‘สหประชาชาติ’ กังวลเกี่ยวกับการคุมตัวผู้ชุมนุม และเสรีภาพพื้นฐานในไทย

ราวินา แชมดาซานิ

UN Human Rights กังวลเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางการเมืองในไทย และขอให้รัฐบาลดูแลผู้ถูกจับกุมให้สามารถเข้าถึงทนายความและครอบครัวได้ตลอดเวลา

เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่าสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ ซึ่งมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในกรอบการพัฒนาระดับโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2573

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ตามเวลาที่เมืองเจนีวา “ราวินา แชมดาซานิ” โฆษกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the High Commissioner for Human Rights – OHCHR) แถลงการกล่าวย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับการจับกุมผู้ชุมนุมครั้งใหญ่ในประเทศไทย

“แชมดาซานิ” กล่าวว่า เรามีความกังวลเกี่ยวกับการประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงเทพฯของรัฐบาลไทย อันเป็นผลมาจากการชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ ส่งผลเสียต่อการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่รับรองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นภาคีสมาชิก

นอกจากนั้น ยังกังวลเกี่ยวกับการควบคุมตัวและจับกุมนักเคลื่อนไหวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคน ซึ่งตัวเลขที่เรามีตอนนี้คือ 57 คนถูกจับกุมระหว่างวันที่ 13 ถึง 16 ตุลาคม 2563 โดย 6 คนได้รับการปล่อยตัว และส่วนที่เหลือยังอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้ข้อหาร้ายแรงต่อผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิพื้นฐานของตนอย่างสันติ

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครตกเป็นเป้า ถูกควบคุมตัว หรือถูกตั้งข้อหาร้ายแรงจากการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา บนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างสันติ”

อย่างไรก็ตาม การกระทำใด ๆ ของรัฐบาลต้องมั่นใจว่าเป็นไปตามสิทธิมนุษยชน และมีการคุ้มครองทางตุลาการจัดเตรียมไว้อย่างเป็นระบบสำหรับทุกคนที่ถูกจับกุมตัว รวมถึงให้พวกเขาสามารถเข้าถึงทนายความและครอบครัวได้ตลอดเวลา