10 ปี “แสนสิริ-ยูนิเซฟ” พร้อมผลักดันคุณภาพชีวิตเด็กทั่วโลก

แสนสิริ-ยูนิเซฟ

แม้ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งจะบอบช้ำอย่างหนักในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อของคนลดลง แต่สำหรับ “แสนสิริ” กลับสวนกระแสด้วยการทุ่มงบประมาณกว่า 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐให้กับ “ยูนิเซฟ” นำไปช่วยเหลือเด็กทั่วโลก ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นการ “ลงทุนเพื่อสังคม” ที่แสนสิริทำเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2553

ด้วยความเชื่อเหมือนภาคธุรกิจอื่น ๆ ว่าการทำธุรกิจต้องมีจิตสำนึกตอบแทนสังคม

“เศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเหตุผลในเรื่องนี้ว่า แสนสิริช่วยเหลือเด็กในสังคมมาแล้วหลายปี ด้วยแนวคิดอยากจะปูพื้นฐานชีวิตที่ดีแก่เด็กให้ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และกีฬา ทั้งในและนอกกระบวนการธุรกิจ เพราะเชื่อว่าเด็กคืออนาคตของชาติ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์องค์กร “Made for Life…Made for Better”

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

โดยเริ่มต้นตั้งแต่จุดเล็ก ๆ ในการช่วยเหลือเด็กที่เป็นบุตรของคนงานในโครงการก่อสร้างของแสนสิริ จนกระทั่งขยายความร่วมมือกับยูนิเซฟอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2553 ด้วยเห็นว่าเป็นองค์กรใหญ่ที่สุดขององค์การสหประชาชาติในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งยังมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนทั่วโลก โดยมีแนวทางดำเนินงานที่เรียกว่า “social change” 4 ประเภท ได้แก่

หนึ่ง good workplace เรื่องสิทธิเด็กในองค์กร แสนสิริให้คณะกรรมการความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม (คณะกรรมการ CSR) เป็นผู้ควบคุมและกำหนดทิศทางการดูแลสิทธิเด็กภายในองค์กร โดยยึดหลักการสิทธิเด็กและปฏิบัติทางธุรกิจ เช่น โครงการ Breastfeeding Room สนับสนุนนโยบายส่งเสริมให้สถานที่ทำงานเป็นมิตรต่อครอบครัวพนักงาน โดยจัดห้องนมแม่ หรือห้องให้นมบุตร ที่สำนักงานใหญ่แสนสิริ โรงงานผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป และฮาบิโตะ มอลล์เพื่อสนับสนุนให้พนักงานหญิงภายหลังคลอดบุตรสามารถเลี้ยงและให้นมบุตรในพื้นที่เหมาะสม

สอง good space ขยายความร่วมมือไปยังคู่ค้า เช่น โครงการ The Good Spaceที่ร่วมกับยูนิเซฟ ประเทศไทย และพันธมิตรธุรกิจรับเหมาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 ในการสร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในสถานที่ก่อสร้าง เพื่อการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย รวมถึงการเข้าถึงการศึกษา และการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี โดยปี 2555-2562 จัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กแล้ว 57 โครงการก่อสร้างใน13 จังหวัด มีเด็กกว่า 6,000 คนที่พักอาศัยอยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้างได้มีพื้นที่ปลอดภัยแล้ว

รวมถึงนโยบายไม่ใช้แรงงานในสถานที่ก่อสร้าง กำหนดให้คู่ค้าธุรกิจทุกรายที่ดำเนินงานก่อสร้างและการผลิตสินค้าได้ลงนามใน “ข้อสัญญาคุ้มครองแรงงานเด็ก” ว่าด้วยการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 หมวด 4 ว่าด้วยการใช้แรงงานเด็ก ถ้าพบว่ามีคู่ค้าหรือผู้รับเหมาละเมิดข้อสัญญา แสนสิริจะยกเลิกการทำธุรกิจร่วมกัน และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สาม good community ต่อยอดความช่วยเหลือสู่สังคมวงกว้าง เช่น โครงการแสนสิริ อะคาเดมี่ ที่เป็นโครงการส่งเสริมทักษะพื้นฐานของการเล่นฟุตบอล ที่มุ่งปลูกฝังระเบียบวินัยนักกีฬา รวมทั้งการสนับสนุนอุปกรณ์กีฬา และส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนทุกคน รวมถึงเด็กด้อยโอกาส หรือเด็กพิการ ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่คิดค่าใช้จ่าย และนับแต่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 8,000 คน และ 100 คนได้รับคัดเลือกเข้าไปเป็นนักฟุตบอลช้างเผือกในโรงเรียนชั้นนำ รวมถึงนักกีฬามืออาชีพแล้ว

สี่ good global citizen สมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กในภาวะฉุกเฉินทั่วโลก (UNICEF GlobalEmergency Fund) ขององค์การยูนิเซฟ ปีละ 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30 ล้านบาท

“เศรษฐา” กล่าวย้ำว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีแสนสิริมอบเงินไปแล้วรวม 325 ล้านบาท ซึ่งยูนิเซฟสามารถเบิกไปช่วยเหลือเด็กที่ไหนก็ได้ในทุกมุมโลกโดยไม่ต้องรอการอนุมัติ เพราะเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่สามารถรอได้ ต้องช่วยเหลือทันที เช่น ภัยพิบัติ, สงครามกลางเมือง, การสู้รบ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ

“ปีนี้แสนสิริแสดงจุดยืนจะมอบเงินให้กับยูนิเซฟต่อเนื่องตราบที่ยังมี ทั้งยังเพิ่มงบฯสนับสนุนอีก 2 ล้านบาท เพราะปีนี้เราเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 เชื่อว่าทุกคนต้องการความช่วยเหลือหมดไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนชรา หรือผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของเด็กไม่ใช่เรื่องจบง่าย ต่อให้บริจาคเท่าไหร่ก็ช่วยเหลือไม่หมด เป็นสิ่งที่ภาคเอกชน ประชาชนจึงต้องช่วยกันมอบโอกาสให้กับเด็กทั่วโลก ซึ่งงบฯที่สนับสนุนถือเป็นครึ่งหนึ่งของงบฯทำกิจกรรมเพื่อสังคมของแสนสิริ”

“แต่ทั้งนั้นไม่ใช่ว่าเราทุ่มให้กับสังคมมากไป เพราะเราต้องบริหารให้เกิดความสมดุลกับทั้ง 4 เสาด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นพนักงาน ลูกค้า และสังคม เรามีการสื่อสารกับพนักงาน ลูกค้า และผู้ถือหุ้นแล้วว่าทุกคนมีส่วนในการช่วยเหลือเด็กทั่วโลก แต่ถ้าถามว่าทำไมไม่โฟกัสที่เด็กไทยก่อน แสนสิริมองว่าโลกไร้พรมแดน ไม่ควรปิดกั้น เพราะทุกคนคือส่วนหนึ่งของสังคม (global citizen)”

อันสอดคล้องกับคำพูดของ “โธมัส ดาวิน” ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยที่บอกว่า ภาพรวมปัญหาของเด็กทั่วโลกส่วนใหญ่ประสบกับวิกฤตธรรมชาติขาดสารอาหารรุนแรง ในแต่ละวันจะมีเด็กเสียชีวิตจากการขาดสารอาหารจำนวนมาก เข้าไม่ถึงวัคซีนที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และมีประชากรกว่า 34 ล้านคนต้องย้ายถิ่นฐาน

โธมัสดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

ที่สำคัญคือมีเด็กกว่า48 ล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน และครึ่งหนึ่งของเด็กที่ไปโรงเรียน ไม่ได้เรียนอะไรเลย นี่คือวิกฤตการเรียนรู้ ยังไม่นับเด็กที่ต้องประสบกับภัยพิบัติต่าง ๆ

“ดังนั้น หน้าที่ของยูนิเซฟจึงต้องเร่งช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ให้ทั่วถึง โดยการจัดส่งของที่จำเป็นต่อการอยู่รอดในภาวะวิกฤต ช่วยเหลือคนที่ขาดสารอาหารรุนแรง จัดหาน้ำสะอาด เยียวยาจิตใจ รวมถึงฉีดวัคซีน แสนสิริถือเป็นพาร์ตเนอร์หลักของยูนิเซฟใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้รับการยอมรับแต่งตั้งให้เป็น UNICEF”s First Selected Partner in Thailand ตลอดความร่วมมือ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะสามารถช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินกว่า 18 ล้านชีวิตให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด และกว่า 32 ล้านชีวิตได้รับน้ำสะอาดเพื่อการดำรงชีวิต”

พื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก

“สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแบบอย่างขององค์กรภาคเอกชนที่มุ่งมั่นส่งเสริมสิทธิและความเป็นอยู่ของเด็กในประเทศไทยและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังร่วมผลักดันให้เกิดนโยบายต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในหลายโครงการ สำหรับโครงการที่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในประเทศไทย คือ โครงการ Iodine Please ที่ผลักดันเรื่องไอโอดีนกลายเป็นนโยบายระดับประเทศ เพราะหากย้อนกลับไปในปี 2548ประเทศไทยมีครอบครัวที่ขาดสารไอโอดีนถึง 43%”

“เราจึงร่วมกันรณรงค์ด้วยการสร้างความตระหนักในสังคมไทยเกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีนในเด็ก หลายคนเข้าใจว่าเป็นสารทำให้เกิดคอพอก แต่จริง ๆ แล้วเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสมองของเด็กด้วย หากพวกเขาขาดสารเหล่านี้จะทำให้ไอคิวต่ำลง พูดง่าย ๆ ว่าแนวทางความร่วมมือครั้งนี้นำมาซึ่งการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่กำหนดให้มีการเติมสารไอโอดีนในเกลือบริโภคทุกชนิด ทั้งยังมีการประกาศใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 ซึ่งถือเป็นกฎหมายแรกที่ยูนิเซฟพยายามมาหลายปีแต่ไม่สำเร็จ แต่วันนี้สถิติล่าสุดของยูนิเซฟพบว่ามีครัวเรือนที่เข้าถึงไอโอดีนเพิ่มสูงขึ้นถึง 76%”

เป็น 76% ที่ “แสนสิริ-ยูนิเซฟ” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังตลอดมา