รัฐแจกโควตาส่งออกแรงงาน โกยเงิน 1.5 แสนล้านกลับไทย

ก่อสร้าง
(Photo by Romeo GACAD / AFP)

130 บริษัทส้มหล่น กระทรวงแรงงานคลายล็อกส่งออกแรงงานไทยเปิดทางเอกชนมีเอี่ยว เล็งจัดสรรโควตาส่งออกไปประเทศปลายทางที่มีข้อตกลงร่วมแบบรัฐต่อรัฐ กางแผนโรดโชว์ เกาหลี-ญี่ปุ่น-ไต้หวัน-อิสราเอล-ฟินแลนด์ แก้วิกฤตคนตกงาน ดันยอดส่งออกแรงงานเพิ่ม 3 แสนคน/ปี เผย 9 เดือนคนไทยทำงานในต่างประเทศส่งรายได้กลับ 1.5 แสนล้าน

จำนวนคนตกงานยังอยู่ในระดับหลักแสนราย แม้รัฐบาลจะดำเนินหลากหลายมาตรการแก้ปัญหาคนตกงานว่างงานแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่สถานประกอบการยังทยอยปิดกิจการต่อเนื่อง ดันยอดคนตกงานเพิ่มขึ้นอีกระลอก

ตลาดแรงงานในต่างประเทศที่ยังต้องการแรงงานอีกจำนวนมากจึงเป็นอีกเครื่องมือที่กระทรวงแรงงานนำมาใช้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้แรงงานไทยมีงานมีรายได้ บรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า เพราะคาดว่าเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงซบเซาจากพิษโควิด-19 ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

แบ่งโควตาส่งออกให้เอกชน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้หารือและได้รับนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้เร่งแก้ไขปัญหาคนตกงานจากผลกระทบของโควิด-19 ขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางแก้ปัญหา คือ

1) ส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศ ด้วยการจัดสรรโควตาส่งออกแรงงานแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ให้บริษัทจัดหาแรงงานในประเทศสามารถส่งออกแรงงานได้ภายใต้การควบคุมของกระทรวงแรงงาน

2) จัดโรดโชว์ในกลุ่มประเทศเป้าหมาย เช่น เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, อิสราเอล, ฟินแลนด์ รวมถึงตลาดใหม่ที่มีความต้องการแรงงาน มั่นใจว่าทั้ง 2 แนวทางจะช่วยบรรเทาปัญหา และช่วง 3-6 เดือนจากนี้ไป บริษัทเอกชนจะช่วยผลักดันให้ผู้ตกงานได้ทำงานในต่างประเทศมากขึ้น

ตั้งเป้า 3 แสนคน/ปี

ที่ผ่านมาแผนการส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศตั้งเป้าหมายที่ 100,000 รายต่อปี แต่ยังไม่เคยถึงเป้าหมาย ส่วนหนึ่งมาจากกำลังคนของภาครัฐที่ไม่เพียงพอรองรับการขยายตัวของแรงงานที่สนใจไปทำงานในต่างประเทศ นอกจากนี้ ขั้นตอนในส่วนของกระทรวงแรงงาน จากเดิมที่เข้มข้นอยู่แล้ว ต้องปรับให้เข้มข้นขึ้นอีกจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาตรวจสอบมากขึ้นด้วย ดังนั้น หากจัดสรรโควตาให้กับบริษัทจัดหางานที่มีอยู่กว่า 130 บริษัทที่ขึ้นทะเบียน และได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงแรงงานแล้ว น่าจะช่วยผลักดันยอดการส่งออกแรงงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย 100,000 รายต่อปี และต่อไปจะเพิ่มเป็น 300,000 รายต่อปี

130 บริษัทจัดหางานส้มหล่น

นายสุชาติกล่าวว่า ที่ผ่านมาการส่งออกแรงงานไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ เนื่องจากในอดีตเคยมีปัญหาบริษัทจัดหางานบางรายที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทิ้งแรงงานให้กลายเป็นแรงงานเถื่อนในต่างประเทศ กระทรวงแรงงานจึงแก้ไขด้วยการส่งออกแรงงานไทยในรูปแบบความร่วมมือรัฐต่อรัฐ เพื่อรักษาตลาดแรงงานสำคัญ ๆ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนายจ้างในต่างประเทศ อาทิ ประเทศเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ฟินแลนด์ สวีเดน ฯลฯ

ทั้งนี้ จากที่ได้จัดงาน “Job Expo Thailand 2020” ซึ่งกระทรวงแรงงานทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ยื่นใบสมัครงานโดยตรง ช่วงเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่ายังมีคนตกงานในระบบค่อนข้างสูง การส่งออกแรงงานบางส่วนไปทำงานในต่างประเทศจึงน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติจะร่วมหารือกับบริษัทจัดหางานไปต่างประเทศที่มีอยู่กว่า 130 บริษัท ระดมความคิดเห็นให้ได้ข้อสรุป จากนั้นจะเร่งส่งออกแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศโดยเร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากการผลักดันแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้ว จากนี้ไปต้องเตรียมรองรับแรงงานที่จะเริ่มทยอยกลับประเทศในช่วงท้ายปีཻ กว่า 5,000 คนด้วย เบื้องต้นจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับการกักตัว 14 วัน ที่ 30,000 บาทต่อราย โดยนายจ้างจะเป็นผู้รับภาระ

เอกชนหนุนรัฐกระจายโควตา

ด้านนางสาวอรัญญา สกุลโกศล นายกสมาคมการจัดหาแรงงานไทย เปิดเผยว่า เฉพาะบริษัทจัดหางานที่อยู่ภายใต้สมาคมกว่า 80 บริษัท มีความพร้อมทั้้งในแง่ของข้อมูลของตลาดแรงงาน รวมถึงทีมงานที่ช่วยประสานงานในกรณีแรงงานมีปัญหา และมีพันมิตรทางธุรกิจในต่างประเทศอีกด้วย ในขณะที่หน่วยงานรัฐอาจมีแค่เพียงสถานทูตประจำประเทศนั้น ๆ ประสานงาน ก่อนหน้านี้ทางสมาคมได้พยายามเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานจัดสรรโควตาส่งออกแรงงานที่มีข้อตกลงรัฐต่อรัฐ แต่ถูกปฏิเสธ จึงต้องไปเปิดตลาดแรงงานในประเทศอื่น ๆ แทน ทั้งนี้ ล่าสุด (13 ต.ค. 63) มีการจัดส่งแรงงานไทยไปกัมพูชา 200 ราย นั่นหมายถึงว่าบริษัทจัดหางานได้รับการยอมรับจากต่างประเทศยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก

“มีแรงงานไทยจำนวนมากที่อยากไปทำงานต่างประเทศ เพราะให้ค่าตอบแทนสูง อย่างเช่น กรณีแรงงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ตลอด 3 เดือนจะมีรายได้อยู่ที่ 80,000 บาท/เดือน รวมรายได้มากกว่า 250,000 บาท หรือแม้แต่ไปเป็นแรงงานในเกาหลีใต้ ก็มีรายได้อยู่ที่ 50,000 บาทต่อเดือน แรงงานไทยจึงสนใจไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่การส่งออกแรงงานตามขั้นตอนของรัฐค่อนข้างช้า ซึ่งบางประเทศเริ่มเบนเข็มไปหาแรงงานจากเวียดนามทดแทน หากไม่แก้ไขข้อจำกัดนี้ แรงงานไทยจะเสียโอกาสที่จะไปทำงานต่างประเทศได้”

9 เดือนรายได้เข้า 1.5 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลสถิติของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กระทรวงแรงงานระบุว่า ภายหลังจากควบคุมการระบาดของโควิด-19 มีผลสัมฤทธิ์ แรงงานไทยที่ตกค้างในประเทศจะเริ่มเดินทางกลับไปทำงานต่างประเทศแล้ว

โดยเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีแรงงานไทยได้รับอนุญาตเดินทางไปต่างประเทศ 5 วิธี คือ จัดส่งโดยกรมการจัดหางาน, จัดส่งโดยบริษัทจัดหางาน, แรงงานที่แจ้งการเดินทางด้วยตัวเอง, นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน และนายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน รวมทั้งสิ้น 2,114 ราย

รวมแล้วช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2563 มีแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศแบ่งเป็น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 1,333 ราย กลุ่มประเทศแอฟริกา 291 ราย กลุ่มประเทศเอเชีย 11,406 ราย กลุ่มประเทศยุโรป 6,646 ราย กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ 317 ราย และกลุ่มประเทศออสเตรเลียและโอเชียเนีย 270 ราย รวมทั้งสิ้น 14,722 ราย ในจำนวนนี้เดินทางด้วยตัวเอง 4,272 ราย, กรมการจัดหางานส่ง 1,363 ราย, นายจ้างพาไปทำงาน 4,745 ราย, นายจ้างส่งลูกจ้างทำงานหรือฝึกงาน 641 ราย และบริษัทเป็นผู้จัดส่ง 8,746 ราย

สำหรับประมาณรายได้จากคนทำงานในต่างประเทศ และส่งเงินกลับมาภายในประเทศ โดยผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2563 รวม 151,917 ล้านบาท แบ่งเป็น เดือนมกราคม 18,759 ล้านบาท, กุมภาพันธ์ 16,692 ล้านบาท, มีนาคม 17,724 ล้านบาท, เมษายน 15,489 ล้านบาท, พฤษภาคม 15,888 ล้านบาท, มิถุนายน 16,881 ล้านบาท, กรกฎาคม 18,630 ล้านบาท, สิงหาคม 17,170 ล้านบาท และเดือนกันยายน 14,654 ล้านบาท