คำถาม กับการลาออก (จบ)

หนังสือลาออก
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์
ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

ในตอนที่แล้ว ผมนำคำถามและคำตอบที่มักจะมีคนสงสัยเรื่องของ การลาออก(1) โดยเล่าให้ท่านฟังไปแล้วประมาณ 8 ข้อ ในตอนนี้ผมขอนำข้อที่เหลืออีกประมาณ 12 ข้อมาเล่าให้ท่านฟังกันต่อไปเลย ตามนี้นะครับ

Q : ถ้าเขียนใบลาออกไปแล้วยื่นให้กับหัวหน้า แล้วจะเปลี่ยนใจไม่ลาออกควรทำยังไง

ก่อนจะยื่นใบลาออกให้หัวหน้าขอให้คิดให้ดี ๆ เพราะถ้ายื่นใบลาออกไปแล้ว การลาออกก็จะมีผลลาออกตามวันที่ระบุเอาไว้ในใบลาออก ถ้าหากจะไปเปลี่ยนใจทีหลังว่าจะไม่ลาออกก็ต้องไปพูดคุยกับหัวหน้า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทางบริษัทแล้วล่ะครับว่าเขาจะว่ายังไง ถ้าเขายังอยากให้เราทำงานต่อไป เขาก็ควรจะต้องคืนใบลาออกกลับมาให้เรา แล้วเราก็อาจจะขอให้เขาฉีกทิ้ง (หรือเราจะขอฉีกใบลาออกทิ้งเองก็ได้) ให้เห็นกันตรงนั้นไปเลย แต่ถ้าเขาไม่อยากให้เราทำงานต่อไป ใบลาออกก็จะมีผลตามวันที่เราระบุเอาไว้แหละครับ ผมถึงบอกว่าก่อนยื่นใบลาออกคิดให้ดี ๆ เพราะถ้ายื่นไปแล้วก็จะอยู่ที่การตัดสินใจของบริษัทแล้วครับ

Q : บริษัทจะออกระเบียบห้ามพนักงานลาพักร้อนเมื่อยื่นใบลาออกได้หรือไม่ หรือถ้าพนักงานยื่นใบลาออก บริษัทจะถือว่าพนักงานสละสิทธิการลาพักร้อนได้หรือไม่

แบ่งสิทธิเป็น 2 ส่วน คือ

1.สิทธิพักร้อนสะสม ถ้าพนักงานมีวันลาพักร้อนสะสมอยู่เท่าไหร่ก็สามารถยื่นใบลาออก พร้อมทั้งยื่นขอลาพักร้อนสะสมตามสิทธิที่มีอยู่ได้ ถ้าบริษัทไม่อนุมัติให้ใช้สิทธิพักร้อนสะสม บริษัทก็ต้องจ่ายคืนกลับมาเป็นเงินตามจำนวนวันลาพักร้อนสะสมที่พนักงานมีสิทธิอยู่

2.สิทธิพักร้อนตามส่วนในปีที่ลาออก ในส่วนนี้พนักงานไม่มีสิทธิครับพูดง่าย ๆ ว่าถ้าพนักงานยื่นใบลาออกในปีใด สิทธิในการลาพักร้อนตามส่วน (หรือ prorate) ในปีที่ลาออกนั้นจะถูกยกเลิกทันที เพราะมาตรา 67 ของกฎหมายแรงงานวรรคแรกไม่ได้พูดถึงการให้สิทธิลูกจ้างตามส่วนในปีที่ลาออกเอาไว้ครับ ดังนั้น บริษัทไม่อนุมัติให้ลาพักร้อนตามส่วน(prorate) ในปีที่พนักงานลาออกได้ และไม่ต้องจ่ายค่าพักร้อนตามส่วนในปีที่พนักงานลาออกอีกด้วยนะครับ

Q : ถ้าพนักงานยื่นใบลาออกแล้ว แต่ยังไม่ถึงกำหนดลาออก บริษัทสามารถเลิกจ้างพนักงานหากทำความผิดร้ายแรงได้หรือไม่

บริษัทยังสามารถเลิกจ้างพนักงานหากทำความผิดร้ายแรงได้ครับเช่น พนักงานยื่นใบลาออกแล้ว แต่ก่อนถึงวันที่มีผลลาออกพนักงานไปทำความผิดร้ายแรง เช่น ขโมยทรัพย์สินของบริษัท, ละทิ้งหน้าที่3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น แต่ถ้าบริษัทจะเลิกจ้างพนักงานในกรณีที่ไม่เข้าข่ายความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 ของกฎหมายแรงงาน บริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายครับ

