มูลนิธิปิดทองฯ ร่วมกับ 5 หน่วยงานรัฐ น้อมนำพระราชดำริสู้ภัยโควิด

วันที่ 12 ตุลาคม 2563 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ชวนคนไทยร่วมน้อมรำลึกถึง ในหลวง รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตวันที่ 13 ตุลาคม ในงาน “ไม่ท้อ ไม่ถอย – พระราชดำริค้ำจุนสังคม” ซึ่งเป็นงานสัมนาสรุปผลและประสบการณ์จริงจากการนำแนวพระราชดำริไปพัฒนาสังคม ของ 6 หน่วยงานสำคัญของไทย ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

โดยทั้ง 6 หน่วยงาน ได้สร้างระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนให้แก่ภาคชนบท ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่านโครงการและกิจกรรมที่มุ่ง “สืบสาน รักษา ต่อยอด” จนเกิดผลเป็นที่ประจักษ์

ไทยต้องดีว่าเดิม ไม่ใช่กลับไปเหมือนเดิม

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า การรวมตัวกันของ 6 หน่วยงานครั้งนี้ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการสืบสานแนวพระราชดำริให้ประเทศผ่านความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน

ในช่วง 2 ปีมานี้ ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามการค้า ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเทคโนโลยีดิสรับชั่นที่เข้ามาทดแทนแรงงานคนอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะกระทบกับแรงงานไทยไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคน ทำให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว จะยิ่งลำบากกว่าเดิม ถ้าไม่สามารถปรับตัวรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล

“เรามักพบเสมอว่า ประชาชนในชนบทลำบากยากแค้น รอความช่วยเหลือ ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง จึงละทิ้งชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง แต่ขณะนี้โอกาสของการทำงานในเมืองลดลง สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้พวกเราเห็นชัดว่า จะต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยของเราผ่านวิกฤตโควิด-19 และเทคโนโลยีดิสรับชั่นไปได้ เพื่อให้ประเทศไทยดีว่าเดิม ไม่ใช่แค่กลับไปเหมือนเดิม”

จากซ้ายไปขวา ผู้ดำเนินรายการ, นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ และนายฉัตรชัย พรหมเลิศ

ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่า 2.68 ล้านไร่

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการรับสนองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในการดูแลรักษาระบบนิเวศ ดิน น้ำ ป่า รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จึงได้กำหนดแผนการดำเนินงานเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 2.68 ล้านไร่ ในปี 2563-2570 โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ

“ระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 7,100 ไร่ ระยะที่ 2 ปี 2563-2665 จะฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่ารวม 7.9 แสนไร่ ระยะที่ 3 ปี 2565-2570 กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน 11,327 แห่ง ๆ ละ 50 ไร่ เพิ่มความสมบูรณ์ของป่าชายเลน 1.53 แสนไร่ ป่าพรุ 20,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ จังหวัดละ 500 ไร่”

ภาคเกษตรช่วยไทยสู้โควิด-19

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้ภาคเกษตรเป็นหลักในการช่วยขับเคลื่อนประเทศสู้วิกฤตโควิด-19 เพราะภาคอื่น ๆ กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก

“ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในการทำการเกษตร เพราะมีสภาพอากาศร้อนชื้น และมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการเกษตรที่มีคุณค่า แต่จุดอ่อนคือ พื้นที่ราบ 80% อยู่นอกเขตชลประทาน และเกษตรกรมีสถานะทางสังคมที่ยากจน รายได้น้อย ขาดความเข้มแข็ง รวมถึงขาดกำลังในการลงทุนด้านเทคโนโลยีการเกษตร”

สิ่งสำคัญที่เราอยากให้เกิดในภาคเกษตรกรรมคือ การทำให้เกษตรกรมีความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพ และไม่ถูกมองว่า เป็นอาชีพที่รอความช่วยเหลือ

ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ มีการดำเนินงานโดยยึดใช้แนวพระราชดำริในการส่งเสริมการพัฒนาคนและทรัพยากรเพื่อการเกษตร มีประชาชนเข้าร่วมและรับประโยชน์ทางตรงไม่น้อยกว่า 2.57 ล้านคน มีการจัดตั้งและบริหารกลุ่มผู้ใช้น้ำ 54,364 กลุ่ม และจัดแบ่งตัวชี้วัดออกเป็น

หนึ่ง การดำเนินงานด้านน้ำ ได้แก่ ฝนหลวง 230 ล้านไร่ และพัฒนาต้นทุนน้ำและน้ำชุมชน 6.62 ล้านไร่ สอง การด้านการเกษตรและพัฒนาดิน ได้แก่ ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก 1.04 ล้านไร่, การปรับปรุงดิน 1.9 ล้านไร่ และการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 3.23 ล้านไร่

