‘ดีลอยท์’ แนะองค์กรใช้มิติด้าน ‘การเมือง’ เป็นโจทย์ปรับตัวสู่ next normal

สุภศักดิ์ กฤษณามระ

ดีลอยท์วิเคราะห์ว่า มิติด้านการเมืองเป็นโจทย์สำคัญที่องค์กรต้องนำมาพิจารณาเพื่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวไปสู่ next normal

วันนี้ (20 ต.ค. 2563) ดีลอยท์ ประเทศไทย บริษัทตรวจสอบบัญชีและให้บริการด้านที่ปรึกษารายใหญ่ แถลงการวิเคราะห์และมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย โดยแนะนำภาคธุรกิจเตรียมเปลี่ยนแปลงสู่ “เน็กซ์นอร์มอล” ด้วยการมองใน 4 มิติ ทั้งด้าน สังคม ธุรกิจ เศรษฐกิจ และการเมือง

นายสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ชัดเจน โดยเมื่อวิเคราะห์ดูจากปัจจัยภายในประเทศพบว่า มีปัจจัยเรื่องความไม่สงบทางการเมือง และการหยุดชะงักของธุรกิจท่องเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไทยเราต้องพึ่งพารายได้ในจุดนี้อยู่มาก

“ถึงแม้มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงรัฐบาลในตอนนี้ ผมมองว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะยังคงเดินต่อไปได้ เพราะไทยเป็นระบบทุนนิยม (capitalism) ซึ่งเป็นระบบที่มีความยืดหยุ่น และประเทศไทยก็เคยมีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงมาหลายครั้ง ดังนั้น ภาคเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวได้”

ส่วนในเรื่องของความเห็นที่แตกต่างด้านการเมืองของพนักงานในองค์กร เป็นดุลพินิจส่วนบุคคลและเป็นสิทธิของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งเราหวังว่าทุกคนในองค์กรจะแสดงออกในกรอบที่เหมาะสม และอยากให้ทุกอย่างแก้ไขด้วยความเข้าใจ ผ่านการพูดคุย เพราะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหา

โดยที่ผ่านมาดีลอยท์ให้ความสำคัญกับเรื่อง diversity & inclusion (D&I) หรือความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่าง ซึ่งความแตกต่างของคนเราครอบคลุมหลายอย่าง เช่น อายุ เพศ และรูปลักษณะภายนอก แต่ยังรวมถึงสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา เช่น ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ความชอบส่วนบุคคล และประสบการณ์ เป็นต้น

ส่วนบทบาทขององค์กรในสถานการณ์เช่นนี้ ต้องคอยมอร์นิเตอร์เรื่องเส้นทางการเดินทาง การปิดถนน และกฎต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมา เพื่อคอยแจ้งให้พนักงานรับรู้ และองค์กรจะต้องวางแผนว่า เราต้องปรับการทำงานกันหรือไม่อย่างไร เช่น อาจให้พนักงานทำที่บ้านเพื่อหลีกเหลี่ยงปัญหาจารจร เป็นต้น