Q : เมื่อยื่นใบลาออกแล้ว ถ้าหากพนักงานกระทำความผิด บริษัทยังมีสิทธิออกหนังสือตักเตือนพนักงานได้หรือไม่

ได้ครับ เพราะการยื่นใบลาออกไม่ได้เป็นใบอนุญาตให้พนักงานทำความผิดอะไรก็ได้นี่ครับ

Q : บริษัทบอกให้เราเขียนใบลาออกจากบริษัทปัจจุบันเพื่อไปทำงานกับบริษัทแห่งใหม่โดยไม่นับอายุงานต่อเนื่อง ควรทำยังไง และผลจะเป็นยังไง

ถ้าเราเขียนใบลาออกยื่นให้บริษัทปัจจุบันก็เท่ากับเราพ้นสภาพพนักงานไปตามที่ระบุเอาไว้ โดยบริษัทปัจจุบันก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่าพนักงานประสงค์จะลาออกเอง ดังนั้น การไปทำงานในบริษัทแห่งใหม่ก็ต้องนับอายุงานใหม่ครับ

ในกรณีนี้พนักงานควรจะตกลงกับบริษัทปัจจุบันว่า ในการไปเริ่มงานในบริษัทแห่งใหม่ขอให้นับอายุงานต่อเนื่อง และได้รับสิทธิประโยชน์สวัสดิการรวมถึงค่าจ้างต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่าที่ได้รับในปัจจุบัน แล้วควรเซ็นสัญญาจ้างกับบริษัทใหม่ให้เรียบร้อยเสียก่อน (โดยดูเงื่อนไขและสภาพการจ้างให้เป็นไปตามที่ตกลงกันให้ดี ๆ นะครับ) จากนั้นจึงค่อยยื่นใบลาออกจากบริษัทปัจจุบันถ้าไม่อย่างนั้นก็คงต้องให้บริษัทปัจจุบันเลิกจ้างเรา พร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ถ้าบริษัทยังยืนยันว่าจะให้เราออกจากบริษัทปัจจุบัน) ครับ

Q : เมื่อยื่นใบลาออกให้หัวหน้าไปแล้ว แต่หัวหน้าอ้างว่ายังไม่ได้รับใบลาออก และขู่ว่าถ้าไม่มาทำงานจะโดนเลิกจ้าง เนื่องจากขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ควรทำยังไงดี

ถ้าเจอหัวหน้าเจ้าเล่ห์แบบนี้ ก่อนจะยื่นใบลาออกก็ควรไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ให้เขารู้ว่าเรากำลังจะไปยื่นใบลาออก และให้เขาดูใบลาออกที่เราทำเอาไว้เพื่อให้เขาเป็นพยานแล้วเราก็ควรจะมีสำเนาใบลาออกเอาไว้ แล้วให้หัวหน้าเซ็นรับไว้ในสำเนาด้วย (หัวหน้าอาจจะไม่เซ็นรับก็ได้ แต่เขาก็จะรู้ว่าเรามีสำเนาเอาไว้นะครับ) ถ้าทำอย่างนี้แล้ว เราก็มีพยานบุคคลและพยานหลักฐานครบแล้วล่ะครับเรื่องทำนองนี้มีบ้าง แต่ไม่บ่อยนักหรอกครับ

Q : ควรยื่นใบลาออกก่อนไปเซ็นสัญญาจ้างกับบริษัทใหม่ หรือควรไปเซ็นสัญญาจ้างกับบริษัทใหม่ก่อนยื่นใบลาออกดี

ควรไปเซ็นสัญญาจ้างกับที่ใหม่ให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วค่อยมายื่นใบลาออก เพราะถ้ายื่นใบลาออกก่อนแล้วพอไปที่ใหม่ เขาอ้างเหตุสารพัดที่ยังไม่รับเราเข้าทำงานล่ะก็ ลองนึกภาพต่อจากนั้นเอาเองนะครับว่าเราจะเป็นยังไง

Q : กรณีบริษัททำสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลา เมื่อครบกำหนดตามสัญญา พนักงานจะต้องเขียนใบลาออกยื่นให้กับทางบริษัทหรือไม่

