คิดแบบคน “อาร์เอส” “ผมมองหาคนฉลาดร่วมงาน”

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์-RS

ต้องยอมรับว่าการรีแบรนด์ของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ ล้วนผ่านกระบวนการคิดมาอย่างยาวนาน ทั้งนั้น เพราะ “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีประสบการณ์การทำงานในธุรกิจเพลงมานับแต่เริ่มต้น

ทั้งเขายังมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจนี้มาตลอด เพียงแต่เขาอาจคาดไม่ถึงว่า…มันจะเร็วขนาดนี้

เพราะธุรกิจเพลง “พระเอก-นางเอก” คือศิลปินของค่าย

แต่เมื่อกระแสดิสรัปต์เริ่มส่งสัญญาณรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ “สุรชัย” จึงเห็นแล้วว่าหากปล่อยให้รูปธุรกิจย่ำเท้าอยู่กับที่เห็นที “อาร์เอส” อาจกลายเป็นตำนานให้ถูกกล่าวถึงเช่นเดียวกับหลาย ๆ บริษัทในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

แผนธุรกิจในการรีแบรนด์จึงค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวในใจของเขาเมื่อหลายปีผ่านมา กอปรกับการเดินทางของอาร์เอสกำลังก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 40 รวมถึงสำนักงานแห่งใหม่บริเวณถนนเกษตร-นวมินทร์ กำลังแล้วเสร็จในปี 2563 ที่สุด “สุรชัย” จึงใช้โอกาสนี้รีแบรนด์อย่างเป็นทางการ

กล่าวกันว่า การรีแบรนด์ครั้งนี้ไม่ใช่แต่เพียงปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ให้รูปทรงและความโค้งมนของตัวอักษร R และ S แสดงออกถึงความพลิ้วไหว หากยังสื่อความหมายถึงการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความก้าวหน้า ตามความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่ ไม่เพียงจะมีความทันสมัย แต่ยังดูเป็นมิตรและเข้าถึงง่ายขึ้นอีกด้วย

แต่ลึกลงไปแล้ว “สุรชัย” บอกว่า… สิ่งที่ซ่อนอยู่จริง ๆ คงไม่ใช่แค่การปรับโลโก้เท่านั้น แต่ต้องการสื่อความหมายออกไปข้างนอกด้วยว่าเราจะเป็นองค์กรที่มีความเป็น “ทีมเวิร์ก” ในทุก ๆ ธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ป ทั้งนั้น เพราะเราต้องการส่งต่อพันธกิจใหม่ไปสู่ผู้คนในวงกว้าง

โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ อาร์เอสพร้อมจะสร้างแรงบันดาลใจ เติมเต็มชีวิตผู้คนด้วยความบันเทิง สินค้าและบริการที่สร้างสรรค์อย่างมีคุณค่า

ซึ่งอยู่บนค่านิยม 4 ประการ คือ

หนึ่ง แรงบันดาลใจ (inspiring)

สอง แรงผลักดัน (passionate)

สาม ใฝ่เรียนใฝ่รู้ (inquisitive)

สี่ แน่วแน่ที่เป้าหมาย (goal-oriented)

“ฉะนั้น ค่านิยมทั้ง 4 ประการจึงไม่เพียงเกี่ยวข้องกับการรีแบรนด์อย่างตั้งใจ หากยังเกี่ยวข้องกับแนวคิดในการทำงานแบบ agile เพื่อลดการทำงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ด้วยการปรับทีมการบริหารใหม่ นัยว่าเพื่อความรวดเร็วในการทำงาน แต่ทั้งนั้น เราจะดำรงทีมเดิมที่มีจุดแข็งมาผนวกกับทีมใหม่ที่มีความสามารถ เพื่อผลักดันธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ปให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

เพราะปัจจุบันธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ปประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ คือ

หนึ่ง ธุรกิจคอมเมิร์ซประกอบด้วย อาร์เอส มอลล์ และไลฟ์สตาร์

สอง ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ประกอบด้วย ช่อง 8, คูลลิซึ่ม และอาร์เอส มิวสิค

