ต้นกล้าไร้ถัง โมเดลจัดการขยะ 392 โรงเรียน

โมเดลจัดการขยะ

ปัญหาขยะในประเทศไทยยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาครัฐ เอกชนจะรณรงค์แก้ไขเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันยังบริหารจัดการได้ไม่ดีนัก ส่งผลให้ภาคการศึกษาต้องลุกขึ้นมาปลูกจิตสำนึกแก่นักเรียน นักศึกษาให้ตระหนักถึงปัญหาขยะ และการทิ้งให้ถูกวิธีมากขึ้น

ซึ่งเหมือนกับโรงเรียนอนุบาลทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงเรียนเครือข่ายสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ของซีพี ออลล์ ที่เริ่มบ่มเพาะให้นักเรียน ตลอดจนพ่อค้าแม่ค้าในโรงเรียน ไปจนถึงคนในชุมชนทับสะแกมีจิตสำนึกในการจัดการขยะ ตั้งแต่การแยก ทิ้ง ตลอดจนการรีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้โครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง”

“ธานินทร์ บูรณมานิต” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)ผู้บริหารออลล์ ออนไลน์ และเซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวว่า จากความสำเร็จของโครงการต้นกล้าไร้ถัง ซีพี ออลล์เล็งเห็นว่าควรได้รับการต่อยอดสู่ระดับประเทศ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะหนุนโรงเรียนในเครือข่าย CONNEXT ED ภายใต้ความดูแลของซีพี ออลล์ จำนวน 392 แห่ง เข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อบ่มเพาะเยาวชนด้านการจัดการขยะและลดปริมาณขยะทั้งในโรงเรียนและชุมชนโดยรอบ ภายในปีการศึกษา 2565 นี้

“โดยเริ่มจากปีการศึกษา 2563 จำนวน 50 โรงเรียน ปีการศึกษา 2564 เพิ่มเป็น 100 โรงเรียน และปีการศึกษา 2565 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED เราทำเพิ่มจนครบ 392 โรงเรียน และความคืบหน้าล่าสุดมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับโรงเรียนอนุบาลดงมหาวัน อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย และโรงเรียนวัดนาคู (จันทศึกษาคาร) อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งทั้ง 2 เป็นโรงเรียนภายใต้ CONNEXT ED ทั้งยังเป็นโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และซีพี ออลล์ เพื่อนำร่องเป็นภาคีเครือข่ายโรงเรียนต้นกล้าไร้ถังแล้ว”

ขณะที่ “ธนัญชัย สุขสว่าง” ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ซีพี ออลล์ กล่าวเสริมว่า ซีพี ออลล์สนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียนอนุบาลทับสะแก รอบแรก 2 แสนบาท ในการดำเนินโครงการเพื่อเตรียมยกระดับเป็นต้นแบบขยายสู่โรงเรียนอื่น ๆ เช่น เก็บรายละเอียดข้อมูลโครงการ จัดสรรอุปกรณ์สำหรับเตรียมสถานที่รองรับหน่วยงานที่เข้ามาศึกษาดูงาน

“สุดารัตน์ สังข์ฤทธิ์” ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนอนุบาลทับสะแก ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการกล่าวว่า เรามีนักเรียน600 คน สร้างขยะวันละประมาณ 500 กก.หนึ่งในนั้นคือถุงนมที่ทิ้งวันละมากกว่า 600 ถุง ถ้ารวมหลอดพลาสติกด้วยก็เป็น1,200 ชิ้น ภายใน 1 เดือนสร้างขยะรวม 15 ตัน เมื่อปริมาณขยะมากขึ้น เราจึงหันมาสอนให้เด็กหลีกเลี่ยงทิ้งขยะลงถังรวม แต่หันมารับผิดชอบจัดการขยะของตนเอง โดยนำแนวทางจัดการขยะของสถาบันพระปกเกล้า เรื่องชุมชนไร้ถัง ซึ่งเป็นแนวทางของ ดร.ไพบูลย์โพธิ์สุวรรณ มาปรับใช้ เพื่อมุ่งเน้นจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ลด เลิกการใช้สิ่งที่กำลังจะกลายมาเป็นขยะ เช่น หลอด จานกระดาษ แก้วน้ำแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การนำสิ่งที่คนมองว่าเป็นขยะมาใช้ซ้ำ(reuse) รีไซเคิล (recycle) และจัดการวัสดุอินทรีย์

“เริ่มจากให้ความรู้เด็กว่าอะไรคือขยะ วัสดุรีไซเคิล วัสดุย่อยสลาย จากนั้นสอนให้มีการแยกขยะที่ตนเองมี และนำไปทิ้งในจุดคัดแยกอย่างถูกต้อง ซึ่งเราแยกตั้งแต่เศษไม้กวาด กระดาษสีขาว เศษยางลบ ถุงนมที่ดื่มแล้วก็ต้องตัดล้างให้สะอาด นำไปตากแห้ง เพื่อนำไปขาย แม้แต่รับประทานอาหารก็ห้ามเหลือเศษ โดยภายหลังจากเริ่มดำเนินการในปี 2558 โรงเรียนสามารถลดปริมาณขยะลงได้อย่างต่อเนื่อง จาก 15 ตันต่อเดือน เหลือเพียง 2 กก.ต่อเดือน”

“โรงเรียนได้เผยแพร่สู่ชุมชน โดยให้นักเรียนไปคัดแยกขยะที่บ้านตนเองด้วยเพราะตอนนี้กำลังทำโครงการประกวดบ้านต้นกล้า เป็นการกระตุ้นให้เขาลงไปสร้างจิตสำนึกกับชุมชน โดยมีเกณฑ์ง่าย ๆ คือเขาต้องจัดการกับขยะของตนเองที่บ้าน และหากอยากได้คะแนนมาก ต้องชวนคนในบ้านทำด้วย”

อันนับเป็นโครงการที่น่าสนใจทีเดียว