พลังคนสร้างสรรค์โลก ฟื้นฟูลุ่มน้ำบางปะกงด้วย “นาขาวัง”

นับตั้งแต่ปี 2556 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ พร้อมเครือข่าย ดำเนินโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ที่ต้องการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมกับน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า และการพัฒนาคนมาเป็นแนวทางดำเนินงาน

จวบจนวันนี้ โครงการดังกล่าวเดินทางเข้าสู่ปีที่ 8 ด้วยการชูแนวคิดเรื่อง “สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา” ซึ่งผ่านมาของปีนี้มีการนำเสนอองค์ความรู้ และพื้นที่ต้นแบบผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงจัดอบรม และร่วมกันทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ในพื้นที่ จ.ลพบุรี และ จ.ชัยภูมิ

จนมาสู่กิจกรรมเอามื้อสามัคคี ณต.คลองบ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ระดมอาสาสมัครเกือบ 400 คน จากสมาชิกเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, ผู้สมัครร่วมกิจกรรมทางเฟซบุ๊กโครงการตามรอยพ่อฯ และพนักงานของเชฟรอน เพื่อร่วมกันสร้างพื้นที่ต้นแบบ โคก หนอง“นาขาวัง” บนพื้นที่ของ “ชัชวาลเกษมสุข” เกษตรกรเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาของชาวลุ่มน้ำบางปะกงในการจัดการพื้นที่ในระบบนิเวศ 3 น้ำคือ น้ำจืด, น้ำกร่อย และน้ำเค็ม จนสามารถประยุกต์การทำโคก หนอง นา ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ

ดร.วิวัฒน์-ศัลยกำธร
ดร.วิวัฒน์-ศัลยกำธร

เบื้องต้น “ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวถึงความสำคัญในการเลือกพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งอาหารสำคัญของประเทศ ด้วยพื้นที่ 5,351 ตร.กม.หรือประมาณ 3.3 ล้านไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก โดยพื้นที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำบางปะกงเหมาะสำหรับการทำเกษตร เพราะแม่น้ำพัดพาตะกอนมาทับถมเป็นเวลานานก่อนจะไหลลงสู่อ่าวไทยที่อ.บางปะกง

“ฉะนั้น อาชีพของชุมชนส่วนใหญ่จึงเป็นเกษตรกรรมทำไร่ ทำนา และสวนผลไม้ยืนต้น รวมถึงการเลี้ยงกุ้ง, หอย, ปู, ปลา จนกลายเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงลำดับต้น ๆ ของประเทศ แต่วันนี้กลับไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนแต่ก่อนนัก เพราะอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มเข้ามา จนกลายเป็นจังหวัดระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งยังมีการบริหารจัดการระบบนิเวศไม่ดีนัก เพราะมีการใช้สารเคมีปลูกพืชค่อนข้างมาก”

“นับว่าโชคดีที่ฉะเชิงเทรามีภูมิปัญญาที่เรียกว่า นาขาวัง มาตั้งแต่อดีต ซึ่งเหลือชุมชนที่รักษาภูมิปัญญาอยู่เพียงแห่งเดียว คือ ต.คลองบ้านโพธิ์ เป็นการทำนาในระบบนิเวศ 3 น้ำ (น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย) อันเป็นเอกลักษณ์ และภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เรียนรู้กลไกธรรมชาติของน้ำขึ้น น้ำลง โดยทำนาข้าวในฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งจะปล่อยน้ำเค็มให้ไหลเข้ามาในนา ทำให้ตอซังหญ้า ที่อยู่ในนั้นเมื่อผ่านมา 7-15 วันจะถูกย่อยสลายกลายเป็นฮิวมัส แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ทำให้มีสัตว์หน้าเลนขึ้น จนกลายเป็นอาหารของสัตว์วัยอ่อน จนสามารถเลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลา โดยไม่ต้องซื้ออาหารมาเลี้ยง”

“ภูมิปัญญาอันชาญฉลาดนี้คือวิธีการอยู่กับธรรมชาติ ถ้าเอามาปรับใช้วันนี้ พร้อมกับทำให้ระบบนิเวศสะอาด ปลอดสารพิษ ปลูกพืชโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี สุดท้ายจะมีกิน มีใช้ ที่สำคัญคือ ต้องผนึกกำลังคนมาช่วยกัน โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลกมีจุดสำคัญคือ การรวมคนให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ ถ้าถามว่าทำไมไม่เอาเงินลงไปทุ่มให้เกษตรกรทำทีเดียวเลย เชื่อว่าทำได้ แต่ผลสำเร็จจะได้ไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ เพราะว่าตอนนี้เมื่อมองดูปัญหาเกษตรกร 7 ล้านคน”

อย่างไรก็ตาม “ดร.วิวัฒน์” กล่าวอีกว่า เราต้องสื่อให้สังคมเห็นว่า ทางออกศาสตร์พระราชาไม่ใช่แค่วาทกรรม เพราะมีคนทำแล้วสำเร็จจริงฉะนั้น เราต้องส่งเสริม และให้คนที่ทำสำเร็จลุกขึ้นมาพูด