“ผมต้องอธิบายก่อนว่า การสร้างแม่ทัพในแต่ละธุรกิจจะมีการแต่งตั้งคนเก่าและคนใหม่ แต่ทั้งนั้น เรายังมองคนเดิมเป็นหลัก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เนื่องจากที่นี่ไม่ได้มองคนที่อายุงาน แต่มองคนที่ความสามารถ ยกตัวอย่างผู้บริหารแถวสองที่ต่อจากซีอีโอมีตั้งแต่อายุ 30 ปีต้น ๆ กับอายุ 50 กว่า ๆ

ผมมองว่าเรื่องของอายุไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ mindset กับ attitude สำคัญกว่า ที่สำคัญผมมองว่าคนที่มีประสบการณ์ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว เวลาไปทำเรื่องใหม่เขาจึงต้องเปิดใจทั้งในเรื่องของประสบการณ์การทำงาน และความเก๋าที่่จะมาช่วยเขาได้”

“ดังนั้น การที่ผมนำค่านิยมองค์กรทั้ง 4 ประการเข้ามาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจในวันนี้ ก็เพื่อต้องการสื่อว่าต่อจากนี้ไปเรามีความฝันนะ และเราก็มีเป้าหมายในการเดินด้วย ไม่ใช่มีแต่ความฝันและไม่มีเป้าหมายก็เหมือนฝันแล้วก็นอนหลับ ผมจึงบอกว่าเมื่อเรามีความฝัน เราควรตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะไปอย่างไร หรืออีก 10 ปีข้างหน้าเราต้องการอะไร ทั้งหมดนี้คือตัวขับเคลื่อนที่ทำให้ธุรกิจของอาร์เอสอยู่รอดมาจนทุกวันนี้ยิ่งในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย ผมว่าประเด็นเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “สุรชัย” ค่อนข้างเชื่อว่าการเดินไปข้างหน้าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้แม่ทัพฝ่าย HR (human resource) เข้ามาเป็นคู่คิดกับ “ซีอีโอ”เพราะองค์กรยุคใหม่ HR ไม่ใช่แค่ซัพพอร์ต แต่ผมมองว่า HR คือแขนอีกข้างของผม ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเราใช้คำว่า “people” เพราะองค์กรจะเข้มแข็งได้ล้วนมาจาก “คน” ทั้งสิ้น แต่การจะทำให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการ “HR” ต้องสร้างพวกเขาเหล่านี้ด้วย

“เพราะการรีแบรนด์เราเตรียมการมา1 ปีกว่า ๆ ในการปรับโครงสร้างทุกอย่างให้เสร็จภายในปลายปี 2562 นอกจากนั้นเรายังจัดทีมบริหารใหม่เพื่อให้ agile มากขึ้น และเราก็มอบหมายให้ผู้บริหารแต่ละคนรับผิดชอบไป ไม่ต้องรายงานอะไรกันเยอะ เพราะทุกคนรู้เป้าหมายขององค์กรเป็นอย่างดี ผมว่าการทำเช่นนี้ไม่เพียงจะเบาแรงซีอีโอระดับรอง ๆ จากผมเขาก็สามารถบริหารงานคล่องตัวมากขึ้น ดังนั้น เมื่อทุกคนรู้เป้าหมายก็จะทำงานได้ทันที ผมว่าสนุกทั้งเขาและผม มาเจอกันเฉพาะเรื่องที่ควรเจอก็พอ”

“อย่างตอนนี้อาร์เอสอยู่ระหว่างการฟอร์มทีมใหม่หลายสายงาน ยกตัวอย่างสายงานไอทียังขาดคนค่อนข้างเยอะ และทีมคอมเมิร์ซเราต้องการคนอีกเยอะตอนนี้เราเปิดรับคนตลอดเวลา แม้อาร์เอสจะมีพนักงานในปัจจุบันกว่า 1,000 คนในธุรกิจเพลง, วิทยุ, ทีวี, โปรดักต์คอมปะนีและอาร์เอส มอลล์ แต่ยังต้องการพนักงานอีกประมาณ 100 คนเพื่อมารองรับในส่วนของอาร์เอส มอลล์ เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการช็อปปิ้งและความบันเทิง”

