แรงงานไทย 4.7 หมื่นรายตกค้าง จี้รัฐเร่งส่งออก ตปท. ก่อนเพื่อนบ้านชิงตลาด

แรงงาน
Photo by VALERIE MACON / AFP

ยอดแรงงานไทยส่งออกตกค้างท่อกว่า 4.7 หมื่นราย จากปัญหา 2 เด้ง ไม่ว่าขั้นตอนเยอะใช้เวลานาน-โควิด-19 และทำต้นทุนเพิ่มจากการกักตัว 14 วัน ก่อนและหลังทำงาน วงการจัดหางานจี้รัฐเร่งส่งออกด่วน แรงงานลดคนว่างงาน

กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงานรายงานตัวเลขการส่งออกแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ภายหลังจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย พบว่าในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา มีแรงงานไทยที่ได้รับการอนุมัติเดินทางไปต่างประเทศ รวมทุกประเทศ และจำแนกตามหมวดสาขาวิชาชีพ ทั้งสิ้น 2,114 ราย จาก 5 วิธีการเดินทางคือจัดส่งออกโดยกรมการจัดหางาน, จัดส่งโดยบริษัทจัดหางานที่มีกว่า 130 บริษัท, แจ้งการเดินทางด้วยตัวเอง, นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน และนายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน

ทั้งนี้ยังมีการสรุปตัวเลขประมาณการจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ โดยคิดจากระยะเวลาสัญญาจ้างแรงงานของคนงานนับจากวันที่เดินทางออกจากไทยไปทำงานใน 112 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 14 ประเทศ อยู่ที่ 21,918 ราย, กลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา และอื่น ๆ ใน 52 ประเทศ อยู่ที่ 8,113 ราย, กลุ่มประเทศเอเชียและเอเชียใต้รวม 25 ประเทศ อยู่ที่ 84,716 ราย และกลุ่มประเทศแอฟริกาใน 25 ประเทศ อยู่ที่ 380 ราย รวมทั้งสิ้น 114,747 ราย

นอกจากนี้ ยังมีการประมาณการรายได้ที่คนทำงานในต่างประเทศส่งรายได้กลับประเทศผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนกันยายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 151,917 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากวงการจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่านโยบายของกระทรวงแรงงานในการจัดส่งแรงงานนั้น วางเป้าหมายว่าจะผลักดันแรงงานส่งออกไม่ต่่ำกว่า 100,000 ราย แต่เมื่อพิจารณาตามสถิติของกรมจัดหางาน พบว่ามีจำนวนแรงงานที่เข้ามาลงทะเบียนในศูนย์ทะเบียนของกรมจัดหางานเป็นจำนวนมาก

โดยล่าสุดตัวเลขสะสมอยู่ที่ 47,269 รายแล้ว สาเหตุมาจาก 1) ขั้นตอนการขออนุญาตไปทำงานต่างประเทศค่อนข้างใช้เวลา บางรายลงทะเบียนไว้ แต่ไม่ได้รับอนุมัติเกินจากระยะเวลาที่กฎหมายแรงงานระบุไว้ถึง 2 ปี ส่งผลให้แรงงานไทยเสียโอกาสในการหางานทำ และ 2) จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้ขั้นตอนการส่งออกแรงงานเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนการจัดส่งเพิ่มขึ้นด้วย อย่างเช่น การกักตัว 14 วัน ซึ่งเป็นภาระของทั้งนายจ้างและลูกจ้างด้วย

ช่วงผ่านมาแรงงานไทยที่สนใจไปทำงานต่างประเทศจากบริษัทจัดหางานเป็นหลัก แต่เมื่อเกิดปัญหาร้องเรียนว่า “ทิ้งแรงงาน” จึงทำให้มีผู้ประกอบการในต่างประเทศต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดหาแรงงานมาเป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G TO G แทน ในหลายประเทศ

เช่น ประเทศเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อิสราเอล, ฟินแลนด์ สวีเดน ฯลฯ ทั้งที่ก่อนหน้านี้บริษัทจัดหางานของเอกชนเป็นฝ่าย “เปิดตลาด” ในประเทศเหล่านี้ หากภาครัฐกังวลปัญหาแรงงานก็ควรใช้วิธี “จัดสรรโควตา” ให้กับบริษัทจัดหางานเอกชนที่อยู่กว่า 130 บริษัท ที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะทำให้การส่งออกแรงงานดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้

“ประเด็นปัญหาเหล่านี้มีการหารือมาหลายรัฐบาล แต่ยังไม่มีการตอบรับ เท่ากับว่าแรงงานไทยต้องเสียโอกาสในการไปทำงานต่างประเทศที่ได้ค่าตอบแทนสูง ไม่ต่ำกว่า 35,000-50,000 บาท/เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้สถานประกอบการในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่างทยอยปิดกิจการ

ส่งผลให้มีแรงงานตกงานเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น ภาครัฐควรมองตลาดแรงงานส่งออกในช่วงสั้น ๆ คือทำงาน 3-6 เดือนในต่างประเทศแล้วกลับ ซึ่งจะทำให้ผู้ว่างงานมีงานทำ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หลังจากที่โควิด-19 คลี่คลาย 100% แรงงานดังกล่าวจึงสามารถกลับเข้ามาทำงานในประเทศได้”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าช่วงผ่านมาจากขั้นตอนการอนุมัติแรงงานไปต่างประเทศที่ล่าช้า ส่งผลให้นายจ้างเบนเข็มไปหาแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านแทน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานเวียดนาม, เมียนมา และ สปป.ลาว เป็นต้น ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนควรจับมือช่วยกันส่งออกแรงงาน ทั้งเพื่อขยายฐานตลาดใหม่ให้ได้ผล พร้อมกับรักษาตลาดแรงงานเดิมที่มีอยู่ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังคงมีปัญหาที่กระทรวงแรงงานจะต้องตอบคำถามในข้อสงสัยของแรงงาน และบริษัทจัดหางานที่ว่าในการ “เปิดสอบ” แรงงาน มักจะเปิดขายใบสมัครให้กับผู้สนใจเป็นจำนวนมาก อยู่ที่ 700-800 บาทต่อรายนั้น เงินในส่วนนี้นำไปใช้อะไรต่อบ้าง

นอกจากนี้ ต้องการให้มีการตรวจสอบค่าใช้จ่ายสำหรับการกักตัวแรงงานรวม 14 วัน หลังจากทำงานครบตามวงรอบกำหนดนั้น นายจ้างเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดจริงหรือไม่ เนื่องจากมีแรงงานหลายรายร้องเรียนว่าฝ่ายลูกจ้างเองที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวราว 30,000 บาท/ราย ในกรณีที่ไปทำงานแค่ 3 เดือนแล้วกลับ หากแรงงานต้องรับภาระในส่วนนี้ ก็อาจจะ “ไม่คุ้ม” ในการไปทำงานต่างประเทศ

“จริง ๆ ออร์เดอร์จากนายจ้างมีจำนวนมาก และแรงงานไทยค่อนข้างมีชื่อเสียง โดยเฉพาะแรงงานในภาคเกษตรบางรายเชี่ยวชาญทางด้านเก็บผลไม้ป่า และพวกเขาทำงานได้เงินกลับบ้านไม่ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อเดือน หรือแม้แต่แรงงานในเกาหลีใต้ที่มีค่าตอบแทนดีมาก สตาร์ตอยู่ที่ 50,000 ต่อเดือนก็มี ซึ่งหากแรงงานเถื่อนในประเทศต่าง ๆ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนดจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแรงงานไทยด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการจัดส่งแรงงาน โดยกรมการจัดหางานที่จัดส่งเอง ถือเป็นบริการของรัฐโดยไม่เสียค่าบริการ ยกเว้นค่าใช้จ่ายที่มีความจำเป็น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน, ค่าวีซ่า, ค่าภาษี, ค่าสนามบิน, ค่าสมาชิกกองทุน และค่าที่พักสำหรับเตรียมตัวก่อนเดินทาง

ในขณะบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงาน จะต้องมีขั้นตอนเหล่านี้ คือต้องแสดงใบอนุญาตการจดทะเบียนต่อกรมการจัดหางาน, ต้องจดทะเบียนลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานที่ทำงานให้บริษัท โดยไม่ใช้เส้นสาย หรือเป็นนายหน้าเถื่อนในการเรียกเก็บค่าหัวตามกฎหมาย แต่จะต้องออกใบเสร็จรับเงิน โดยให้กับคนหางานเก็บไว้เป็นหลักฐาน แม้แต่การเรียกเก็บเงินล่วงหน้าได้ไม่เกิน 30 วันก่อนเดินทาง


ฉะนั้น หากไม่ส่งคนไปทำงานตามกำหนดจะต้องคืนเงินทันที และจะต้องส่งคนงานไปตรวจโรคในสถานพยาบาลที่กรมการจัดหางานประกาศรายชื่อไว้ ที่สำคัญ ต้องพาคนงานเข้ารับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานก่อนเดินทาง และต้องพาคนหางานเดินทางออกไปทำงานต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานของกรมจัดหางานเสียก่อน