คุณภาพชีวิต… ต้องคิดทุกมิติ

คอลัมน์ CSR Talk

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

“รายได้ของเกษตรกรยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากการเพาะปลูกพืชเกษตร ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ข้อมูลเบื้องต้นเป็นรายงานวิจัยสถานการณ์เศรษฐกิจของภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะกี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่ไม่มีเปลี่ยนแปลง ทั้งยังมีแนวโน้มย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2554/2555 มีผู้คำนวณว่ารายได้จากการเกษตรต่อครอบครัวประมาณ 4 คน เมื่อหักต้นทุนแล้ว อยู่ที่ 57,448 บาทต่อปี และที่หักต้นทุน คือ ต้นทุนการทำการเกษตรเท่านั้น ยังไม่ได้รวมต้นทุนชีวิตแต่อย่างใด

ต้นทุนชีวิตคร่าว ๆ คือ ค่าอาหาร ค่ายารักษาโรค ค่าเล่าเรียน ฯลฯ เงินจำนวนเท่านี้ มนุษย์เงินเดือนที่เป็นโสดบางคนยังเกือบคิดออกว่า จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรในหนึ่งเดือน

จากการเข้าร่วมงานพัฒนาชุมชนทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจหลายองค์กรพบว่า ส่วนมากจะเลือกทำด้านใดด้านหนึ่งตามความถนัด ซึ่งก็ไม่ได้ผิด เพียงแต่ถ้ากำหนดเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ก็คงไม่สัมฤทธิผลแต่อย่างใด เช่น ถ้าเล่นประเด็นพัฒนาผู้นำ จัดการอบรมบ่มเพาะแนวคิด ปลูกฝังอุดมการณ์ ปลุกเร้าความเป็นผู้นำ แล้วให้พวกเขากลับไปที่หมู่บ้าน เผชิญหน้ากับปัญหาเดิม ๆ ทั้งของครอบครัว และเพื่อนบ้าน นั่นคือรายได้ไม่พอกับรายจ่าย การเป็นหนี้สิน ความเจ็บป่วย ต้นทุนที่ใช้ไปทั้งองค์กร และตัวผู้นำเองที่ต้องออกมาจากบ้าน ทิ้งงาน ทิ้งครอบครัว จนกลายเป็นศูนย์ และอาจจะติดลบ

เพราะได้ยินเสียงบ่นมากับหูว่า ท่านผู้นำที่ได้รับการเชิญมาอบรมเหล่านั้น แทบไม่มีเวลาอยู่บ้าน เพราะหลายหน่วยงานมีโครงการเข้ามามากมาย

แนวคิดในการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมของช่องสาริกา โมเดล บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) จึงเป็นมุมมองที่น่าสนใจ จากการมองเห็นถึงความเชื่อมโยงของปัญหาความยากจนที่ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงจุดใดจุดหนึ่ง เช่น การเข้าไปทำด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ การทำการเกษตรเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องดิน เรื่องน้ำอย่างแน่นอน มิติด้านสุขภาพของเกษตรกรเองก็มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกัน มิติทางด้านสังคม คือ การอยู่ร่วมกันในชุมชน เป็นองค์ประกอบที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน

ดังนั้นไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยประเด็นใด การจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามที่ระบุไว้ จึงต้องมองให้ครบทุกด้าน และวางแผนดำเนินการอย่างมีระบบ โดยการเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ปัญหา จนนำไปสู่การเข้าใจปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด และหมดจด การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าจึงเกิดขึ้นได้

ยกตัวอย่าง เช่น การเข้าไปแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตร ในการปลูกพืชหลัก เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ซึ่งเมื่อนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยชี้แนะ สามารถเพิ่มผลผลิตได้หลายเท่าตัว แต่ยังไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่เกิดขึ้นประจำวัน จึงต้องชี้ให้เห็นต่อไปว่า ต้องมีการปลูกพืชที่สร้างรายได้เสริมด้วย ขณะเดียวกัน ปัญหาความเจ็บป่วยของสมาชิกในชุมชนมีผลต่อศักยภาพในการทำมาหากิน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อทำให้คนในชุมชนเริ่มเห็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันจากเรื่องใกล้ตัว การแก้ปัญหาที่สาเหตุ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จากการจดบัญชีรายรับรายจ่ายในการทำการเกษตร จะเห็นทันทีว่ามีต้นทุนอะไรบ้างที่ควรจัดการให้ลดลง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางการผลิต จากภาพเล็กจะสามารถเชื่อมโยงมาสู่ภาพใหญ่ คือ ความเป็นชุมชนได้ง่ายขึ้น จนนำไปสู่การดูแลสิ่งแวดล้อม และการสร้างต้นทุนทางสังคมร่วมกันในที่สุด

หากองค์กรธุรกิจใดมีแนวทางในการทำ CSR กับชุมชน กำหนดเป้าหมายที่จะร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมขน ก่อนลงมือดำเนินการ การเตรียมทีมงาน เตรียมความคิด เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ทุกคนต้องเห็นในเป้าหมายเดียวกัน มีเครื่องมือ มีความรู้ มีทักษะที่จะลงไปทำงานร่วมกับชุมชน เพราะการทำงานในลักษณะนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการทำ CSR ในรูปแบบของกิจกรรมที่ทำแล้วจบในครั้งเดียว

แต่ต้องมีการติดตามประเมินผลทุกระยะ เพื่อแก้ไขวิธีดำเนินการให้ไปสู่เป้าหมาย

เพราะการทำงานกับคนไม่ได้มีรูปแบบสำเร็จรูป แต่ต้องมีแนวคิดที่ชัด จึงจะเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ไม่เสียเวลา เสียกำลังใจ ทั้งคนทำงานและคนในชุมชนเอง เพราะในความเป็นจริง ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว ดังนั้นเมื่อต้องการทำเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงไม่สามารถคิดเพียงด้านเดียวเช่นกัน