อาทิตย์ กริชพิพรรธ

อันไปสอดคล้องกับความคิดของ “อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่กล่าวถึงโครงการในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาว่า เราทำกิจกรรมหลากหลาย โดยเฉพาะปีนี้เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ช่วงแรกเราจึงเน้นสื่อสารโครงการผ่านรูปแบบออนไลน์ ทั้งการนำเสนอเรื่องราวของศาสตร์พระราชา และพื้นที่ต้นแบบโคก หนอง นา เชื่อว่าการสื่อสารออนไลน์ค่อนข้างได้ผลสำเร็จกับคนที่มีความสนใจ

“เพราะตอนนี้กระแสของคนเมือง และคนต่างจังหวัดที่อยู่ในเมือง อยากกลับบ้านไปทำเกษตรมากขึ้น แต่ยังขาดองค์ความรู้ เช่นเดียวกับ 400 คนที่ร่วมกิจกรรม ส่วนใหญ่คือคนที่ติดตามโครงการผ่านออนไลน์ เราจึงมีการจัดทำสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้คนเข้าใจ และขยายพื้นที่ต้นแบบจนเกิดการแตกตัวทั่วประเทศ”

“ไตรภพ โคตรวงษา” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวเสริมว่า การทำโคก หนอง นาขาวัง เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราอยากจะอนุรักษ์และฟื้นฟู เพราะเป็นภูมิปัญญาของชาวฉะเชิงเทรามานับร้อยปี ซึ่งจะแตกต่างจากการทำกสิกรรมแบบเดิมเล็กน้อย อย่างแรกคือคันนาแบบเดิมจะเป็นคันนาเล็ก ๆไม่มีการปลูกต้นไม้บนคันนา เพื่อป้องกันใบไม้ และเชื้อโรคหล่นลงไปในนาแต่สำหรับแบบใหม่เราเรียกว่า คันนาทองคำ มีการขุดลอกรอบแปลงนาให้ลึก เพื่อเป็น “วัง” ที่อยู่อาศัยของกุ้ง, หอย, ปู, ปลา

7-1นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
นายไตรภพ โคตรวงษา

“ที่สำคัญ ดินที่ขุดได้จะทำเป็นคันนาขนาดใหญ่ ลักษณะเหมือนขา กว้าง 3-5 เมตร เพื่อปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง บนคันนา โดยไม่ใช้สารเคมี สำหรับการออกแบบปรับพื้นที่จากที่นาเดิมให้เป็นต้นแบบโคก หนอง นาขาวัง ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เราปรับพื้นที่ประมาณ 18 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ ทำนาขาวังอินทรีย์ 5 ไร่ ประกอบด้วย การทำขาวังรอบแปลงนา ขุดหนองน้ำ คลองไส้ไก่ ปรับพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ให้เป็นโคก ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และพื้นที่ทำสวนผสมผสาน”

“ชัชวาล เกษมสุข” เจ้าของพื้นที่กล่าวว่า เดิมครอบครัวมีอาชีพทำขนมเปี๊ยะขายอยู่ในเมืองฉะเชิงเทรา แม้จะขายดี แต่ต้องอดหลับอดนอนจึงเห็นว่าเงินไม่ใช่คำตอบ ที่สุดจึงผันตัวมาทำการเกษตร โดยศึกษาเองจากอินเทอร์เน็ตอยู่ 2 ปี ก่อนจะมีโอกาสไปอบรมกับศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน (ศพช.) ชลบุรี กรมการพัฒนาชุมชน จากนั้นจึงเริ่มศึกษาพื้นที่ และลงมือทำในช่วงเดือน พ.ค. 63 พบว่าปัญหาของพื้นที่คือ เป็นดินเลน ดินเปรี้ยว ต้องปรับสภาพดินด้วยการห่มดิน บำรุงดิน ขุดหลุมกว้างผสมดินเพื่อปลูกต้นไม้ โซนหลังเป็นนา ขุดหนองน้ำ 3 หนอง

ชัชวาล เกษมสุข
ชัชวาล เกษมสุข

“โชคดีที่พ่อแม่ผมเห็นด้วย สนับสนุนผมทุกอย่าง ผมจึงตั้งใจสร้างให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างสร้างความมั่นคงทางอาหาร และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้างเพื่อให้เห็นว่าเราสามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ให้เกิดขึ้นได้ และเมื่อพื้นที่ของเรามีน้ำอุดมสมบูรณ์ก็จะสามารถปลูกข้าวได้หลายรอบ”

“ผมตั้งใจว่าจะทำให้พื้นที่นี้สามารถเลี้ยงตัวได้ พออยู่พอกินได้ภายใน 5 ปีที่สำคัญ อยากเป็นตัวอย่างชาวนาในพื้นที่ เพราะปกติจะทำนาแค่ฤดูฝน เมื่อน้ำเค็มมา ทุกคนจะทิ้งนา ปล่อยให้หญ้าขึ้น แล้วค่อยมาเริ่มใหม่ แต่วันนี้ผมอยากจะเป็นตัวอย่างว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากแปลงนาได้ทุกช่วงเวลา”

นับเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่ใช้หลักการบริหารจัดการที่ดีมาใช้จนเกิดประโยชน์สูงสุด