กรณีเป็นสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลาโดยมีวันเริ่มต้น และวันสิ้นสุดของสัญญาจ้างนั้น เมื่อถึงวันที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง พนักงานไม่ต้องยื่นใบลาออก (และบริษัทก็ไม่ต้องแจ้งเลิกจ้าง) ให้ถือว่าสภาพการจ้างจบสิ้นไปโดยสัญญาจ้างนั้นไปเลย โดยบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน แต่ทั้งนี้ ต้องไม่มีการจ้างพนักงานคนนั้นอีกต่อไปนะครับ

Q : จากข้อ 16 แล้วถ้ามีจ้างต่อโดยบริษัทระบุเอาไว้ในสัญญาจ้างว่า “ถ้าพนักงานผลงานดี บริษัทจะต่อสัญญาไปอีก แต่ถ้าพนักงานผลงานไม่ดี บริษัทจะบอกเลิกสัญญาและไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น” ได้หรือไม่

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ถือว่าสัญญาจ้างแบบนี้เป็นสัญญาจ้างแบบ “ไม่มีระยะเวลา” ซึ่งก็คือสัญญาจ้างพนักงานประจำนั่นเอง ถ้าพนักงานอยากจะลาออกก็ต้องยื่นใบลาออก (ถ้าพนักงานยื่นใบลาออกก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ) และถ้าหากบริษัทอยากจะเลิกจ้างพนักงาน แต่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 ของกฎหมายแรงงานแล้ว บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน(ตามมาตรา 118) ให้กับพนักงานครับ

Q : เมื่อส่งใบลาออกไปแล้ว บริษัทต้องการให้เปลี่ยนวันที่ลาออกใหม่ ควรทำอย่างไร

ถ้าพูดคุยกันแล้วเห็นชอบตรงกันว่าจะเปลี่ยนวันที่ลาออกใหม่ (เช่นเลื่อนวันลาออกให้เร็วขึ้น หรือเลื่อนวันลาออกให้ขยับออกไปจากเดิม) ก็ให้ทำได้ โดย 1.พนักงานทำใบลาออกใบใหม่มายื่นให้หัวหน้า หรือ 2.ใช้ใบลาออกใบเดิมนำมาขีดฆ่าวันที่ลาออกเดิม แล้วเขียนวันที่ลาออกใหม่ลงไปแทน (ห้ามใช้ป้ายขาวลบ) แล้วให้พนักงานที่จะลาออกก็เซ็นชื่อกำกับไว้ตรงจุดที่แก้ไขก็ใช้ได้ครับ

Q : แล้วถ้าพนักงานยังยืนยันไม่เปลี่ยนกำหนดวันที่จะลาออกในใบลาออกล่ะ

วันที่มีผลลาออกก็ยังคงเป็นไปตามเดิมที่ระบุเอาไว้ในใบลาออกครับ ซึ่งบริษัทก็ยังต้องจ่ายค่าจ้างจนถึงวันสุดท้ายที่พนักงานมาทำงานครับ

Q : ถ้าพนักงานระบุวันลาออกไว้

ในใบลาออกแล้ว เมื่อถึงวันที่ระบุไว้ก็ยังมาทำงานต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นก็แสดงว่าทั้งบริษัทและตัวพนักงานไม่ติดใจยึดใบลาออกเป็นสำคัญอีกต่อไป ใบลาออกนั้นถือว่าเป็นโมฆะครับ พนักงานก็ยังคงสถานะเป็นพนักงานต่อไป หลังจากนั้น ถ้าหากบริษัทต้องการจะให้พนักงานพ้นสภาพออกจากบริษัท แต่พนักงานไม่ยอมเขียนใบลาออก บริษัทก็ต้องแจ้งเลิกจ้าง ซึ่งถ้าพนักงานไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานตามมาตรา 118 ด้วยครับ

เอาล่ะนะครับ

ผมเล่าเรื่องเกี่ยวกับการลาออกมาให้ฟังจนถึงขนาดนี้ก็เรียกได้ว่าครบทุกซอกทุกมุมแล้ว และหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งคนที่เป็นฝ่ายบริหารและพนักงานจะได้เข้าใจในเรื่องการลาออกที่ตรงกัน ลดปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันได้ และมีการปฏิบัติในเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องกันทั้งสองฝ่ายแล้วนะครับ