วิถีเกษตรสุรินทร์ 4.0 “เซ็นทรัล” แก้ภัยแล้งช่วยเกษตรกร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังมีขนาดพื้นที่กว้างขวางคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ เนื่องจากพื้นที่เกินครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่การเกษตร เทียบเป็นสัดส่วนประมาณ 43% ของพื้นที่การเกษตรทั่วทั้งประเทศ ทว่ากลับมีปัญหาการทำการเกษตร เนื่องจากภัยแล้ง และจากที่เคยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันภูมิอากาศปรวนแปร ทำให้ฤดูกาลเปลี่ยน ปริมาณน้ำฝนไม่แน่นอน และกระจายไม่ทั่วถึง จึงทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ จนขาดรายได้

กลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะภาคธุรกิจที่มีความเข้มแข็งเรื่องช่องทางจำหน่ายสินค้า ที่รวมถึงสินค้าการเกษตร ต้องการช่วยส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยเล็งเห็นว่าต้องแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำเป็นเรื่องจำเป็นในระดับต้น ๆ จึงร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ดำเนินโครงการ “สระน้ำไร่นาประชารัฐสามัคคี เกษตรอินทรีย์ วิถีสุรินทร์ 4.0” หรือ โคก หนอง นา โมเดล นำร่องแก้ภัยแล้งในจังหวัดสุรินทร์ ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ที่นอกจากจะช่วยบรรเทาภัยแล้ง ยังเป็นภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม จากผลกระทบของโรคโควิด-19 ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงมหาดไทย

“พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กรอบแนวคิดในการดำเนินงานแก้ปัญหาภัยแล้ง คือ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเป็นการน้อมนำหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เรื่องการจัดการน้ำแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

พิชัย จิราธิวัฒน์
พิชัย จิราธิวัฒน์

“โดยมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 คือ พื้นที่สำหรับแหล่งน้ำ 30% พื้นที่ดินเพื่อทำนาปลูกข้าว 30% พื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชผัก สมุนไพร ไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง 30% และพื้นที่ดินสำหรับสร้างที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์10% โดยกลุ่มเซ็นทรัลสนับสนุนงบประมาณแก่ทางจังหวัดสุรินทร์ ในการขุดสระน้ำเพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่เป้าหมายเบื้องต้นจำนวน 15 สระ แก่เกษตรกรในตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งขณะนี้ขุดสระเสร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน 4 สระ”

“นอกจากนั้น ยังช่วยวางแผนการผลิตร่วมกันกับกลุ่มเกษตรกรของสหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิท จำกัด ในจังหวัดสุรินทร์ มีสมาชิก96 ครัวเรือน แบ่งเป็น 6 กลุ่ม พื้นที่ในการปลูก 60 ไร่ และได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย (Organic Thailand) โดยทางกลุ่มมีการวางแผนการผลิตพืชผักร่วมกับทีมท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้ผลผลิตตรงกับความต้องการของตลาด มีปริมาณหมุนเวียนตลอดทั้งปีทั้งยังสนับสนุนเกษตรกรนำผลผลิตไปจำหน่ายผ่านรูปแบบโมเดิร์นเทรด”

“จึงได้เปิดตลาดจริงใจ (Farmers” Market) สาขาที่ 17 ที่จังหวัดสุรินทร์ ในท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาโรบินสันไลฟ์สไตล์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ สุขใจ ภูมิใจ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งหวังให้เป็นตลาดผัก ผลไม้สด และอาหารจากเกษตรกรในท้องถิ่น เพื่อจำหน่ายตรงให้กับคนในจังหวัด ในรูปแบบปลูกโดยคนบ้านเฮา เพื่อคนบ้านเฮา

โดยทำการคัดเลือกสินค้าการเกษตรปลอดสารพิษ เป็นการเกษตรปลอดภัย จาก 12 ชุมชน 25 ตำบล 9 อำเภอ และเมื่อกลุ่มเกษตรกรมีความพร้อมมากขึ้น และมีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด กลุ่มเซ็นทรัลจะนำผลผลิตเข้าไปจำหน่ายในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาอื่น ๆ และธุรกิจในเครือของกลุ่มเซ็นทรัล ในอนาคตจะขยายผลโครงการนี้ไปยังพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย”

“พิชัย” กล่าวด้วยว่า ตลอดเวลาผ่านมาแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลกระทบให้เกษตรกรขาดรายได้ และขาดช่องทางจำหน่ายสินค้า แต่ที่ผ่านมา ตลาดจริงใจยังคงเปิดพื้นที่ให้กับเกษตรกรได้จำหน่ายสินค้าเป็นปกติ พร้อมมาตรการดูแลความปลอดภัย โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ เราเปิดพื้นที่พิเศษช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรมากกว่า 10 ราย นำสินค้ามาจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 ถึงปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ สามารถดูแลครอบครัวได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

“ทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพให้กับเกษตรกรได้เรียนรู้การทำธุรกิจในรูปแบบค้าปลีกสมัยใหม่ ผ่านทีมจัดซื้อท้องถิ่นที่จัดอบรมให้ความรู้แก่ชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยแต่ละจังหวัด ร่วมพัฒนาผลิตผลให้มีคุณภาพ ส่งเสริมให้มีการผลิตพืชผักที่มีมูลค่าและเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งเสริมการปลูกพืชผักอินทรีย์เพื่อผลดีทั้งตัวเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค พร้อมช่วยเหลือการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ พัฒนาทักษะการขายและตลาด เพื่อให้เกษตรกรสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“ไกรสร กองฉลาด” ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวเสริมว่า ความท้าทายของประเทศไทยคือการขาดความสมดุล เนื่องจากเกษตรกรสร้างผลผลิตได้ปีละครั้ง แต่คนในประเทศต้องรับประทานอาหารทุกวัน นอกจากนั้น เขตพื้นที่อีสานตอนล่างประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถผลิตผลผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ

ไกรสร กองฉลาด
ไกรสร กองฉลาด

“การร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัลครั้งนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรในจังหวัดสุรินทร์ให้มีน้ำเพียงพอกับการใช้ในการเกษตร และกลุ่มเซ็นทรัลยังส่งเสริมความรู้ด้านโมเดิร์นเทรดให้กับพวกเขา จะได้ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ผมหวังว่าหากขยายโครงการหลายพื้นที่ในจังหวัดสุรินทร์ จะช่วยขยับ GDP ของจังหวัด จากที่ทรงตัวอยู่ที่ 70% ให้สูงขึ้นได้”

“แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวเพิ่มวิกฤตทางเศรษฐกิจในประเทศให้หนักขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากวิกฤตครั้งนี้คืออาชีพเกษตรกรรมจะไม่สูญหายไปไหนในขณะที่หลายคนที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ตกงานในช่วงนี้ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมลดจำนวนต้นทุนด้านแรงงานเพื่อพยุงให้บริษัทอยู่ได้”

“ไกรสร” อธิบายต่อว่า โครงการสระน้ำไร่นาประชารัฐสามัคคี เกษตรอินทรีย์ วิถีสุรินทร์ 4.0 เป็นการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ เป็นการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในลักษณะประชารัฐสามัคคี ซึ่งได้รับการสนับสนุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาคเอกชนอย่างกลุ่มเซ็นทรัล และภาคประชาชนที่จัดกิจกรรมผ้าป่าสามัคคี น้ำใจน้ำมันปันสุข

“การบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ภายใต้โครงการแบ่งเป็น 6 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 การจัดการน้ำประกอบด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่รองรับน้ำฝน การเก็บกักน้ำในระบบไร่นาการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ปลูกพืชน้ำ และธนาคารน้ำใต้ดิน มิติที่ 2 การจัดการดินประกอบด้วยการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืชการทำคันนาทองคำ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างดินให้พังทลาย การปลูกพืชตระกูลถั่วเพิ่มธาตุอาหารในดิน”

“มิติที่ 3 การจัดการป่า ประกอบด้วยการปลูกพืชปรับปรุงดิน โดยไม้ยืนต้นตระกูลถั่ว ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน ไม้เลื้อย พืชหัว เป็นต้น การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การใช้ประโยชน์จากป่าอย่างถูกวิธี มิติที่ 4 การจัดการพลังงาน ประกอบด้วย การใช้พลังงานทดแทน และพลังงานแสงอาทิตย์ มิติที่ 5 การจัดการเกษตร ประกอบด้วยการเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน การวางแผนการผลิตพืชระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ทำการตลาดที่เป็นธรรม การสร้างแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มิติที่ 6 การจัดการสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยการกำจัดขยะ บำบัดน้ำเสีย การทำปุ๋ยพืชสดจากผักตบชวา มีการหมุนเวียนขยะอินทรีย์กลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น”

ทั้งนี้ เมื่อเกษตรกรที่ได้รับสระน้ำจากโครงการดังกล่าวแล้ว จะต้องพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ หรือแปลงตัวอย่างทางด้านการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรรายอื่น หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ เป็นระยะเวลา 5 ปี


จึงนับเป็นความร่วมมือที่ช่วยสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในชนบทให้ดีขึ้นอย่างมั่นคง และยั่งยืน