“ดังนั้น หลังจากที่เรารีแบรนด์ปรากฏว่ามีคนรู้จักอาร์เอสในมุมมองใหม่มากขึ้น ทั้งยังมีคนรุ่นใหม่เดินเข้ามาร่วมงานกับเรามากขึ้นด้วย ตรงนี้จึงเป็นโอกาสที่เราเฟ้นหาคนที่เหมาะกับธุรกิจของเราได้มากขึ้นด้วย เพราะโลกธุรกิจมันเปลี่ยนแปลงเร็ว อย่างปีที่แล้วช่วงไตรมาส 2 คนของอาร์เอสยังงงเลยเพราะแทบจะเป็นคนละบริษัท เนื่องจากเราปรับโครงสร้างบริษัท ปรับทีมผู้บริหารใหม่และสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ผมถึงพูดเสมอว่าการเปลี่ยนแปลงของเราต้องตามโลกให้ทัน หรือเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมาดิสรัปต์เรา”

ทั้งนั้น เพราะ “สุรชัย” ไม่ได้มองแค่”อาร์เอส กรุ๊ป” เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเท่านั้น แต่เขากลับมองเรื่องการนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต เพราะเรื่องนี้ไม่เพียงเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ โปรดักต์ หากยังเกี่ยวเนื่องกับคู่ค้าและผู้ถือหุ้นด้วย

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่บางตำแหน่งงานโดยเฉพาะตั้งแต่ระดับ middlemanagement ขึ้นไป “สุรชัย” จึงออกมาสัมภาษณ์งานด้วยตนเองเพราะเขาต้องการมองหา “ความฉลาด” ของคน

“เรื่องการคัดเลือกคนผมมองที่ความฉลาด เพราะทุกวันนี้เราหาคนทำงานที่เหมาะกับธุรกิจของอาร์เอสค่อนข้างยาก รวมถึงบางธุรกิจก็เป็นของใหม่ด้วย เราจึงหาคนเชี่ยวชาญโดยตรงยาก ยกตัวอย่างธุรกิจคอมเมิร์ซของอาร์เอสถือว่าเป็นรูปแบบเฉพาะ ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าที่หาคนแค่ขายของหน้าร้าน สิ่งที่ทำคือพยายามหาคนที่เกือบจะใช่ แต่ฉลาด เพราะคนฉลาดจะปรับตัว เรียนรู้ได้เร็ว ดังนั้น หลายตำแหน่งงานของเราจึงหาแบบที่เรียนจบมาโดยตรงไม่มีเลย”

“เมื่อไม่มี ต้องมาดูว่าเขาฉลาดหรือไม่อยากจะเรียนรู้หรือไม่ เพราะคนมีอยู่2 ประเภท คือ เห็นสิ่งใหม่เป็นเรื่องท้าทายและสนุก กับคนที่เห็นสิ่งใหม่แล้วกลัว ผมมองว่าแค่นี้ก็ต่างกันแล้ว ไม่ต้องคิดให้ซับซ้อน ฉะนั้น ในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง หลังจากที่ HRคัดเลือกแล้วผมจะลงมาคุยด้วยตนเอง คุยเพื่ออยากรู้ว่าเขาฉลาดหรือไม่ โดยไม่สนใจเลยว่าเขาจะจบจากที่ไหน ดีกรีอะไร พูดง่าย ๆ ว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายของผมแต่แรกอยู่แล้ว”

“เพราะการดำเนินธุรกิจของอาร์เอสต่อจากนี้ไปจนถึงอนาคตเราจะมองเรื่องของความยั่งยืนเป็นหลัก ขณะเดียวกันเราก็เพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปด้วย อาจจะเริ่มจากสภาพแวดล้อมโดยรวมของชุมชนบริเวณใกล้ ๆ ตึกอาร์เอส เพราะผมคิดว่าหน้าที่ของภาคธุรกิจจะต้องมองความสวยงามของชุมชนที่เราอาศัยอยู่ด้วย ไม่ใช่ตึกของเราสวยงามอยู่คนเดียว แต่ข้าง ๆ เป็นสลัม และตรงนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจยุคใหม่ของอาร์เอส กรุ๊ป นับจากนี้เป็นต้นไป”

ที่ไม่ธรรมดาเลย