ ความสามารถในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่รุนแรง ตัวอย่างเช่น เมืองโคเปนเฮเกนและเมืองท่องเที่ยวรอสกิลด์ ที่มีนวัตกรรมในการจัดการและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมและพายุฝน เช่น การสร้างถนนที่สามารถช่วยดูดซับน้ำ การสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

ลงทุนในองค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นเมกะเทรนด์ที่ทุกคนจับตามอง นักลงทุนหรือสถาบันทางการเงินให้ความสนใจกับบริษัทที่ยึดหลักความยั่งยืน และดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปจะมองเรื่องนี้เป็นปัจจัยแรก ๆ ในการตัดสินใจลงทุน

“จากสถิติต่าง ๆ ของโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า มีสัดส่วนของคนรู้หนังสือมากขึ้น คนยากจนน้อยลง สังคมมีความเจริญมากขึ้น แต่สิ่งแวดล้อมกลับเสื่อมโทรมลง โดยสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของความเจริญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม มีการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง รวมทั้งปัญหาทรัพยากรน้ำ จึงทำให้บริษัทที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) มากกว่าผู้ถือหุ้น (shareholders)”

ภาคเอกชนช่วยสร้างความยั่งยืน

การอภิปรายในหัวข้อ CEO Roundtable : Business Adapting towards Resilience มีผู้ร่วมวงเสวนา 4 ท่าน ได้แก่ “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) “แบรด เดนิก” Co-ordinating Managing Director – Innovation & Sustainability บริษัท AWR Lloyd “ยูซา ซูเซีย” หัวหน้าภูมิภาค Business Finland และ “ดร.ชญาน์ จันทวสุ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยทุกท่านกล่าวไปในทางเดียวกันว่า สังคมในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพภูมิอากาศเกิดความแปรปรวน และภัยพิบัติทางธรรมชาตินับวันจะรุนแรงขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่รอได้อีกต่อไป

ภาคเอกชนจำเป็นต้องช่วยกันแก้ปัญหา วางแผนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่ยึดหลักความยั่งยืน ความสามารถในการปรับตัว (resilience) และการบริหารจัดการความเสี่ยง เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน