คีย์ซักเซส “เกษตรวิชญา” ชูเกษตรอินทรีย์เพิ่มรายได้เกษตรกร

ย้อนกลับไปในอดีตหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระราชทานพื้นที่กว่า 1,350 ไร่ ในบริเวณบ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2545 เพื่อสานต่อการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมกำหนดทิศทางให้ภาคการเกษตรในขณะนั้นมุ่งสู่การเป็น “เกษตรอินทรีย์” หรือ “การทำไร่ทำสวนแบบไม่ใช้สารเคมี 100%” ภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา หรือปราชญ์แห่งการเกษตร ที่วันนี้เริ่มมองเห็นความสำเร็จแล้ว

ภายในพื้นที่ทั้งหมดราว 1,350 ไร่ ในปัจจุบัน “ธงชัย บุญเรือง” ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา หนึ่งในเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ระบุว่าในช่วงเริ่มต้น กลไกหลักในการพัฒนาพื้นที่คือ กรมพัฒนาที่ดิน ที่รับหน้าที่ในการสำรวจพื้นที่รอบด้านทางเทคนิค เพื่อนำมาประเมินความเหมาะสมว่า พื้นที่ดังกล่าวจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ธงชัย บุญเรือง
ธงชัย บุญเรือง

โดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ให้มีอาชีพ มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ที่สำคัญ การพัฒนาจะต้องนำหลักวิชาการเข้ามาใช้ โจทย์สำคัญในขณะนั้นคือจะพัฒนาอย่างไรโดย”ไม่กระทบ” ต่อสภาพแวดล้อมเดิมที่มีอยู่

“ฉะนั้นจึงต้องนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ เพราะสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง อาจทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนาต่อยอด หลังจากนั้น จึงได้ข้อสรุปว่าพื้นที่ดังกล่าวต้องเริ่มที่การฟื้นฟูป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของพื้นที่ การฟื้นฟูจากวันนั้นถึงวันนี้รวมระยะเวลา 20 ปี สามารถฟื้นฟูป่าได้แล้ว 80-90%”

“เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ จึงให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้ามาช่วยวางแผนในการบริหารจัดการเพื่อใช้พื้นที่ป่าเพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง และสำหรับพื้นที่ที่เหลืออีกส่วนใช้เป็นพื้นที่ส่วนราชการ เพื่อให้เป็นหน่วยงานสาธิต รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ในการปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน นอกจากนี้ยังนำองค์ความรู้ด้านสัตว์น้ำของกรมปศุสัตว์มาสำรวจความเหมาะสมว่าสามารถใช้กับแหล่งน้ำที่มีอยู่ในการทำประมงได้หรือไม่ด้วย”

“ธงชัย” ระบุเพิ่มเติมอีกว่า จากพื้นที่โดยรวม 1,350 ไร่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแยกที่ดินจัดสรรประมาณ 100 ไร่ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง ทดแทนการทำไร่เลื่อนลอยของเกษตรกร พร้อมกับส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยตามธรรมชาติตามมาด้วยการพัฒนาพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาต้นน้ำ โดยได้นำเกษตรกร “ต้นแบบ” มาเรียนรู้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฯและนำกลับไปใช้ประโยชน์

“จนถึงวันนี้เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับในอดีตจะเห็นว่ามีสมาชิกอยู่ 55 รายแล้วที่เข้าร่วมโครงการ ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับคือลดต้นทุนการผลิตลงสูงสุดถึง 40% ซึ่งต้นทุนส่วนนี้มาจากการซื้อสารเคมีเป็นหลัก อีกทั้งป่าที่สมบูรณ์มากขึ้น ทำให้เกิดต้นน้ำอย่างแท้จริงของชุมชนในพื้นที่ จะเพาะปลูกอะไรก็สามารถทำได้ ฉะนั้น ภารกิจต่อจากนี้ของศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา จะเดินหน้าภารกิจเปลี่ยน “mindset” ของเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการตั้งเข็มทิศให้ภาคการเกษตรมุ่งเน้นไปที่เกษตรอินทรีย์ พร้อมกับนำภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามาเป็น partner เพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ในการทำการตลาด กระจายสินค้าและผลิตผลทางการเกษตรอย่างมืออาชีพ จนมีผู้ประกอบการรายใหญ่สนใจรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากโครงการมากมาย เช่นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ฯลฯ”

หากมองจุดแข็งของเกษตรกรในพื้นที่ บ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม “ธงชัย” ระบุว่าคือผลผลิตจากหอมหัวใหญ่ และสตรอว์เบอรี่ และตามแผนการดำเนินการในปี 2564 จะเน้นไปที่ “ป่าเศรษฐกิจ” ตอนนี้เริ่มนำจุดแข็งใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอีกคือ กาแฟ โดยเข้ามาปลูกผสมผสาน และพัฒนาพื้นที่ทางเดินในป่า พร้อมทั้งดำเนินการพัฒนา “ป่าอาหาร” เข้ามาเพิ่มเติม ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฯลฯ เข้ามาช่วยสำรวจและช่วยคิด

“ในขณะที่ป่าเศรษฐกิจ ชุมชน หรือการสร้างป่า สร้างรายได้ เช่น ป่าแนวตะเข็บ หากภาครัฐช่วยดูแลรักษาเองค่อนข้างลำบาก เพราะมีขนาดพื้นที่ 1,300 กว่าไร่ รวมระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร จึงหารือกับชุมชนว่าในกรณีที่จะทำป่าเศรษฐกิจ เช่น การปลูกกาแฟในพื้นที่ได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้เรามีผลิตภัณฑ์จากกาแฟด้วยแบรนด์ของชุมชนเองแล้ว นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพร, ไผ่ แต่ตอนนี้หลัก ๆ คือเริ่มที่กาแฟอย่างจริงจังก่อน เนื่องจากสามารถให้ผลผลิตที่ยาวนานและต่อเนื่อง”

ส่วนพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ขณะนี้กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้คือ อโวคาโด้, ผักสลัด, ถั่วแระ และถั่วแขก เป็นต้น โดย “ธงชัย” ยังระบุอีกว่า หน้าที่หลักของศูนย์ขณะนี้คือเข้ามาช่วยดูแลว่าเกษตรกรทำถูกต้องหรือไม่

เมื่อวิเคราะห์ต้นทุนการปลูกแล้วพบว่า “สูงมาก” จากสารเคมี, ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ เราจะเข้ามาช่วย โดยเฉพาะ “การจูนคุุณภาพดิน” เข้าไปหาพืช ซึ่งหากประเมินจากเกษตรอินทรีย์แทบจะไม่ต้องใช้สารเคมีเลย นั่นหมายถึงว่าเกษตรกรจะลดต้นทุนได้อีกมาก ขณะเดียวกันยังสามารถแข่งขันในตลาดได้อีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าการปลูกสตรอว์เบอรี่ในพื้นที่ค่อย ๆ หายไปรวมถึงหอมหัวใหญ่ ทั้งที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากโบรกเกอร์ที่มีราคาแพง ฉะนั้น มองว่าจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสตรอว์เบอรี่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องโควตาเมล็ดพันธุ์”

รัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด
รัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด

“รัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด” ประธานนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่า และกรรมการบริหาร บริษัท เอฟแอลอาร์ 39 วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ระบุว่า ในปีนี้เข้ามาร่วมงานกับศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว ให้เปลี่ยนมาเป็นการเกษตรที่น้อมนำเอาศาสตร์พระราชา และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เข้ามาบริหารจัดการ และมีวิสาหกิจชุมชนเข้ามาช่วยรับบริหารจัดการรับซื้อผลผลิต

“หลักการคือ local food ทำในฐานะที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้โจทย์ที่ว่าจะไม่ขายตรงแบบสุดเส้น แต่เน้นไปที่ความร่วมมือกันในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอแม่ริม ที่หารือกันว่าเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ จำนวนมาก รวมถึงหากขยายพื้นที่ ผู้ประกอบการในพื้นที่เชียงใหม่ต่างมีความร่วมมือกันอยู่แล้ว เพราะเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์รวมของผลผลิตแปรรูปทางการเกษตรกว่า 2,000 โรงงาน และยังมีห้างร้าน ห้างสรรพสินค้าอีกจำนวนมาก”

“โดยหลักการกระจายสินค้าที่ว่าคือมีศูนย์กระจายสินค้า รวมไปจนถึงห้องเย็น เพื่อรองรับการกระจายสินค้าในระบบ รองรับเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และเรามีพาร์ตเนอร์ให้ครบทุกมิติ แม้กระทั่งโรงงานแปรรูป ในทุกพื้นที่จะมีการหารือเรื่องต้นทุนการผลิต คุณภาพการจัดการต่าง ๆ นอกจากนี้ การจำหน่ายสินค้าจะมีทั้งการขายoffline และ online รวมถึงในเร็ว ๆ นี้จะเริ่มนำplatform ใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อรองรับเกษตรกรขายออนไลน์ การซื้อขายสินค้าล่วงหน้า และให้ความสำคัญกับระบบตรวจสอบย้อนกลับ 100%ของเกษตรกรที่มีอยู่ และในขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ อย่างเช่น แม็คโคร, บิ๊กซีที่ยินดีเปิดหลังบ้านเพื่อรับสินค้าเข้ามาจำหน่ายด้วย”

“จุดเด่นที่นี่คือพืชผักเมืองหนาว และพืชสมุนไพร แต่ทั้งนี้ ต้องประกอบด้วยทักษะของเกษตรกรเองด้วย เนื่องจากเกษตรกรยึดติดกับการปลูกพืชผักเชิงเดี่ยวมานานฉะนั้น การเป็นโครงสร้างการผลิตจึงมีความจำเป็นต้องใช้เวลา ประเด็นนี้ถือว่าเป็นปัญหาหลักมากกว่า ดังนั้น platform ของเราจะทำให้เห็นภาพของเกษตรภาพรวมทั้งหมด รวมไปจนถึงแผนการผลิตของทุกที่ในเครือข่ายทั้งหมด ปัจจุบันมีฐานข้อมูลการผลิตเป็นรายปี การซื้อขายออนไลน์ปกติ รวมถึงผู้ประกอบการที่เข้ามาซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการซื้อขายล่วงหน้า และหลังจากนี้อีก 2 เดือน เราจะโชว์ data ที่มีอยู่ รวมถึงที่นี่ด้วย”

แต่สิ่งสำคัญที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา และภาคเอกชนอยากเห็นเป็นภาพเดียวกัน คือ เกษตรกรเข้มแข็งด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม มีการนำเสนอแผนดำเนินการของแต่ละกลุ่ม พร้อมกับภาพของการชวนชาวบ้านคิดต่อว่าจะขยายตลาดอย่างไรต่อเพื่อความยั่งยืนของรายได้เกษตรกรในอนาคต