รัฐสภาสานต่อ happy workplace ปี 64 รับมือเบบีบูมเมอร์ส่งไม้ต่อคนรุ่นใหม่

บุคคลในภาพจากซ้าย คนแรก นางสาวชัชณารัช จันทนะ คนที่ 4 นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ และคนที่ 5 ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน

รัฐสภา ผนึก สสส. และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ สร้าง Happy Work Place ให้เจ้าหน้าที่กว่า 2 พันคน พร้อมเดินหน้าต่อเฟส 3 รับมือคนทำงานรุ่นเบบีบูมเมอร์ หายหมดในปี 2565

รัฐสภา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบการสร้างเสริมและพัฒนาบุคลากร ล่าสุดจัดกิจกรรม ถอดบทเรียนสร้างสุขคนรัฐภา (คนต้นแบบ) โครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ : การเสริมสุขภาพบุคลากรในวงงานรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ทั้งนี้ ภายในงานมีเสวนาเชิงวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาองค์กรสุขภาวะของรัฐสภา” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการ

รัฐสภาพร้อมสานต่อโครงการปี 64

นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยนโยบายโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ : การสร้างเสริมสุขภาพบุคลากรในวงงานรัฐสภาในปี 2564 ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภาพบว่า ปัจจุบันโครงการมีการพัฒนาไปอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากร มีความสนใจดูแลสุขภาพจำนวนมากขึ้น

“หากรัฐสภาได้รับงบประมาณดำเนินโครงการฯจาก สสส. ต่อเนื่องในปี 2564 คาดว่าจะสามารถพัฒนาและสานต่อโครงการฯไปยังกลุ่มเป้าหมายในลักษณะเดียวกันกับที่ดำเนินการมาก่อนหน้า เพื่อให้เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนบุคลากรต่อไป ขณะที่แผนงานในปี 2564 จะนำบุคคลต้นแบบที่ผ่านการกลั่นกรองแล้วมาถ่ายทอดต่อหลักคิดและองค์ความรู้ในเชิงรูปธรรม จากการพัฒนาตนเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งในอนาคตยังมีความเป็นได้ที่รัฐสภา พร้อมนำแนวทางการการสร้างสุของค์กรภายใต้หลักค่านิยมองค์กร มาปรับใช้พร้อมกันด้วย”

เชื่อมต่อคนต่างเจนในองค์กร

ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิตการทำงาน (quality of work life) เพื่อพัฒนาองค์กรแห่งความสุข

“หากมองในเรื่องการบริหารจัดการบุคลากรสายงานราชการในปัจจุบัน เห็นได้ว่ามีการพัฒนาไปในแนวทางการดูแลคุณภาพชีวิตได้มากขึ้น ตั้งแต่การสรรหาคนจนถึงรักษาไว้ในองค์กร ในลักษณะที่เริ่มจากการทำให้บุคลากรได้รับความรู้สึกว่าตนมีคุณค่า และงานที่ทำมีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเมื่อเข้าสู่กระบวนการเข้ามาทำงานแล้ว ต้องมีการตั้งเป้าหมาย เพื่อสร้างผลิตภาพ ซึ่งในส่วนของงานรัฐสภา ต้องวัดความพึงพอใจจากผู้รับบริการ ซึ่งหมายถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา”

ขณะที่องค์กรแห่งความสุขในภาคปฏิบัติจะต้องเน้นในเรื่องกระบวนการ ซึ่งภาครัฐควรให้ความสนใจในโครงสร้างการดำเนินงาน รวมทั้งการสร้างวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรให้เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้แกนนำ หรือนักสร้างสุของค์กร (นสอ.) จะเป็นตัวขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุขในภาคปฏิบัติที่ค่อนข้างดี แต่การเลือกใช้กิจกรรมอาจจะต้องนำมาประเมินว่าสอดคล้องกับสุขภาวะด้านใดของบุคลากร

สุดท้ายการจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ความยากง่ายต่อการนำไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วยตัวข้าราชการเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างวินัยส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ เพื่อมุ่งไปสู่ผลลัพธ์ที่ได้จากสิ่งที่ลงมือปฏิบัติ

ดร.ศิริเชษฐ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาของส่วนงานภาครัฐคือ เมื่อบุคลากรทำงานไประยะหนึ่ง มักเจอกับงานด่วน งานเร่ง ซึ่งจุดนี้ต้องมาทบทวนว่าจะแก้ไขได้อย่างไร อาจด้วยการจัดการ work life balance บนแนวคิดที่มีความยืดหยุ่น คำนึงถึงสุขภาพกายและใจของผู้ทำงาน รวมถึงความเครียดทั้งเรื่องงานและส่วนตัว โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างคนต่างเจนเนอเรชัน

“การทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่ที่กำลังเข้าสู่ระบบราชการที่มีเงื่อนไขชีวิตต่างจากคนรุ่นก่อน กับคนรุ่นเบบีบูมเมอร์ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหาร ที่จะเริ่มทยอยเกษียณอายุการทำงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นประเด็นที่จะเป็นโจทย์การดำเนินงานในเฟสสาม”

สร้างสุข แรงงงาน 11.4 ล้านราย

นางสาวชัชณารัช จันทนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำงานของ สสส. ด้านองค์กรสุขภาวะ ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง 13 ปี ภายใต้กรอบการทำงาน 8 ประการ (Happy 8)

โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก คือการเริ่มสร้างองค์ความรู้และเครื่องมือ จากนั้นหาภาคีขยายเครือข่าย ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ช่วงหลัง เป็นการขยายผลเพื่อสร้างความยั่งยืน ด้วยการนำเข้าไปสู่กลไกในองค์กร เพื่อเน้นย้ำการดูแลสุขภาวะองค์กรมากขึ้น

นอกจากนี้ สสส.วางแผนจะใช้ภาคีทั้งกลุ่มเอกชนและภาคสาธารณะ อาทิ บุคลากรภายในแต่ละภาคส่วน เข้ามามาร่วมขับเคลื่อนการทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาวะองค์กรของแรงงาน 11.4 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขจากสำนักงานประกันสังคม ของแรงงานมาตรา 33 ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ให้เป็นรูปธรรมด้วย โดยเน้นการทำงาน 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1 การรวบรวมความรู้ ที่จพดำเนินการในปี 2564 ด้านที่ 2 การเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น และด้านที่ 3 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในองค์กร ทั้งด้านสุขภาพกายและใจ เพื่อสร้างความยั่งยืนสุขภาวะองค์กร