ร่วมสร้างอุดมการณ์ชาติ

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้คือ การช่วยกันสร้างการรับรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง การร่วมกันสร้างอุดมการณ์ของชาติ และที่สำคัญที่สุดคือ การเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ

“โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศโดยใช้แนวพระราชดำริในการบริหารราชการ ทั้งในโครงการตามภารกิจของหน่วยงานและโครงการในระดับพื้นที่ เช่น ในระหว่างปี 2561-2562 ได้ดำเนินโครงการแก้ปัญหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและโครงการส่งเสริมอาชีพและรายได้ทำให้ประชาชนที่ได้รับความยากลำบากได้ประโยชน์ 76,113 คน ทั้งยังจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 878 อำเภอทั่วประเทศ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง 24 จังหวัด ครอบคลุมเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ อาชีพ และคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี และคนชรา”

ทั้งยังมีโครงการหมู่บ้านและชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ดำเนินงานทั่วประเทศ ผลการพัฒนาระหว่าง 2552-2563 ครอบคลุม 27,275 หมู่บ้าน พบว่าประชาชนผ่านเกณฑ์พออยู่พอกิน อยู่ดีกินดี และมั่งมี ศรีสุข รวมกันเป็นจำนวน 18,495 หมู่บ้าน

จากซ้ายไปขวา ผู้ดำเนินรายการ, นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ และนายดนุชา สินธวานนท์

เศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีการดำเนินงานโครงการเศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเสริมความสามารถให้ประชาชนพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถเป็นผู้นำช่วยงานไปยังชุมชนอื่น ๆ ในอนาคต โดยมีการดำเนินงานในทุกจังหวัดเป็นต้นแบบเพื่อการขยายผลครอบคลุมพระราชดำริด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม และมีกลุ่มเป้าหมายทั้งประชาชนในชนบท นักเรียนนักศึกษา และผู้นำชุมชน

“ในปี 2562 ยังดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในด้านการส่งเสริมอาชีพเกษตร การบริหารจัดการน้ำ โดยมีผู้รับประโยชน์ 1,762 คน ได้รับการอบรม 7,600 คน และสนับสนุนการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใน 1,201 โรงเรียน”

แนวพระราชดำริ ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร

นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริรวม 4,877 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนาทุกด้านที่สำคัญคือ การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง และศูนย์สาขาฯ 19 แห่ง ทำให้เกิดงานศึกษา ทดลอง วิจัย รวม 1,323 เรื่อง มีการขยายผลสู่หมู่บ้านรอบศูนย์ 148 หมู่บ้าน เกษตรกรรับประโยชน์ 31,786 ครัวเรือน 104,368 คน มีการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ให้กับผู้สนใจรวม 12,250 คน และมีผู้เข้าศึกษาดูงานเพื่อรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ เฉพาะในปี 2563 รวม 629,097 คน

“งานขยายผลของศูนย์ศึกษาฯทั้ง 6 แห่ง ช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับเกษตรกรที่สามารถนำมาประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยผลสำรวจพบว่า เกษตรกรร้อยละ 43.3 มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก เกษตรกรร้อยละ 50.5 มีความเป็นอยู่ดีขึ้นพอสมควร รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีเป็นเงิน 216,821.98 บาท รายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีเป็นเงิน 146,306.98 บาท ส่วนใหญ่มีรายได้พอเพียงกับรายจ่ายคิดเป็นร้อยละ 37.80 มีการออมเงินในครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 72.30”

เลขาธิการ กปร. กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำชุมชนได้ 275,714 ไร่ จากการร่วมกับชุมชนและราชการ พัฒนาแหล่งน้ำและสร้างฝาย 6,259 แห่ง ผู้ได้รับประโยชน์ในพื้นที่ต้นแบบและพื้นที่ขยายผล 80,247 ครัวเรือน เกิดพื้นที่ป่าและป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นรวม 106,580 ไร่ ในจังหวัดน่าน การพัฒนาอาชีพทางเลือก ทำให้เกิดกลุ่มกองทุนที่บริหารจัดการโดยชุมชน 67 กลุ่ม มีสมาชิก 2,152 ครัวเรือน มีเงินในกองทุนหมุนเวียน 12 ล้านบาท

ที่สำคัญ การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ยังช่วยให้รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 109 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 2,676 ล้านบาทในปี 2562 และรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ สูงกว่าครัวเรือนในพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ คือ 124,890 บาท (คิดเป็นร้อยละ 62) และผ่านพ้นเส้นความยากจนแล้วร้อยละ 74


องค์กรต่าง ๆ ที่มาร่วมในวันนี้ ล้วนมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงเป็นการทำงานสนองแนวพระราชดำริเท่านั้น แต่หมายถึงการช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถยืนบนขาของตัวเอง มีอิสระภาพในชีวิต และเป็นรากฐานให้แก่การพัฒนาประชาธิปไตยได้โดยแท้จริง